หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ การจัดการความรู้ (KM) KM ในประเทศไทย: อดีต ปัจจุบัน และอนาคต
KM ในประเทศไทย: อดีต ปัจจุบัน และอนาคต
1 มิ.ย. 2561
0
การจัดการความรู้ (KM)

ภาพรวมอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของการจัดการความรู้ (Knowledge Management หรือ KM) ในประเทศไทย


โดย ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด กรรมการมูลนิธิสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ในงานสัมมนาเรื่อง Knowledge Management (KM): Past, Present and Future เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม 2561 เวลา 09.30 – 10.30 น. ณ ห้องออดิทอเรียม (CO-113) อาคารสำนักงานกลาง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี

KM เกิดขึ้นในประเทศไทยมาแล้วกว่า 20 ปี โดยปี พ.ศ. 2545 คือปีที่เริ่มปรากฎคำว่า KM ชัดเจน (แม้ยังไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ผลักดัน KM ในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมในขณะนั้น) โดย KM ในประเทศไทยสามารถแบ่งเป็น 3 ยุค ดังนี้

KM ยุคที่ 1 (ราว พ.ศ. 2545-2550)

KM ในยุคนี้ เน้นการจัดการเนื้อหา (Content) และความรู้แบบชัดแจ้ง (Explicit knowledge) หรือ ความรู้ในกระดาษและสื่อต่างๆ โดยความรู้ต้องถูกจัดการ เข้าถึง และเผยแพร่ได้ง่าย โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology หรือ IT) เข้ามาช่วย เช่น ระบบการจัดการเนื้อหา (Content Management System หรือ CMS) และ ระบบการจัดการเอกสาร (Document Management System หรือ DMS) นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดเรื่องการจัดตั้งศูนย์ความรู้ (Knowledge center) ขึ้น เพื่อทำหน้าที่หลักในการบริหารจัดการความรู้

ปี พ.ศ. 2547 KM ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในประเทศไทย เพราะ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่กระตุ้นเรื่องการบริหารจัดการภาครัฐ ได้สร้างตัวชี้วัดเกี่ยวกับการเรียนรู้ และ KM ขึ้น เพื่อทำให้หน่วยงานภาครัฐเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ทำให้หน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานลุกขึ้นมาทำ KM เกิด “KM for KM” หรือ การทำ KM เพื่อ KM ขึ้น

KM ยุคที่ 2 (ราว พ.ศ. 2550-2555)

เนื่องจากความรู้ส่วนใหญ่อยู่ในตัวบุคคล (Tacit knowledge) และการดึงความรู้ออกมาจากตัวบุคคลไม่ใช่เรื่องง่ายที่สามารถทำได้ด้วย IT อย่าง KM ในยุคที่ 1 ดังนั้น จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ในการทำ KM  คือ การให้ความสำคัญเรื่องการจะทำอย่างไรเพื่อให้คนมาเชื่อมโยงกัน (Connection) และ มีการปฏิสัมพันธ์กัน (Interaction) เพื่อแบ่งปันความรู้ ตลอดจนมีการเปิดใจที่จะแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

ในยุคนี้มีการเสนอ KM โมเดลขึ้นในประเทศไทย เรียกว่า ปลาทูโมเดล คิดขึ้นโดย ดร.ประพนธ์ ผาสุกยืด ซึ่งชื่อเดิม คือ TUNA model มากจาก Thai-UNAids Model ปลาทูโมเดลเป็นแนวทางเบื้องต้นในการจัดการความรู้ โดยในการดำเนินการจัดการความรู้เปรียบการจัดการความรู้เหมือนกับปลาทูหนึ่งตัวที่มี 3 ส่วนคือ 1.) หัวปลา หมายถึง Knowledge Vision (KV) คือ เป้าหมายหลักของการดำเนินการ KM สะท้อน วิสัยทัศน์ความรู้ หรือหัวใจของความรู้ เพื่อการบรรลุวิสัยทัศน์ขององค์กร โดยก่อนที่จะทำ KM ต้องตอบให้ได้ว่า จะทำ KM ไปเพื่ออะไร 2.) ตัวปลา หมายถึง Knowledge Asset (KA) คือ ขุมความรู้ ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และ 3.) ท้องปลา หมายถึง Knowledge Sharing (KS) คือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างบุคคล ยุคนี้เกิดคำศัพท์ใหม่ๆ เช่น ชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practices หรือ CoPs) และ Knowledge café หรือ ที่ที่ให้คนมาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กัน โดยมี หางปลา หมายถึง Information Technology (IT) คือ เทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นเครื่องมือเสริมเพื่อช่วยในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเผยแพร่ความรู้ ดังนั้น KM ในยุคนี้ไม่ใช่แค่ทำ KM เพื่อ KM แต่เป็นการทำ KM เพื่อนำความรู้ไปตอบวิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์กร ปลาทูโมเดลนี้สอดคล้องกับ The Fifth Discipline: The Art and Practice of the Learning Organization โดย Peter Senge

KM ยุคที่ 3 (ราว พ.ศ. 2555-2560)

ยุคนี้ให้ความสำคัญกับความรู้ที่นำไปใช้แล้วประสบผลสำเร็จ (Best practices) มากกว่าความรู้แบบชัดแจ้งและความรู้ในตัวบุคคล ยุคนี้ยังเน้นความร่วมมือกัน (Collaboration) เพื่อนำเอาความรู้ไปใช้ประโยชน์ (Knowledge utilization) เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ (Outcome)

วงจร KM ในยุคนี้ เริ่มจากการแบ่งปัน Best practices โดยคนรับและนำ Best practices นั้นไปปรับใช้ด้วยใจที่เปิดรับ เมื่อนำเอา Best practices ไปใช้ภายใต้การพิจารณาถึงบริบทของแต่กลุ่มจะทำเกิดผลลัพธ์ เช่น ช่วยในการแก้ไขปัญหา ทำให้ผลิตผลสูงขึ้น และพัฒนางาน โดยความรู้ใดที่ใช้ได้ก็จะถูกจัดเก็บ และ/หรือ ถูกนำไปต่อยอด แล้วถูกวนกับไปแบ่งปัน เป็นวงจรที่วนซ้ำไปเรื่อยๆ มีการเคลื่อนไหลตลอดเวลา (Dynamic) KM ในยุคนี้เป็น KM เพื่อผลลัพธ์  (KM for Results) คือผลิตผลลัพธ์ (Outcome)

ตัวอย่างเครื่องมือ KM ในยุคนี้ เช่น 1.) Storytelling หรือ การเล่าเรื่องที่สำเร็จหรือเรื่องที่เป็นบทเรียน ความท้าทายของ Storytelling คือ การทำอย่างไรให้คนกล้าเล่าเรื่องอย่างเปิดใจ ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ คือ วัฒนธรรมขององค์กรที่ต้องเอื้อให้คนกล้าเราเรื่องต่างๆ อย่างเปิดใจ โดยไม่มีการกล่าวโทษหรือตำหนิ และ 2.) After Action Review (AAR) คือ การทบทวนหลังการปฏิบัติงาน ว่าอะไรที่ได้รับมอบหมาย อะไรที่สำเร็จตามเป้าหมาย อะไรที่ไม่สำเร็จตามเป้าหมาย เพราะอะไร เพื่อศึกษาปัจจัยความสำเร็จและความล้มเหลว นำไปสู่การเรียนรู้ การพัฒนา และปรับปรุงงานต่อไป ทั้งนี้การจะเลือกใช้เครื่องมือ KM ตัวใด จะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมระหว่างเครื่องมือและบริบทของกลุ่ม/องค์กรที่จะนำเครื่องมือไปประยุกต์ใช้

KM ในยุคปัจจุบัน (ราว พ.ศ. 2560- )

บันไดที่สำคัญของ KM คือ 1.) วัฒนธรรมที่เหมาะสม โดยเฉพาะวัฒนธรรมของความร่วมมือกัน (Collaborative culture) ภายในองค์กรที่ต้องอาศัยผู้นำแบบเสริมพลังในการขับเคลื่อน 2.) การสร้างความรู้ใหม่ (Knowledge creation) ที่ก่อให้เกิด3.) นวัตกรรม (Innovation) และ 4.) เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อ KM เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) เทคโนโลยีสื่อสารที่มีความเร็วและคุณภาพสูงมาก (New Communications Technology) เทคโนโลยีอุปกรณ์เคลื่อนที่เพื่อการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบทุกที่ทุกเวลา (Mobile/ Wearable Computing) เทคโนโลยีการประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Computing) เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) และเทคโนโลยีการเชื่อมต่อของสรรพสิ่ง (Internet of Things) เป็นต้น

แชร์หน้านี้: