หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ นานาสาระน่ารู้ วารสารข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากกรุงบรัสเซลส์ ฉบับที่ 7 เดือน กรกฎาคม 2564
วารสารข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากกรุงบรัสเซลส์ ฉบับที่ 7 เดือน กรกฎาคม 2564
30 พ.ย. 2564
0
นานาสาระน่ารู้

วารสารข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากกรุงบรัสเซลส์ ฉบับที่ 7 เดือน กรกฎาคม 2564

สหภาพยุโรปกำหนดเป้าหมายใหม่ภายใต้ชุดร่างกฎหมาย “Fit for 55” เพื่อการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี ค.ศ. 2030

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 คณะกรรมาธิการยุโรป ได้นำเสนอชุดร่างกฎหมาย “Fit for 55” ต่อรัฐสภายุโรป เพื่อพิจารณาใช้ในการกำหนดนโยบายด้านสภาพอากาศ พลังงาน การใช้ที่ดิน การขนส่ง และนโยบายด้านภาษี ให้บรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 55 ภายในปี ค.ศ. 2030 และ บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 ตามนโยบาย European Green Deal ภายใต้ชุดร่างกฎหมาย “Fit for 55” สรุปได้ ดังนี้

เป้าหมายและข้อกำหนดภายใต้ชุดร่างกฎหมาย “Fit for 55”

ด้านการขนส่ง

  • เป้าหมาย/ ข้อกำหนดโดยรวมของภาคการขนส่ง
    • ลดการปล่อยมลพิษ/ ก๊าซเรือนกระจกในภาคการขนส่งทั้งทางบก ทะเล และอากาศให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 13 ภายในปี ค.ศ. 2030
    • กำหนดสัดส่วนของการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพขั้นสูง (advanced biofuel) เป็นอย่างน้อยร้อยละ 2 จากพลังงานทั้งหมดที่ใช้ในภาคการขนส่ง ภายในปี ค.ศ. 2030
    • กำหนดสัดส่วนของการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพไฮโดรเจนเป็นอย่างน้อยร้อยละ 6 จากพลังงานทั้งหมดที่ใช้ในภาคการขนส่ง ภายในปี ค.ศ. 2030
  • เป้าหมาย/ ข้อกำหนดของภาคการขนส่งโดยรถยนต์
    • ลดระดับการปล่อยมลพิษ/ ก๊าซเรือนกระจกโดยเฉลี่ยของรถยนต์ใหม่ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 55 ภายในปี ค.ศ. 2030
    • ลดระดับการปล่อยมลพิษ/ ก๊าญเรือนกระจกโดยเฉลี่ยของรถตู้อย่างน้อยร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2030
    • ลดระดับการปล่อยมลพิษ/ ก๊าซเรือนกระจกโดยเฉลี่ยของรถยนต์ใหม่ร้อยละ 100 ภายในปี ค.ศ. 2035
    • ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2035 รถยนต์ที่ผลิตขึ้นใหม่ในสหภาพยุโรปจะมีการปล่อยมลพิษ/ ก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
  • เป้าหมาย/ ข้อกำหนดของภาคการขนส่งทางอากาศ
    • ผู้จัดหารเชื้อเพลิงสำหรับภาคการขนส่งทางอากาศจะต้องผสมเชื้อเพลิงที่มีความยั่งยืน เช่น เชื้อเพลิงสังเคราะห์คาร์บอนต่ำ ในอัตราส่วนที่สูงขึ้น
    • ภายใต้กฎระเบียบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Emissions Trading System, ETS) ในสาขาการบิน สหภาพยุโรปมีแนวโน้มที่จะลดการให้โควต้าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปอย่างต่อเนื่อง และมีแผนจะหยุดให้โควตาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ฟรีในสาขาการบินในช่วงสิ้นปี ค.ศ. 2026
  • เป้าหมาย/ ข้อกำหนดของภาคการขนส่งทางทะเล
  • มีแผนกำหนดระดับสูงสุดของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานของเรือขนส่ง เช่น รูปแบบของการกำหนดโควต้าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สำหรับภาคการขนส่งทางทะเลภายใต้กฎระเบียบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ETS) เพื่อส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงที่ยั่งยืน และเทคโนโลยีไร้ก๊าซเรือนกระจกในภาคการขนส่งทางทะเล
  • เรือขนส่งสินค้าที่มีขนาดใหญ่กว่า 5,000 ตันที่ต้องการเข้าจอดเทียบท่าเรือในสหภาพยุโรปจำเป็นต้องซื้อใบอนุญาตด้านมลพิษภายใต้ระบบการปล่อยไอเสีย

ด้านระบบพลังงาน

  • เป้าหมาย/ ข้อกำหนดด้านการเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน
    • กำหนดสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนเป็นร้อยละ 40 ของพลังงานทั้งหมดที่ผลิตได้ในยุโรป (ภายในปี ค.ศ. 2030)
      • ภาคอุตสาหกรรม : เพิ่มสัดส่วนของการใช้พลังงานหมุนเวียนในภาคอุตสาหกรรมทุกปี ณ อัตราร้อยละ 1 ต่อปี
    • เป้าหมายของการใช้พลังงานไฮโดรเจน
      • ช่วงปี ค.ศ. 2020 ถึง ค.ศ. 2025 สหภาพยุโรปจะสนับสนุนการติดตั้งระบบการผลิตไฮโดรเจนแบบหมุนเวียนโดยใช้กระบวนการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า (renewable hydrogen electrolysers) ให้ได้อย่างน้อย 6 กิกะวัตต์ในยุโรปโดยต้องผลิตไฮโดรเจนหมุนเวียนให้ได้ถึง 1 ล้านตัน
      • ช่วงปี ค.ศ. 2025 ถึง ค.ศ. 2030 สหภาพยุโรปมีเป้าหมายให้พลังงานไฮโดรเจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบพลังงานแบบรวมอย่างน้อย 40 กิกะวัตต์
    • เป้าหมายของการใช้พลังงานชีวภาพ (bioenergy)
      • หลักเกณฑ์ด้านความยั่งยืนของการใช้พลังงานชีวภาพในสหภาพยุโรปมีความเคร่งครัดมากขึ้น เช่น
      • ห้ามให้มีการใช้ชีวมวลประเภทไม้จากป่าปฐมภูมิ (primary forest) พื้นที่ดินพรุ (peatland) และพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) ในการผลิตพลังงานชีวภาพ
      • ห้ามใช้แรงจูงใจทางการเงินเพื่อส่งเสริมการใช้ชีวมวลประเภทไม้ เช่น ท่อนซุง ตอไม้ และรากไม้ เพื่อผลิตเป็นพลังงาน
      • การใช้ประโยชน์จากชีวมวลประเภทไม้ต้องยึดหลักการที่เรียกว่า “biomass cascading principle” เลือกใช้ชีวมวลเพื่อให้เกิดประโยชน์และมูลค่าเพิ่มสูงสุดด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
    • เป้าหมาย/ ข้อกำหนดด้านการลดการใช้พลังงาน
      • ลดปริมาณการใช้พลังงานขั้นต้น (primary energy consumption) เป็นพลังงานที่ใช้ในการผลิตและจัดหาพลังงานชนิดต่าง ๆ ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 39 ภายในปี ค.ศ. 2030
      • ลดปริมาณการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย (final energy consumption) ที่ใช้โดยผู้บริโภค ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 36 ภายในปี ค.ศ. 2030
      • แต่ละประเทศสมาชิกฯ จะต้องลดปริมาณการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายทุกปี ณ อัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2024 ถึง ค.ศ. 2030

ด้านสิ่งปลูกสร้าง อาคาร และบ้านเรือน

  • เป้าหมาย/ ข้อกำหนดด้านการเพิ่มสัดส่วนของการใช้พลังงานหมุนเวียน
    • อาคาร/บ้านเรือน : กำหนดสัดส่วนของการใช้พลังงานหมุนเวียนต่อพลังงานทั้งหมดที่ใช้ในอาคาร/ บ้านเรือน เป็นร้อยละ 49 ภายในปี ค.ศ. 2030
    • ระบบทำความร้อนและความเย็น : เพิ่มสัดส่วนของการใช้พลังงานหมุนเวียนในระบบทำความร้อนและความเย็นทุกปี และสัดส่วนโดยรวมจะต้องอยู่ที่อย่างน้อยร้อยละ 1 ภายในปี ค.ศ. 2030
    • ระบบทำความร้อนและความเย็นจากศูนย์กลางเพื่อชุมชน (district heating and cooling) : เพิ่มสัดส่วนจากศูนย์กลางที่จะกระจายไปยังชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่ (district heating and cooling) อัตราร้อยละ 1 ต่อปี และสั่ดส่วนโดยรวมอย่างน้อยร้อยละ 1.4 ภายในปี ค.ศ. 2030
  • เป้าหมาย/ ข้อกำหนดด้านการใช้พลังงานในกิจการของภาครัฐ
    • กิจการของภาครัฐทั้งหมด เช่น การศึกษา การบริการสุขภาพ การประปา การบำบัดน้ำ และไฟบนท้องถนน จะต้องลดการใช้พลังงาน ณ อัตราร้อยละ 7 ต่อไป
    • ในทุก ๆ ปี ประเทศสมาชิกจะต้องมีการปรับปรุงอาคารของภาครัฐในสัดส่วนอย่างต่ำร้อยละ 3 ของพื้นที่ทั้งหมด เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพทางพลังงานอาคาร

ด้านการใช้ที่ดินและพื้นที่ป่า และการเกษตร

  • กำหนดเป้าหมายการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Sink ให้ได้อย่างต่ำ 310 ล้านตันภายในปี ค.ศ. 2030
  • การใช้ที่ดิน การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ป่าไม้ และเกษตรกรรมจะต้องไม่มีการปล่อยก๋าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ มีคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2035
  • กำหนดแผนปลูกต้นไม้จำนวน 3,000 ล้านต้นทั่วยุโรปภายในปี คศ.2030

รายงานผลลัพธ์และศักยภาพด้านนวัตกรรมของสหภาพยุโรป ประจำปี ค.ศ. 2021 (European Innovation Scoreboard 2021)

การจัดลำดับ 4 กลุ่มประเทศนวัตกรรม

ในการจัดลำดับ คณะกรรมาธิการยุโรปแบ่งหมวดหมู่ เป็น 4 หมวด ได้แก่

  1. ผู้นำนวัตกรรม (innovation leaders) ได้แก่ สวีเดน ฟินแลนด์ เดนมาร์ก และเบลเยียม
  2. ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมระดับสูง (Strong innovators) ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ลักเซมเบิร์ก ออสเตรีย เอสโตเนีย ฝรั่งเศส และไอร์แลนด์
  3. ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมระดับกลาง (moderate innovators) ได้แก่ อิตาลี ไซปรัส มอลตา สโลวีเนีย สเปน เช็กเกีย ลิทัวเนีย โปรตุเกส และกรีซ
  4. ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมพอประมาณ (modest innovators) ได้แก่ โคเอเชีย ฮังการี ลัตเวีย โปแลนด์ สโลวะเกีย บัลกาเรีย และโรมาเนีย

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.thaiscience.eu/uploads/journal_20210819091021-pdf.pdf

 

แชร์หน้านี้: