กลางปี 2562 สมาชิกกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านร่องคำ ต.ป่าสังข์ อ.จตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด กว่า 30 คน ซึ่งปลูกข้าวหอมมะลิ 105 ได้เข้าร่วมอบรม “การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี” ที่สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) จัดขึ้น นอกจากได้เรียนรู้การทำแปลงเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ตั้งแต่กระบวนการเตรียมแปลง การเก็บเกี่ยว และการผลิตเพื่อจำหน่ายอย่างถูกต้องตาม พรบ. เมล็ดพันธุ์ข้าว แล้ว ในวันนั้นพวกเขายังได้รู้จักพันธุ์ข้าวเหนียวสายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อว่า “ธัญสิริน”

“เขาบอกว่าต้นแข็งแรง ไม่ล้ม ให้ผลผลิตเยอะ ต้านทานโรคด้วย สนใจที่ต้นไม่ล้มนี่ล่ะ” สุพัฒน์ ศิลศร ประธานกลุ่มฯ ย้อนความถึงจุดเด่นของสายพันธุ์ข้าวนี้ที่ดึงดูดความสนใจให้เขาและสมาชิก

ข้าวหอมมะลิ 105 เป็นพันธุ์ข้าวขึ้นชื่อในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เกษตรกรนิยมปลูกเพื่อจำหน่าย แต่สำหรับการบริโภคนั้น “ข้าวเหนียว” เป็นอาหารหลักของคนแถบนี้ ซึ่งข้าวเหนียว กข6 เป็นสายพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรนิยมปลูก แต่มักประสบปัญหาต้นล้ม ส่งผลต่อผลผลิตและการเก็บเกี่ยว “พันธุ์ข้าวเหนียวธัญสิริน” จึงเป็นทางเลือกใหม่ที่เกษตรกรให้ความสนใจ

อุษณี ชนิดไทย หนึ่งในอาสาสมัครของกลุ่มฯ ที่รับเมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวธัญสิรินมาทดลองปลูก บอกว่า ไม่ลองก็ไม่รู้ ลองแล้วจะได้รู้ จะได้มั่นใจ ถ้าดีจะได้ทำต่อไป

เมล็ดพันธุ์ข้าวธัญสิริน จำนวน 100 กิโลกรัม ถูกแบ่งให้อาสาสมัคร 9 คนของกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านร่องคำ นำไปปลูกเพื่อเก็บเป็นเมล็ดพันธุ์ แต่ละคนได้รับไปมากบ้างน้อยบ้างตามความต้องการและขนาดพื้นที่ปลูก  ซึ่งเมื่อเก็บเกี่ยวได้ผลผลิตแล้ว อาสาสมัครเหล่านี้จะต้องนำเมล็ดพันธุ์ข้าวกลับมาคืนหนึ่งเท่าจากจำนวนที่รับไป เพื่อเป็นคลังเมล็ดพันธุ์ของกลุ่มฯ

หลังจากที่ได้เมล็ดพันธุ์แล้ว สมาชิกอาสาสมัครทั้ง 9 คน ต่างนำไปปลูกด้วยเครื่องหยอดเมล็ด ใช้เมล็ด 8-10 กก./ไร่ แต่สำหรับ คำมวญ สีสุใบ เมื่อได้เมล็ดพันธุ์ 8 กิโลกรัม เธอเลือกทดสอบปลูกในพื้นที่ 1 ไร่ แบ่งเป็นปลูกด้วยเครื่องหยอดเมล็ดและปักดำกล้าอย่างละครึ่งไร่ ด้วยเหตุผลที่ว่า “ทำเปรียบเทียบเพราะอยากรู้ว่าจะได้ผลต่างกันมั้ย อยากรู้ก็ต้องทดลองเอง จะได้พูดกับคนอื่นได้”

จากการทดลองของ คำมวญ พบว่า การปลูกแบบปักดำ ข้าวแตกกอได้เยอะ รวงใหญ่ ลำต้นใหญ่ ไม่ล้ม และเธอมองว่า หากจะขยายพันธุ์ต่อ ควรใช้วิธีปักดำ

ด้วยประสบการณ์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวทั้งพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พันธุ์ข้าว กข15 และพันธุ์ข้าวเหนียว กข6 ส่ง จำหน่ายให้ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวร้อยเอ็ดในนาม “กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านร่องคำ” มาเกือบ 15 ปี เสริมกับการเข้าอบรมเปิดรับความรู้อย่างต่อเนื่อง ทำให้สมาชิกแต่ละคนเชี่ยวชาญและรู้หลักการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวอย่างดี การปลูกเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวธัญสิรินจึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับพวกเขา ซึ่ง คำมวญ บอกว่า ต้องรู้จักลักษณะพันธุ์ก่อน เพื่อจะได้ตัดพันธุ์ปนได้ หลักการคัดพันธุ์ปนคือ ร้อยละ 80 ของแปลง ต้นต้องเหมือนกัน ที่เหลือถ้าแตกต่างเป็นพันธุ์ปน ซึ่งพันธุ์ธัญสิรินต้นแข็งแรง รวงข้าวตั้ง ใบตั้ง

อุษณี เล่าว่า ปลูกข้าวเก็บเป็นเมล็ดพันธุ์ละเอียดอ่อนกว่าปลูกกิน ต้องตัดพันธุ์ปนตั้งแต่ระยะกล้า แตกกอ ออกรวง มีข้าวปลอมปนก็ต้องถอนทิ้ง ไปนาทุกวันลงแปลงเกือบทุกวัน  

“เราเป็นชาวนาจริงๆ ทำจริงๆ ด้วยมือ” เธอย้ำพร้อมรอยยิ้ม ขณะที่ คำมวญ เสริมว่า “การทำเมล็ดพันธุ์เป็นงานละเอียดอ่อนจริง ถ้าขี้เกียจ ทำไม่ได้หรอก”

แม้การผลิตเมล็ดพันธุ์เป็นงานที่ต้องอาศัยประสบการณ์และความใส่ใจ แต่เมื่อแลกกับราคาขายที่สูงกว่า และมีตลาดรับซื้อแน่นอน ทำให้สมาชิกเลือกที่จะเดินบนเส้นทางนี้

หลังจากทดลองปลูกพันธุ์ข้าวธัญสิรินของเหล่าอาสาสมัคร สุพัฒน์ บอกว่า ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 700 กก./ไร่ ซึ่งพวกเขาพอใจกับผลผลิตที่ได้และจะขยายให้สมาชิกคนอื่น พร้อมกับแบ่งพื้นที่ปลูกกับพันธุ์ข้าวเหนียว กข6

“กข 6 จุดอ่อนคือ ต้นล้ม ไม่ต้านทานโรค ธัญสิรินต้นไม่ล้ม ต้นสูงเสมอ ไม่เจอปัญหาเรื่องโรค เมล็ดธัญสิรินอ้วนกลมหน่อยๆ จับเมล็ดถี่ หนึ่งรวงมี 348 เมล็ด แตกกอได้ 8-28 ต้น และเมื่อเอาไปนึ่งกิน ปล่อยให้เย็น ก็ยังนุ่ม”

ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดจากแปลงปลูกข้าวเหนียว กข6 ที่ต้นล้ม กับแปลงข้าวเหนียวธัญสิรินที่ตั้งรวงงาม ไม่เพียงอาสาสมัครมือปลูกจะชื่นชอบ เกษตรกรรายอื่นที่ผ่านมาเห็นต่างสนใจและต้องการได้เมล็ดพันธุ์ ซึ่งกลุ่มฯ วางแผนที่จะจำหน่ายให้ผู้ที่สนใจ เป็นทางเลือกสำหรับปลูกบริโภคในครัวเรือนต่อไป

# # #

“ธัญสิริน” เป็นชื่อพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พันธุ์ข้าวนี้พัฒนาโดยหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนาข้าวกรมการข้าว และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา โดยพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเหนียวต้านทานโรคไหม้ ใช้เครื่องหมายโมเลกุลคัดเลือกร่วมกับการปรับปรุงพันธุ์แบบวิธีมาตรฐาน จนได้ข้าวเหนียวที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับพันธุ์ กข6 แต่มีความต้านทานโรคไหม้ ให้ผลผลิต 500-800 กก./ไร่ (ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ปลูก)

กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านร่องคำ
ต.ป่าสังข์ อ.จตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด


“ข้าวเหนียวธัญสิริน” ต้านทานโรคไหม้ หอมนุ่มนาน อีกทางเลือกของผู้ปลูกผู้บริโภค