หน้าแรก นาโนเทค สวทช. ตอบโจทย์ BCG ส่ง ‘นวัตกรรมปุ๋ยคีเลต’ ลงสวนทุเรียน จังหวัดระยอง
นาโนเทค สวทช. ตอบโจทย์ BCG ส่ง ‘นวัตกรรมปุ๋ยคีเลต’ ลงสวนทุเรียน จังหวัดระยอง
7 เม.ย. 2564
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) นำโดย ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการนาโนเทค พร้อมด้วย ดร.คมสันต์ สุทธิสินทอง นักวิจัยเจ้าของงานวิจัย “สารคีเลตจุลธาตุอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มการดูดซึมเข้าสู่พืช” พร้อมนายวัชรินทร์ อินทร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทค ซายน์ จำกัด เอกชนผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยี พาคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ ณ สวนแพสุขชื่น จังหวัดระยอง เพื่อดูผลการใช้ “ปุ๋ยคีเลต” ผลิตภัณฑ์ที่รับถ่ายทอดเทคโนโลยีในทุเรียน พืชเศรษฐกิจสำคัญของระยอง ตอบนโยบาย BCG ด้านเกษตรและอาหาร

ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวว่า นาโนเทคมีพันธกิจหลักในการดำเนินการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีสู่ความเป็นเลิศ ซึ่งเราได้ให้ความสำคัญในการสร้างการรับรู้และเผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีศักยภาพไปสู่กลุ่มเป้าหมายต่างๆ เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และสังคม สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา จะเป็นการขยับต่อยอดสู่นวัตกรรมที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ของประเทศสู่ความยั่งยืน ใน 3 ด้านที่นาโนเทคเกี่ยวข้อง ได้แก่ เกษตรและอาหาร การแพทย์และสุขภาพ วัสดุและพลังงาน

“โมเดลเศรษฐกิจใหม่อย่าง BCG จะช่วยต่อยอดจุดแข็งของประเทศให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยอาศัยกลไกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพิ่มมูลค่าผลผลิตต่างๆ ช่วยให้เกษตรกร ‘ทำน้อยแต่ได้มาก’ เป็นการใช้ วทน. เพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิต โดยใช้ปริมาณปุ๋ยน้อย ใช้ต้นทุนที่ถูกลง ทำให้ได้ผลผลิตที่มากขึ้น ดังเช่นงานวิจัยสารคีเลตจุลธาตุอาหาร ที่มีภาคเอกชนรับถ่ายทอดเทคโนโลยี และต่อยอดสู่ปุ๋ยคีเลตที่ส่งตรงถึงผู้ใช้ และตอบความต้องการของเกษตรกร โดยเฉพาะในพืชเศรษฐกิจอย่างทุเรียน” ดร.วรรณีกล่าว

ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยคีเลต เป็นการต่อยอดงานวิจัย “สารคีเลตจุลธาตุอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มการดูดซึมเข้าสู่พืช” ซึ่ง ดร.คมสันต์ สุทธิสินทอง ทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตและเวชสำอาง กลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน นาโนเทค สวทช. เจ้าของผลงานอธิบายว่า เกษตรกรจำเป็นต้องเติมจุลธาตุอาหารให้พืชมีความสมบูรณ์ แต่มักมีปัญหาการสูญเสียและไม่ค่อยได้ประสิทธิภาพ เนื่องจากธาตุอาหารกลุ่มนี้จะตกตะกอนได้ง่าย ทำให้พืชไม่สามารถดูดซึมไปใช้ได้อย่างเต็มที่ ทีมวิจัยจึงพัฒนา “สารคีเลตจุลธาตุอาหาร” ที่เตรียมจากกรดอะมิโนซึ่งเป็นหน่วยย่อยขององค์ประกอบประเภทโปรตีนของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ผ่านกระบวนการห่อหุ้มจุลธาตุอาหารในรูปแบบสารเชิงซ้อน ให้อยู่ในรูปที่ละลายน้ำได้ดี พร้อมพัฒนาให้สามารถห่อหุ้มจุลธาตุอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มความสามารถในการยึดเกาะใบด้วยโมเลกุลขนาดใหญ่สลายตัวได้ตามธรรมชาติ จึงสามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรต่อไร่ได้ 20% ลดการใช้ปุ๋ยลง 50%

“ปุ๋ยคีเลตจุลธาตุอาหารพืชที่พัฒนาโดยทีมวิจัยนาโนเทคซึ่งมีองค์ประกอบเป็นสารอินทรีย์นี้ เหมาะสำหรับพืชไร้ดินและพืชทั่วไป (ฉีดพ่นทางใบ) ช่วยแก้ปัญหาการตกตะกอน และการสูญเสียธาตุอาหารเสริมทางดิน โดยเมื่อฉีดพ่นสารคีเลตซึ่งมีคุณสมบัติช่วยพาธาตุอาหารเข้าสู่พืชได้ง่ายขึ้นแล้ว พืชจะสามารถนำธาตุอาหารไปใช้ประโยชน์ได้เร็วขึ้น เพิ่มอัตราการเจริญเติบโตของพืช, เพิ่มการดูดซึมธาตุอาหารทางปากใบ, เพิ่มกรดอะมิโนให้แก่พืช นอกจากนี้ ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดอันตรายจากการใช้สารสังเคราะห์ และลดค่าใช้จ่ายของปุ๋ยเคมีที่เกินความจำเป็น” ดร.คมสันต์กล่าว

นายวัชรินทร์ อินทร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทค ซายน์ จำกัด เอกชนที่รับถ่ายทอดเทคโนโลยีภายใต้แบรนด์ “นาโนส” กล่าวว่า เนื่องจากในท้องตลาดมีผลิตภัณฑ์ปุ๋ยรอง-เสริม ประเภทเหลวอยู่มากมาย แต่ไม่ได้มีความแตกต่างหรือมีจุดเด่นที่จะทำให้บริษัทฯ สามารถนำไปทำตลาดได้ บริษัทฯ จึงต้องการสินค้าที่มีจุดเด่นหรือมีนวัตกรรม และต้องไม่เหมือนใคร ซึ่งผลิตภัณฑ์ปุ๋ยคีเลตจุลธาตุอาหารตอบโจทย์ในด้านนวัตกรรมใหม่ ซึ่งใช้เทคโนโลยีการห่อหุ้มระดับโมเลกุล รวมถึงความปลอดภัยมากขึ้นต่อตัวผู้ใช้ และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากองค์ประกอบที่เลือกใช้มีจากธรรมชาติ มีกรดอะมิโนที่จะเสริมความแข็งแรงให้กับพืช และใช้ในปริมาณที่น้อยกว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ พร้อมทั้งสามารถผลิตให้มีหลากหลายของสูตร ทำให้ทำการตลาดและเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น

“กลุ่มเป้าหมายสำคัญคือ เกษตรกรทั้งรุ่นใหม่ หรือรุ่นเดิมในประเทศไทย และประเทศกลุ่ม CLMV ที่ต้องการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน บริษัทฯ เน้นสวนผลไม้เศรษฐกิจในภาคตะวันออก ภาคใต้และภาคเหนือ ได้แก่ ทุเรียน และส้ม เพื่อทำการตลาดให้แบรนด์มีความแข็งแรง จากนั้นจึงขยายตลาดไปสู่พืชประเภทอื่นๆ” นายวัชรินทร์กล่าว พร้อมชี้ว่า การตอบรับดีมาก เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ มีความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด รวมถึงบริษัทมีฐานลูกค้าอยู่แล้ว การนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ไปนำเสนอจึงทำได้โดยง่าย ที่สำคัญคือ มุ่งเน้นการตลาดผสานกับการให้ความรู้กับเกษตรกรเจ้าของสวนอีกด้วย

แม้จะอยู่ในช่วงโควิด-19 กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทค ซายน์ จำกัด เผยว่า ยอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปี 2564 หลังจากพ้นช่วงโควิด-19 ไปแล้ว คาดว่า ยอดขายน่าจะโตได้ถึง 5 ล้านบาทต่อปี สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ และตั้งเป้าเพิ่มขึ้นเป็น 8-10 ล้านบาทในปี 2565 จากการขยายตลาดไปสู่พืชกลุ่มข้าว ลำไย และมันสำปะหลัง ซึ่งล้วนแต่เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ รวมถึงการเปิดตลาดประเทศในกลุ่ม CLMV ได้ ก็จะทำให้ยอดขายโตได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งอนาคต บริษัทฯ อาจจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีปุ๋ยธาตุหลัก ร่วมกับปุ๋ยคีเลตจุลธาตุอาหาร เพื่อให้เกิดความสะดวกในการใช้งานของเกษตรกรมากขึ้น

นายสมศักดิ์ แพสุขชื่น เจ้าของสวนทุเรียน “แพสุขชื่น” เกษตรกรผู้ใช้นวัตกรรมปุ๋ยคีเลต กล่าวว่า ตนเองมีสวนทุเรียนกระจายอยู่ใน 3 พื้นที่ ซึ่งหนึ่งในนั้น มีปัญหาน้ำกร่อย ทำให้ต้นทุเรียนไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร แม้จะลองใช้ปุ๋ย ธาตุอาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมทุกอย่างที่มี ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ จนกระทั่งเจอผลิตภัณฑ์ปุ๋ยคีเลตนี้ ก็ตัดสินใจลอง
“จากการทดลองใช้ เราเห็นความแตกต่างได้ในระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งต้นทุเรียนมีการเติบโตที่ดีขึ้น ใบสีเขียวสด เป็นพุ่มสวย จึงเริ่มขยายมาสู่สวนอีก 2 แห่ง ที่กำลังจะเริ่มติดลูก โดยทั้ง 2 แห่งนี้ ไม่ได้มีปัญหาใด แต่เมื่อใช้ปุ๋ยคีเลตเป็นจุลธาตุอาหารเพียงอย่างเดียว ก็พบว่า ทุเรียนให้ผลผลิตที่มากขึ้น ผลมีขนาดใหญ่ ทำให้เราสามารถทำตลาดระดับสูงหรือตลาดส่งออกได้ ที่สำคัญ ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านปุ๋ยและอาหารเสริมได้ราว 30%” เจ้าของสวนแพสุขชื่นกล่าว

แชร์หน้านี้: