หน้าแรก จดหมายข่าว สวทช. ปีที่ 6 ฉ.3 – ‘โรงเรือนอัจฉริยะ’ ความหวังผลิตพืชอาหาร ในโลกยุคหลังโควิด
จดหมายข่าว สวทช. ปีที่ 6 ฉ.3 – ‘โรงเรือนอัจฉริยะ’ ความหวังผลิตพืชอาหาร ในโลกยุคหลังโควิด
17 มิ.ย. 2563
0
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย

alt

 

“โรงเรือนอัจฉริยะ”

ความหวังผลิตพืชอาหาร ในโลกยุคหลังโควิด

เรียบเรียง: อาทิตย์ ลมูลปลั่ง

หนึ่งในบทเรียนและภาพสะท้อนที่เห็นได้ชัดจากวิกฤตการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม คือ “การสร้างความมั่นคงทางอาหารด้วยการเกษตร” โลกในยุคหลังโควิด มนุษย์จะปรับตัวเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) และหันมาใส่ใจการผลิตอาหารมากขึ้น ซึ่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคือตัวช่วยสำคัญที่จะช่วยพัฒนาการทำเกษตรให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน 

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ได้พัฒนา ‘โรงเรือนอัจฉริยะ’ นวัตกรรมโรงเรือนปลูกพืชที่สามารถควบคุมระบบการปลูกพืชผ่านสมาร์ทโฟน ช่วยให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และเกษตรกรทำงานได้สะดวกมากขึ้น พร้อมทั้งร่วมกับ บริษัท นาวิต้าฟู้ดส์ จำกัด ทดสอบการปลูกพืชในระบบโรงเรือนอัจฉริยะ โดยมีเป้าหมายทดสอบการปลูกเมลอนให้มีขนาดผลและความหวานได้คุณภาพและตรงตามมาตรฐานของท้องตลาด เพื่อนำไปสู่การขยายผลความรู้แบบครบวงจรให้แก่เกษตรกรหรือผู้ประกอบการ 

วิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. ในฐานะผู้อำนวยการ สท. อธิบายว่า สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร มีบทบาทหน้าที่ในการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้อย่างกว้างขวางและทั่วถึง โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน ให้เกิดการปฏิรูปภาคเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ และนำไปสู่การทำเกษตรแบบยั่งยืน ในครั้งนี้ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีโรงเรือนอัจฉริยะ 

“โรงเรือนอัจฉริยะที่พัฒนาขึ้นเป็นโรงเรือนแบบน็อกดาวน์โครงสร้าง SMART Greenhouse Knockdown สามารถขึ้นโครงและติดตั้งได้ในทุกพื้นที่ มีขนาดความกว้าง 6 เมตร ยาว 20 เมตร สูง 5.6 เมตร ออกแบบหลังคา 2 ชั้นพร้อมพัดลมระบายอากาศ และประตูกันแมลง 2 ชั้น ช่วยลดปัญหาแมลงเล็ดลอดเข้าไปในแปลงปลูก การทำงานของโรงเรือนอัจฉริยะได้นำระบบเทคโนโลยี IoT (Internet of Thing) ทีมีเซนเซอร์ต่างๆ มาช่วยควบคุมสภาพแวดล้อมซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเพาะปลูก ได้แก่ เซนเซอร์วัดความเข้มแสง ควบคุมการทำงานของม่านพรางแสง เซนเซอร์วัดความชื้นดิน ควบคุมการทำงานของระบบน้ำหยด เซนเซอร์วัดความชื้นอากาศ ควบคุมการทำงานของระบบพ่นหมอก และเซนเซอร์วัดอุณหภูมิ ควบคุม การทำงานของพัดลมใต้หลังคา โดยเซนเซอร์ทั้งหมดสามารถแสดงผล แจ้งเตือน และควบคุมการทำงานผ่าน Smart phone และ Web base ด้วยเทคโนโลยีเพื่อทดสอบและพัฒนาแนวทางที่เหมาะสมในการเพาะปลูกผลผลิตทางการเกษตร บริษัท นาวิต้าฟู้ดส์ฯ ได้สนับสนุนเมล็ดพันธุ์เมลอนสายพันธุ์ดีเกรดพรีเมียมสำหรับทดลองปลูกในโรงเรือนอัจฉริยะ พร้อมทั้งให้ความรู้ในการผลิต เพื่อร่วมค้นหาปัจจัยที่เหมาะสมในการเติบโตของเมลอน

นายสุวิทย์ ไตรโชค ผู้ก่อตั้ง บริษัท นาวิต้าฟู้ดส์ จำกัด กล่าวว่า การคัดเลือกสายพันธุ์เมลอนที่ดีมาปลูก เป็นเรื่องที่นาวิต้าฟู้ดส์ให้ความสำคัญมาก ตั้งแต่การทดลองจนมั่นใจว่าเป็นสายพันธุ์ที่ปลูกได้ในเมืองไทย และ ได้ผลที่อร่อยตามความต้องการของผู้บริโภค บางสายพันธุ์ต้องใช้เวลาทดลองและคัดเลือกมากกว่า 5 ปี เป็นสายพันธุ์ที่เป็นเอกลักษณ์และมีเสน่ห์เฉพาะตัว ทั้งนี้จากการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่องทำให้นาวิต้าฟู้ดส์ มีผลผลิต ที่มีคุณภาพดีสม่ำเสมอ ปลอดภัยต่อทั้งผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม การันตีด้วยใจผู้ปลูกและใบรับรอง (Certificate) จาก Central Lab และกรมวิชาการเกษตร 

สายพันธุ์เมลอนที่นำมาทดลองปลูกในโรงเรือนอัจฉริยะมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ได้แก่ 1. เพิร์ลเมลอนเนื้อเขียว (Green Pearl Melon) : เนื้อสัมผัสนุ่มฉ่ำ มีกลิ่นหอมสไตล์มินิมอล หอมเย็นๆ ทานแล้วสดชื่น รสชาติลงตัว 2. โกลเด้นดราก้อน (Golden Dragon Melon) เนื้อส้ม หวานกรอบ 3. กาเลียเมลอนญี่ปุ่น (Japanese Galia Melon) เนื้อสีขาว   มีกลิ่นหอมเข้มข้นเฉพาะตัว และ 4. เพิร์ลเมลอนเนื้อส้ม (Orange Pearl Melon) เนื้อสัมผัสนุ่มฉ่ำ มีกลิ่นหอมสไตล์ญี่ปุ่นแท้ๆ หอมหวานเข้ากัน ซึ่งในการทดลองปลูกจะมีการเก็บบันทึกข้อมูลนำไปสู่การเรียนรู้และปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง”

สำหรับผลการทดลองเพาะปลูกเมลอนทั้ง 4 สายพันธุ์ในโรงเรือนอัจฉริยะ นายเฉลิมชัย เอี่ยมสอาด นักวิชาการ ฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี สวทช. กล่าวว่า ประสบความสำเร็จเป็นอย่าง ดี ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพของผลผลิตเมลอนได้มาตรฐานทั้งขนาดของผลและรสชาติหวานเป็นไปตามความต้องการของตลาด โดยข้อดีอันเป็นจุดเด่นของการเพาะปลูกในโรงเรือนอัจฉริยะ คือ สะดวกในการดูแล สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเพาะปลูก รวมถึงลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหายจากแมลงและฝน “ในโรงเรือนนี้จะสามารถควบคุมการรดน้ำให้ปุ๋ยให้ตรงตามความต้องการของพืชได้ เรื่องแสงเราก็สามารถปรับม่าน และสามารถพ่นสเปรย์หมอกเพื่อควบคุมความชื้นได้ด้วย ซึ่งในรอบการปลูกรอบแรกค้นพบวิธีการลดอุณหภูมิประมาณ 5 องศา เพื่อไม่ให้พืชป่วยได้ รอบการปลูกถัดไปเราจะได้ค่าที่เหมาะสมมากขึ้น ซึ่งกำลังหาสูตรที่เหมาะสมในรอบการปลูกถัดไป 

โดยองค์ความรู้ที่ได้จากการทดลองนี้จะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรในการนี้ไปยกระดับการเพาะปลูกของตน เพื่อให้มีผลประกอบการที่สูงขึ้น ลดความเสี่ยงในการทำการเกษตร นำไปสู่ความยั่งยืน ซึ่ง สท. – สวทช. พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกพืชในระบบโรงเรือนอัจฉริยะ ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการที่สนใจ โดยสอบถามและดูงานได้ที่อุยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

อย่างไรก็ดีผลผลิตเมลอนเกรดพรีเมียมจากโรงเรือนอัจฉริยะ ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. ได้เก็บเกี่ยวและส่งมอบแก่บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาล         ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โดยมี ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นตัวแทนรับมอบ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงานต่อสู้กับวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา

17 มิ.ย. 2563
0
แชร์หน้านี้: