“เลี้ยงปูนาปีแรกเหมือนคนบ้า อยู่คอกปูทั้งวัน ส่องไฟฉายดูพฤติกรรมปูตลอด จะไปไหนก็ห่วงก็คิดถึง” ประชา เสนาะศัพท์ และปรีชา ยินดี คู่หูผู้เลี้ยงปูนา เล่าถึงความผูกพันที่เกิดขึ้นกับสัตว์ตัวน้อยนี้ ในวันที่พวกเขาเริ่มต้น “เลี้ยงปูนา” เพื่อหวังอนุรักษ์

ประชา หนุ่มสุรินทร์มาเป็นเขยเมืองบัว อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด มาเกือบ 20 ปี เขาเล่าว่า แต่ก่อนที่นี่ปูนาเยอะมาก แต่ช่วง 10 ปีหลัง ปูหายหมดเพราะยาฆ่าปู เพื่อไม่ให้ปูกัดต้นข้าว ถึงแม้ว่าจะไม่มีปูแล้ว แต่ชาวบ้านยังหว่านยา เพื่อความมั่นใจ

เมื่อสัตว์ที่เป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศการทำนาข้าว ถูกจัดให้เป็น “ศัตรูพืช” ของนาข้าว และวิถีการทำนาที่ใช้สารเคมี จำนวนปูนาจึงลดน้อยลงเรื่อยๆ ไม่เพียงวงจรในระบบนิเวศจะแหว่งวิ่น หากยังสะเทือนถึงวิถีการดำเนินชีวิตผู้คนไม่น้อยที่มี “ปูนา” เป็นวัตถุดิบในมื้ออาหาร จนถึงต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจากการวิจัยและศึกษาเรื่องปูนามากว่า 15 ปีของ ผศ.ดร.นิภาศักดิ์ คงงาม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ พบว่า ปูนามีคุณค่าและประโยชน์ที่มากมายหลากหลายมิติทั้งด้านระบบนิเวศ เศรษฐกิจ การแพทย์ การเกษตร รวมถึงวัฒนธรรม

“ปูนาช่วยปรับความสมดุลในระบบนิเวศ โดยกินซากอินทรีย์สารในดิน ตัวอ่อนของแมลง เกิดการหมุนเวียนของธาตุอาหารในนาข้าว ส่งผลให้ข้าวเจริญเติบโตได้ดีขึ้น และปูยังเป็นทั้งอาหารและยา ในปูมีสารสำคัญ คือ ไคตินไคโตซานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์หลากหลาย เช่น ยับยั้งจุลินทรีย์ ดูดซับสารอินทรีย์ รักษาบาดแผล ฯลฯ”

จากวิถีคนทำเกษตรนาข้าวที่มี “ปูนา” เป็นส่วนหนึ่งในแปลงนาและในเมนูอาหารที่อยู่ในวิถีวัฒนธรรมการกิน ประชาและปรีชา เห็นตรงกันที่ควรอนุรักษ์สัตว์ตัวเล็กนี้ เพื่อเป็นแหล่งอาหารและรายได้ของชาวบ้าน ทั้งสองไม่รีรอที่จะเข้าอบรมการเลี้ยงปูนาที่จัดโดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) เมื่อปี 2560 โดยมีผู้เชี่ยวชาญอย่างอาจารย์นิภาศักดิ์เป็นวิทยากรนำความรู้ที่ได้จากการทำวิจัยและประสบการณ์ที่คลุกคลีกับปูมาถ่ายทอด

“อยากอนุรักษ์ให้มีปูในบ้านเรา เป็นเรื่องท้าทายที่จะเลี้ยงปูนะ เพราะในพื้นที่บ้านเราไม่มีใครเลี้ยง ได้ฟังจากอาจารย์ก็จุดไฟให้พวกผม ก็คิดว่าเลี้ยงไม่ยาก มั่นใจว่าเลี้ยงได้” ประชา บอกถึงความตั้งใจที่จะเลี้ยงปูนาอย่างจริงจัง เขาเริ่มจากจับปูที่พอมีอยู่ในท้องนามาเลี้ยง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เขาจึงหาข้อมูลเพิ่มเติมจากสื่อยูทูป ขณะเดียวกันได้รวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อเลี้ยงปูนา โดยของบประมาณจากโครงการ 9101 ของภาครัฐ และสั่งซื้อพันธุ์ปูจากฟาร์มปูชื่อดัง 500 คู่ แจกจ่ายให้สมาชิก

“ตอนได้ปูมาก็เอะใจล่ะ ทำไมใส่กะละมังส่งมา แต่เห็นเขาประสบความสำเร็จจากการเลี้ยงปูนา ก็เชื่อเขา ทำตามทุกอย่าง เอามาเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ เหลือรอดกันคนละไม่กี่ตัว ปูที่รอดก็ดูแลกันแบบไม่ได้หลับได้นอน” ประชา เล่าถึงการเลี้ยงปูที่เขาและปรีชาช่วยกันประคบประหงม อาศัยข้อมูลการเลี้ยงที่ได้มาประยุกต์วิธีเลี้ยงจนสามารถขายพ่อแม่พันธุ์ได้ถึง 500 คู่ ในราคาคู่ละ 100 บาท

ขณะที่ประชาและสมาชิกขะมักเขม้นกับการเลี้ยงปูนาในวิธีของตัวเอง อาจารย์นิภาศักดิ์และทีมวิจัยได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลการเลี้ยงปูนาของพวกเขา ตั้งแต่สายพันธุ์ปูที่ได้มา วิธีการเลี้ยง แหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ซึ่งแม้พวกเขาได้พ่อแม่พันธุ์ปูส่งจำหน่าย แต่การเลี้ยงปูนาให้ยั่งยืนจำเป็นต้องมีหลักวิชาการ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการ นำมาสู่การจัดตั้ง “สถานีปูนาเมืองบัว” ในปี 2562 เพื่อเป็นจุดเรียนรู้การเลี้ยงปูนาบนพื้นฐานความรู้ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสำคัญ

“ปูนาพันธุ์พื้นเมืองในพื้นที่เมืองบัว ที่ อ.จตุรพักตรพิมาน หรือที่สุรินทร์ เป็นคนละชนิด (สปีชีส์) ลักษณะภายนอกที่แตกต่างสัมพันธ์กับชุดดินของพื้นที่ ชุดดินทุ่งกุลาร้องไห้มีหินปูน มีตะกอนน้ำพา กระดองปูจะหนา สีเข้ม” อาจารย์นิภาศักดิ์ ยกตัวอย่างการศึกษาสายพันธุ์ปูนาในพื้นที่ ซึ่งเป็นหนึ่งในงานวิจัยของอาจารย์ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สท. โดยยังได้ศึกษาครอบคลุมถึงสูตรอาหารที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัยของปู ต่อยอดไปจนถึงการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มจากปูนา

“ถ้าเรามีพื้นฐานความรู้ที่ดี ปูจะเยอะเหมือนก่อน และเยอะแบบที่เราจัดการได้” อาจารย์นิภาศักดิ์ บอก

การเลี้ยงปูโดยเลียนแบบธรรมชาติในบ่อซีเมนต์ควบคู่กับบ่อดินเป็นแนวทางที่อาจารย์นิภาศักดิ์ส่งเสริมให้เกษตรกร ซึ่งการเลี้ยงในบ่อนี้ช่วยเพิ่มปริมาณปูได้ แต่ต้องเข้าใจชีววิทยา วงจรชีวิตในระบบนิเวศ ตลอดจนพฤติกรรมของปู ดังนั้นการเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม การจัดสภาพแวดล้อมในบ่อ การให้อาหาร หรือแม้แต่น้ำที่ใช้เลี้ยงจึงสำคัญ ซึ่งที่สถานีปูนาเมืองบัวใช้รูปแบบการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ เน้นเป็นแหล่งผลิตพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ มีบ่อวงซีเมนต์สำหรับช่วงผสมพันธุ์ บ่ออนุบาล และบ่อพักก่อนส่งจำหน่าย นอกจากนี้ยังได้ขยายจุดเรียนรู้การเลี้ยงปูนาในบ่อซีเมนต์คู่กับบ่อดินเลียนแบบธรรมชาติที่บ้าน ชวน แวดอุดม สมาชิกรายใหม่ของกลุ่มที่สนใจเลี้ยงปูนา ด้วยเพราะ “อยากเจอความสำเร็จ”

“ไม่ได้อยากรวย อยากเจอความสำเร็จ ตอนนี้ปูเริ่มสูญพันธุ์ ถ้าเราเพาะไว้ มันจะได้ผลมั้ย สำเร็จคือเพาะเลี้ยงมันได้ อนุรักษ์มันได้” ชวน อธิบายถึงความสำเร็จที่คาดหวังจากการลงทุนนี้

อาจารย์นิภาศักดิ์ บอกว่า หัวใจสำคัญการเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ คือ ควรมีพื้นที่เหมาะสม มีน้ำเพียงพอ เลี่ยงพื้นที่ที่น้ำท่วม การจัดบ่อให้มีพืชอาหารที่เหมาะต่อความต้องการของปู ขนาดบ่อซีเมนต์ขึ้นอยู่กับพื้นที่มากน้อยแค่ไหน ส่วนบ่อดิน พื้นเป็นดิน ทำระบบด้านในให้สมบูรณ์เหมือนธรรมชาติมากที่สุด จำลองแปลงนา มีพืชเป็นที่หลบซ่อนให้ปู ซึ่งจำเป็นในช่วงที่ปูลอกคราบ ขณะเดียวกันพืชยังเป็นอาหารของปู เช่น ผักตบชวา แหน รากผักตบมีสารสำคัญบริเวณปลายรากที่ช่วยการเจริญเติบโต และผักตบยังเป็นที่หลบซ่อนภัยของปูได้

แม้ ปรีชาและประชา สองแกนนำเกษตรกรจะหวังให้ปูนากับนาข้าวอยู่ด้วยกันได้เหมือนแต่ก่อน แต่ด้วยการทำนาที่ใช้สารเคมีในปัจจุบัน การเลี้ยงปูนาด้วยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ จึงอาจเป็นทางออกเฉพาะหน้าที่จะอนุรักษ์ปูนาให้ยังมีอยู่ในสังคมเกษตร  ซึ่งการเกิดขึ้นของ “สถานีปูนาเมืองบัว” อาจเป็นจุดกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนระบบการทำนาที่หวนคืนความสมดุลของระบบนิเวศและวิถีการดำเนินชีวิตของเกษตรกรนาข้าวไทยที่ยังคงมี “ปูนา” เป็นส่วนหนึ่ง

# # #

ภายใต้การดำเนินโครงการการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงปูนาในระดับชุมชน จะมีจุดเรียนรู้เพื่อให้บริการถ่ายทอดความรู้เรื่องปูนา 4 แห่ง ได้แก่ บ้านเมืองบัว ต.เมืองบัว อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด บ้านสำโรง ต.ศรีโคตร อ.จตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด บ้านโคกเพชร ต.ไพล อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ วิทยาเขตทุ่งกุลาร้องไห้ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์

สถานีปูนาเมืองบัว: เรียนรู้เพื่อรักษาและต่อยอด