แนวนโยบายในการดำเนินงานตามพันธกิจ
นโยบายในการดำเนินงาน

นโยบายในการดำเนินงานแต่ละพันธกิจของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประกอบด้วย นโยบายด้านงานสนับสนุน นโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นโยบายด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี นโยบายด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และนโยบายด้านการวิจัยและพัฒนา

 

นโยบายด้านงานสนับสนุน

1. งานด้านบริการสนับสนุน เป็นฟันเฟืองที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนให้พันธกิจสำคัญของ สวทช. ดังกล่าวข้างต้น ลุล่วงไปได้อย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิผล การพัฒนาระบบบริการสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นเรื่องจำเป็นต่อการดำเนินงานของ สวทช.

2. บุคลากร เป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญที่สุดขององค์กร ทรัพยากรบุคคลต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ ทั้งด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพและพัฒนาศักยภาพเพื่อเข้าครองตำแหน่ง โดยให้สอดคล้องกับสมรรถนะ (competency) ที่องค์กรต้องมี ในการที่จะปฏิบัติงานตามพันธกิจเพื่อมุ่งบรรลุวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้

3. แผนกลยุทธ์และแผนงานเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการกำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์กรในขณะเดียวกัน ก็ดำเนินการจัดสรรทรัพยากรของ สวทช. ในกิจกรรมต่างๆ ให้เหมาะสม เพื่อดำเนินงานตามพันธกิจ และสนองตอบ ต่อผู้มีส่วนได้เสียสำคัญ (stakeholders) ของ สวทช.

4. ระบบสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพมีความจำเป็นในการจัดเก็บ ประมวลผล ข้อมูลการดำเนินการต่างๆ เพื่อความรวดเร็ว ในการติดตาม ประเมินผล และวัดผลการปฏิบัติงาน รวมถึงเป็นข้อมูลสารสนเทศสำหรับพิจารณาในการปรับแผนตามสถานการณ์ได้อย่างทันเวลา

5. สวทช. กำลังอยู่ในกระบวนการปรับเปลี่ยนที่สำคัญ ความสำเร็จของการปรับเปลี่ยนขึ้นอยู่กับแผนกลยุทธ์ที่ถูกต้องเหมาะสม และความเข้าใจ ยอมรับ และเชื่อมั่นในแผนกลยุทธ์นั้นของบุคลากรทั่วทั้งองค์กร การสื่อสารจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับบุคลากร เพื่อให้บุคลากรของ สวทช. เข้าใจและเข้าร่วมในกระบวนการปรับเปลี่ยนนี้  ในขณะเดียวกันการสื่อสารยังมีความสำคัญในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อผู้มีส่วนได้เสียและสาธารณชนทั่วไปอีกด้วย

6. ระบบงานในสำนักงาน ตั้งแต่กระบวนการจัดซื้อ จัดหา และ จัดจ้าง ไปจนถึงกระบวนการทางการเงิน มีผลกระทบที่สำคัญต่อประสิทธิภาพของกิจกรรมต่างๆ ในพันธกิจข้างต้น การปรับปรุง คุณภาพด้านบริการจึงมีความจำเป็น

7. การสร้างงานบริการสนับสนุนร่วมกันระหว่างศูนย์แห่งชาติต่างๆ จะช่วยในการลดงานที่ซ้ำซ้อน ขณะเดียวกันก็ต้องสามารถพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพบริการให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้

นโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

1. มุ่งให้เกิดมาตรฐานในการให้บริการ การประเมินราคางาน การรับงาน และระยะเวลาในการให้บริการ

2. มุ่งให้ห้องปฏิบัติการที่ให้บริการทุกห้องได้รับการรับรองมาตรฐานสากล ทั้งด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม

3. กำหนดแนวปฏิบัติให้ยกเลิกการให้บริการแข่งขันกับภาคเอกชน และพยายามส่งเสริมให้ภาคเอกชนให้บริการในงานที่มีลักษณะประจำและภาระงานสูง

4. มุ่งเชื่อมโยงการให้บริการกับการวิจัยและพัฒนา ทั้งภายในและภายนอกโดยกำหนดลำดับความสำคัญให้ชัดเจน  และคงไว้ซึ่งการบริการที่ต้องใช้เทคโนโลยีและการวิเคราะห์ขั้นสูงเท่านั้น

5. มุ่งให้มีการประชาสัมพันธ์การให้บริการอย่างเป็นระบบ

6. กำหนดนโยบายและบรรทัดฐานให้ชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายในการให้บริการ และนโยบายในการยกเลิกบริการ (entry and exit policy) เพื่อใช้ประเมินการเริ่มหรือยุติการดำเนินงานโครงการต่างๆ

 

นโยบายด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี

1. มุ่งให้เกิดกลไกและความเชื่อมโยงอย่างชัดเจน ระหว่างการวิจัยและพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นกิจกรรมปฎิสัมพันธ์ที่จะนำเทคโนโลยีที่พัฒนาไปสู่ผู้ใช้ประโยชน์ ในทางกลับกัน สวทช. ต้องมีกลไกที่จะรับ “โจทย์” การวิจัยและพัฒนาจากภาคเอกชนในเวลาเดียวกัน

2. มุ่งให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเป็นขั้นตอน “planned TT” โดยตั้งต้นจากการหาโจทย์ในภาคอุตสาหกรรมก่อนด้วยกลไกคลัสเตอร์ และการจัดตั้ง consortium ตลอดจนการสร้างฐานข้อมูลรวมผู้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี

3. สร้างแรงจูงใจในรูปผลตอบแทนพิเศษ หรือ คะแนนประเมินผล เพื่อดึงดูดนักวิจัยและบุคลากรสนับสนุนเพื่อเข้าร่วมและเห็นความสำคัญของกิจกรรมส่วนนี้

4. มุ่งเพิ่มจำนวนลูกค้าในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยยกระดับคุณภาพการถ่ายทอดอย่างต่อเนื่อง

5. มุ่งให้สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี (Technology Licensing Office : TLO) มีความเข้มแข็ง สามารถให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพทั้งภายในและภายนอกองค์กร

 

นโยบายด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

1. เน้นการดำเนินงานที่มีผลสนับสนุน RDDE โดยตรง เช่น โครงการ TGIST และทุนปริญญาโท-เอก ที่มีการทำวิจัยร่วมกับนักวิจัย สวทช. เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากการมีส่วนร่วมในงานวิจัย นอกจากนี้ สวทช. ก็ได้รับประโยชน์จากกำลังคนที่เพิ่มขึ้นในการทำวิจัย

2. งานที่ได้รับมอบหมาย เช่น งานค่ายวิทยาศาสตร์ ให้ดำเนินการต่อไปและรวมงานในลักษณะเดียวกันของศูนย์ไว้ด้วยกัน แต่วางแผนแยกตัวเป็นหน่วยงานอิสระในอนาคต

3. งานที่สามารถหารายได้เลี้ยงตัวเองและใช้ทรัพยากรของ สวทช. (เช่น การฝึกอบรมทั่วไป) ให้ลดหรือเลิก หรือให้หน่วยงานภายนอก (ซึ่ง สวทช. อาจจัดตั้งขึ้น) หรือหน่วยงานกลางดำเนินการ

4. งานในพันธกิจพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่แม้มีประโยชน์ แต่เกี่ยวข้องกับ RDDE น้อย ให้ลดปริมาณลง เพื่อยกเลิกในอนาคต

5. เป็นงานที่สอดคล้องกับโปรแกรมวิจัยและพัฒนาของ สวทช. หรือก่อให้เกิดการสร้างพันธมิตร เพื่อนำไปสู่การวิจัยและพัฒนา

6. กำหนดนโยบายและบรรทัดฐานให้ชัดเจน เกี่ยวกับนโยบายในการให้บริการ และนโยบายในการยกเลิกบริการ (entry and exit policy) เพื่อใช้ประเมิน เริ่ม หรือเลิกโครงการต่างๆ

 

นโยบายด้านการวิจัยและพัฒนา

งานวิจัยและพัฒนามีเป้าหมายสูงสุด คือ การนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม แต่เนื่องจากสภาพปัญหาตลอดจนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ดังนั้น กิจกรรมวิจัยและพัฒนา ของ สวทช. จึงต้องให้ความสำคัญต่อความทันเหตุการณ์และความยั่งยืน โดยมีประเด็นนโยบายด้านวิจัยและพัฒนาที่สำคัญ  อันได้แก่

