หน้าแรก จดหมายข่าว สวทช. ปีที่ 6 ฉ.5 – นักวิจัยไทยพัฒนา ‘วิธีสกัด RNA – ชุดตรวจโควิด-19’
จดหมายข่าว สวทช. ปีที่ 6 ฉ.5 – นักวิจัยไทยพัฒนา ‘วิธีสกัด RNA – ชุดตรวจโควิด-19’
13 มี.ค. 2563
0
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย

alt

 

นักวิจัยไทยพัฒนา วิธีสกัด RNA – ชุดตรวจโควิด-19″

เรียบเรียง: วัชราภรณ์ สนทนา

ทะลุ 19 ล้านรายแล้ว สำหรับตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ทั่วโลก ซึ่งยังไม่มีท่าทีว่าจะจบลงง่ายๆ ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีน ขณะที่ประเทศไทยแม้ตอนนี้จะยังคงสถิติไม่มีผู้ติดเชื้อภายใน      ประเทศเป็นเวลากว่า 60 วัน ก็ยังไม่สามารถมั่นใจได้ว่า โควิด-19 จะไม่กลับมาระบาดระลอกสองอีก 

สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมาและเตรียมพร้อมรับกับทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเดินหน้าพัฒนาชุดตรวจโควิด-19 ปัจจัยสำคัญในการควบคุมการระบาด เพื่อป้อง กันปัญหาขาดแคลนชุดตรวจและน้ำยาซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ 

ล่าสุด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนา “วิธีสกัดอาร์เอ็นเอ (RNA) ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) จากตัวอย่างแบบง่าย และ ชุดตรวจโรคโควิด-19 ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีในขั้นตอนเดียว” ได้สำเร็จ เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศชาติในการรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อก่อโรคโควิด-19 ในเชิงรุกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ประเทศไทยยังขาดคือความมั่นคงด้านสุขภาพ เนื่องจากที่ผ่านมายังต้องนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ ชุดตรวจ และยา ทำให้เมื่อเกิดวิกฤติการณ์ ดังเช่น การระบาดของโรคโควิด-19 ประเทศต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์บางประเภท ซึ่งส่งผลกระทบต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานเชิงรุกได้อย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 (จนถึงวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา) รัฐบาลจ่ายค่าชดเชยในการตรวจวินิจฉัยโรคโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR เป็นจำนวนกว่า 420,000 ตัวอย่าง คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,261 ล้านบาท ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ขณะเดียวกันในภาวะที่ทั่วโลกต่างต้องตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อจำนวนมาก     สารสกัดสารพันธุกรรมหรืออาร์เอ็นเอเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 มีไม่เพียงพอ จนกลายเป็นปัญหาคอขวดในการคัดกรองโรค ดังนั้นในอนาคตหากมีการระบาดระลอกสอง หรือมีความต้องการตรวจเชิงรุก การที่นักวิจัยไทยสามารถพัฒนาวิธีสกัดอาร์เอ็นเอและชุดตรวจโควิด-19 ที่ได้มาตรฐาน มีความแม่นยำได้เองในประเทศจะช่วยสนับสนุนการคัดกรองโรคโควิด-19 ได้มาก”

ทั้งนี้ การตรวจวินิจฉัยโรคโควิด-19 ด้วยการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส SARS-CoV-2 นั้น จะต้องมีการสกัดสารพันธุกรรม หรือ อาร์เอ็นเอของไวรัสจากสิ่งส่งตรวจของของกลุ่มเสียง ซึ่งที่ผ่านมายังมีข้อจำกัดคือต้องใช้น้ำยาสกัดสารพันธุกรรมที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่จากความร่วมมือของนักวิจัยไทยทำให้สามารถพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพมา “วิธีสกัดอาร์เอ็นเอ” ก่อโรคโควิด-19 ได้สำเร็จ

ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า วิธีสกัดอาร์เอ็นเอของเชื้อไวรัสจากตัวอย่างแบบง่าย พัฒนาขึ้นโดย ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ (National Omics Center : NOC)  สวทช. นำโดย ดร.สิทธิโชค ตั้งภัสสรเรือง ผู้อำนวยการศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ เป็นวิธีการสกัดอาร์เอ็นเอด้วยเทคนิค Magnetic Bead ที่ทำได้ง่าย รวดเร็ว และจากการทดสอบการใช้งานร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีประสิทธิภาพในการสกัดอาร์เอ็นเอเทียบเท่าชุดสกัดที่นำเข้าจากต่างประเทศ ที่สำคัญในการสกัดอาร์เอ็นเอยังใช้สารเคมีและอุปกรณ์ที่หาได้ง่ายภายในประเทศ ทำให้ต้นทุนชุดตรวจราคาไม่แพง ช่วยลดต้นทุนในการตรวจและวินิจฉัยโรคได้มาก อีกทั้งวิธีการนี้ยังนำไปใช้สกัดอาร์เอ็นของไวรัสก่อโรคได้ทุกชนิดทั้งในมนุษย์ พืชและสัตว์ด้วย ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนจำนวน 2 บริษัท สนใจพร้อมรับถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้ว 

