สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี
Technology Licensing Office
ชุดตรวจโรคกุ้งตายด่วน (EMS) ด้วยเทคนิค LAMP Nano gold
 
ดาวน์โหลดเอกสาร
นักวิจัย
นางวรรณสิกา เกียรติปฐมชัย และคณะ
หน่วยงาน
ทีมวิจัยเทคโนโลยีวิศวกรรมชีวภาพและการตรวจวัด
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC)
รูปแบบความร่วมมือที่เสนอ
เสาะหาผู้รับอนุญาตใช้สิทธิ
สถานภาพสิทธิบัตร
คำขออนุสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 1603000321 เรื่อง กรรมวิธีการตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย V.parahaemolyticus ก่อโรคตับตายเฉียบพลันในกุ้ง ยื่นคำขอวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559
สถานะงานวิจัย
ได้ต้นแบบระดับ pilot scale
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา
จากการศึกษาวิจัยเพื่อหาสาเหตุของอาการตับตายเฉียบพลัน Acute Hepatopancreatic Necrosis Syndrome (AHPNS) สาเหตุหนึ่งของโรคกุ้งตายด่วน หรือ EMS ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้ชัดเจน แต่ลักษณะที่สำคัญอย่างหนึ่งคือกุ้งจะมีลักษณะอาการตับตายเฉียบพลัน จากผลการวิจัยจากกว่า 10 ห้องปฏิบัติทั่วโลกได้ผลที่สอดคล้องกัน คือตัวอย่างกุ้งที่ป่วยพบแบคทีเรียกลุ่มวิบริโอ จำนวนมาก โดยเฉพาะ Vibrio parahaemolyticus ดังนั้นการควบคุมปริมาณเชื้อวิบริโอในทุกช่วงอายุของกุ้ง จะช่วยให้กุ้งรอดจากอาการตับตายเฉียบพลันหรืออาการตายด่วนได้ อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะมีรายงานการพัฒนาเทคนิคทางอณูชีววิทยาในการตรวจแบคทีเรียวิบริโออยู่บ้างแล้วก็ตาม แต่ยังขาดชุดตรวจสำเร็จรูปที่มีขั้นตอนการตรวจที่ง่าย ไว และราคาถูก ชุดตรวจนี้เป็นชุดตรวจที่สามารถนำไปใช้ในพื้นที่เพาะเลี้ยง เช่นฟาร์มขนาดเล็ก หรือโรงเพาะฟัก ผู้ประกอบการหรือเกษตรกรสามารถทำการตรวจวิเคราะห์โรคเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง
สรุปเทคโนโลยี
โรคตายด่วนนี้มีหลายสาเหตุ สาเหตุหนึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มวิบริโอพาราฮีโมไลติคัสสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดอาการตับตายเฉียบพลัน Amp-Gold เป็นชุดตรวจเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์นี้โดยใช้เทคนิคแลมป์ร่วมกับการตัวตรวจจับ DNA ที่ติดฉลากด้วยอนุภาคทองคำนาโน กล่าวคือถ้ามีการติดเชื้อจะให้สีแดงซึ่งเป็นสีของอนุภาคทองคำนาโน แต่ถ้าไม่พบการติดเชื้อจะเห็นเป็นสีม่วงเทาและเมื่อปล่อยทิ้งไว้อนุภาคทองคำนาโนจะตกตะกอนลงมาที่ก้นหลอดทำให้สารละลายใส Amp-Gold สามารถจับจำเพาะต่อ toxin gene ของแบคทีเรียวิบริโอพาราฮีโมไลติคัส โดยทำปฏิกิริยาแลมป์ที่อุณหภูมิ 65 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 45 นาที แล้วนำผลผลิตแลมป์มาเติมลงในตัวตรวจจับ DNA ที่ติดฉลากด้วยอนุภาคทองคำนาโน แล้วบ่มที่อุณหภูมิเดิมอีก 5 นาที ต่อจากนั้นเติมเกลือแม็กนีเซียมซัลเฟต แล้วอ่านผลการทดสอบ เทคนิคนี้ใช้เวลารวมทั้งหมดประมาณ 1 ชั่วโมง โดยมีความไวในการตรวจที่ 100 CFU ซึ่งไวกว่าเทคนิคพีซีอาร์ที่ใช้อยู่ 100 เท่า และมีความไวเทียบเท่ากับเทคนิค nested PCR อีกทั้งไม่ให้ผลบวกเมื่อทดสอบกับดีเอ็นเอของแบคทีเรียชนิดอื่นๆที่พบได้ทั่วไปตามบ่อเลี้ยงกุ้ง เทคนิคที่พัฒนาขึ้นนี้เป็นเทคนิคที่ใช้เวลาในการตรวจสั้น ใช้ง่ายและราคาถูก ไม่ต้องใช้เครื่อง PCR หรือเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่มีราคาแพง สามารถนำไปใช้ได้ในโรงเพาะเลี้ยงขนาดเล็กหรือฟาร์มขนาดเล็ก สามารถใช้ตรวจได้กับกุ้งทุกระยะการเลี้ยงเพื่อช่วยลดการระบาดของโรคชนิดนี้
สนใจสอบถามข้อมูล
รัชวรรณ ฐานัตถวงศ์เจริญ
สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี สวทช.
โทรศัพท์: 0-2564-7000 ต่อ 1357
E-mail: ratchawan.tan@nstda.or.th