1. นโยบายการให้ความสำคัญก่อนหลังและเน้นความสำคัญ (prioritization and focus) งานวิจัยและพัฒนาเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ทรัพยากร ทั้งด้านบุคลากร การเงิน และเวลาอย่างสูง  ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงในการล้มเหลว หรือไม่ทันเวลา และไม่ทันเหตุการณ์  ดังนั้น นโยบายสำคัญประการหนี่งของการดำเนินกิจกรรมด้านนี้ คือ ต้องมีการกำหนดความสำคัญก่อนหลังของโปรแกรมต่างๆ โดยพิจารณาทั้งในแง่ศักยภาพที่จะส่งมอบงาน ศักยภาพด้านผลกระทบ เป็นต้น  โดยอาจจะต้องชะลอหรือยุติบางโปรแกรม เพื่อระดมทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ไปเร่งรัดงานวิจัยและพัฒนาให้สามารถส่งมอบผลงานได้ตามข้อผูกพัน

2. นโยบายเน้นให้ความสำคัญต่อผู้ใช้ประโยชน์ (customer-focus policy) งานวิจัยและพัฒนาเป็นกิจกรรมที่ต้องลงทุนด้วยทรัพยากรสาธารณะ ทั้งในด้านทรัพยากรมนุษย์ การเงิน และ เวลา ดังนั้น ในการดำเนินงานของโปรแกรมวิจัยและพัฒนา จำเป็นต้องมีกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ที่ชัดเจนในภาคเศรษฐกิจ สังคม และสาธารณะ เพื่อสร้างหลักประกันให้ผลผลิตจากการดำเนินงานเหล่านี้ สามารถทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและชัดเจนกับกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ โดยมีคุณภาพและเวลาที่ส่งมอบที่เหมาะสม ทั้งนี้ต้องจัดให้กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ดังกล่าวมีส่วนร่วมในงานวิจัยและพัฒนา ตั้งแต่ระยะแรกๆ ของการดำเนินงาน

3. นโยบายการถ่ายทอดเทคโนโลยี การบูรณาการกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการวิจัยและพัฒนา โดยจัดให้ผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและพัฒนา (ลูกค้า) มีส่วนร่วมในขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่ต้น เช่น กำหนดโจทย์ กำหนดเป้าหมาย  รวมถึงการรับทราบความก้าวหน้าอย่างสม่ำเสมอ โดยมุ่งให้ลูกค้ามีความผูกพัน (commitment) และมีส่วนได้ส่วนเสียระดับหนึ่งตั้งแต่เริ่มดำเนินการ ทั้งนี้ด้วยความคาดหวังว่าเมื่องานวิจัยและพัฒนาบรรลุเป้าหมายจะมีลูกค้าซึ่งมีส่วนร่วมแต่ต้น นำผลงานเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์หรือเชิงสังคมได้ทันที และสร้างผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจและสังคมที่สาธารณะสามารถมองเห็นหรือรับรู้ได้ชัดเจนขึ้น

4. นโยบายการสร้างฐานเทคโนโลยี ประเทศไทยยังมีความจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งด้านเทคโนโลยีที่เป็นฐานการพัฒนาในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเป็น derivative or secondary technology ซึ่งอาจจะเป็น enabling หรือ primary technology ที่สำคัญอย่างแท้จริง และเป็นการสร้างทรัพย์สินทางปัญญาให้กับประเทศและอุตสาหกรรมในระยะยาว พร้อมทั้งมีกลไกการถ่ายทอดที่มีประสิทธิภาพ และมีสัดส่วนการดำเนินการอย่างเป็นนัยสำคัญในการวิจัยและพัฒนาของ สวทช.  และควรมุ่งเน้นเทคโนโลยีที่จะต้องใช้ในระยะกลางหรือระยะยาวตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป

5. นโยบายการส่งมอบงาน  สวทช. จะมุ่งเน้นการส่งมอบผลงานระยะสั้นและระยะกลางมากขึ้น  เนื่องจากความต้องการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้สามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการแข่งขันในตลาดโลกได้ ดังนั้น โปรแกรมการวิจัยต่างๆ จึงต้องพิจารณาให้มีผลงานส่งมอบในระยะสั้น (ผลงานที่ส่งมอบภายใน 1 ปี) ประสานกับผลงานในระยะกลาง (ไม่เกิน 3 ปี) อย่างสมดุล กับทั้งเพื่อให้สามารถสร้างผลงานนำหน้าปัญหาและความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์อยู่เสมอ