เมื่อสกัดอาร์เอ็นเอของไวรัสได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการตรวจยืนยันเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ซึ่ง ไบโอเทค สวทช. นำโดย นางวรรณสิกา เกียรติปฐมชัย หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีว‘ศวกรรมชีวภาพและการตรวจวัด ร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนา ชุดตรวจโรคโควิด-19 ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีในขั้นตอนเดียว (COVID-19 XO-AMP colorimetric detection kit)” เพื่อใช้คัดกรอง คัดแยกเฉพาะตัวอย่างที่น่าสงสัยก่อนนำไปตรวจโดยใช้วิธี RT-PCR ถือเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายของรัฐจากเดิมที่ต้องส่งตรวจทุกตัวอย่างด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งมีราคาแพง 

ดร.วรรณพ กล่าวว่า ชุดตรวจเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีในขั้นตอนเดียว เป็นเครื่องมือที่เหมาะสำหรับการตรวจเชิงรุก เนื่องจากมีความจำเพาะ 100% ความไว 92% และมีความแม่นยำ 97% สามารถแสดงผลได้ภายใน 75 นาที ได้ผลเร็วกว่าวิธี RT-PCR ถึง 2 เท่า สามารถอ่านผลได้ด้วยตาเปล่า ตรวจง่ายในขั้นตอนเดียวโดยไม่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ โดยสังเกตได้จากสีของน้ำยา หากเปลี่ยนจากม่วงเป็นเหลืองแสดงว่ามีอาร์เอ็นเอของไวรัส SARS-CoV-2 อยู่ อุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจมีราคาเพียง 10,000 บาท ถูกกว่าวิธี RT-PCR ถึง 100 เท่า นอกจากนั้นแล้วต้นทุนน้ำยาเทคนิคแลมป์ที่ทีมวิจัยไบโอเทค สวทช. พัฒนาขึ้นราคาต่ำกว่าน้ำยาที่ใช้กับ RT-PCR ถึง 3 เท่า และยังราคาถูกกว่าชุดตรวจแลมป์ที่นำเข้า 1.5 เท่า

อย่างไรก็ดี การพัฒนาชุดตรวจนี้ได้รับความอนุเคราะห์ตัวอย่างสารพันธุกรรมจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อใช้ในการตรวจสอบคุณภาพของชุดตรวจ ปัจจุบันไบโอเทคได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประเมินเทคโนโลยี โดยทาง อย. กำลังพิจารณาเกณฑ์มาตรฐานที่เหมาะสมสำหรับเทคนิคแลมป์ โดยชุดตรวจนี้มีบริษัทเอกชนได้แสดงความสนใจที่จะขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้วเช่นกัน

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะเวชศาสตร์เขตร้อน คือสถาบันทางการแพทย์ที่มีทีมวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการตรวจวินิจฉัย การรักษา และป้องกันโรค ที่มีห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านโรคเขตร้อน ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการเครือข่ายที่ผ่านการทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการ สำหรับการตรวจหาสารพันธุกรรมเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ด้วย สวทช. มีงานวิจัยหลายด้านที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งการตรวจวินิจฉัย และป้องกันโรคได้ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน และ สวทช. จึงได้ทางานร่วมกันอย่างเข้มข้นจนสามารถพัฒนาต่อ ยอดทั้ง 2 งานวิจัยให้เป็นผลิตภัณฑ์ใช้งานได้จริง

การที่ประเทศไทยสามารถพัฒนาและผลิตชุดสกัดอาร์เอ็นเอ และชุดตรวจเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีในขั้นตอนเดียว จะช่วยให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการรับมือต่อการระบาดของโรคอุบัติใหม่ และถือเป็นก้าวสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถวงการวิจัยและสาธารณสุขไทยจากการเป็นผู้นำเข้าเทคโนโลยีสู่การเป็นผู้ผลิตเพื่อใช้เองและส่งออกไปต่างประเทศในอนาคต”

13 มี.ค. 2563
0
แชร์หน้านี้: