การปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวเพื่อให้ได้มาตรฐาน Organic Thailand ภายใต้โครงการเกษตรอินทรีย์ล้านไร่ของภาครัฐ กำหนดระยะเวลาปรับเปลี่ยนไว้ 3 ปี แบ่งเป็น ระยะปรับเปลี่ยนปี 1 (T1) ระยะปรับเปลี่ยนปี 2 (T2) และระยะปรับเปลี่ยนปี 3 (T3) มีข้อกำหนดปฏิบัติและการตรวจสอบที่เข้มข้นขึ้นในแต่ละระยะ และที่สำคัญเป็นการตรวจรับรองแบบกลุ่ม นั่นหมายถึงสมาชิกทุกคนในกลุ่มต้องผ่านการตรวจ หากคนใดคนหนึ่งไม่ผ่าน ทั้งกลุ่มจะไม่ได้รับการรับรอง สมาชิกจึงต้องร่วมแรงร่วมใจปฏิบัติให้ได้ตามข้อกำหนด โดยมีผู้ตรวจสอบภายใน หรือ Inspector ประจำกลุ่ม ทำหน้าที่ทั้ง “ผู้ตรวจ” และ “ผู้ขับเคลื่อน” ให้การผลิตระบบเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มเดินหน้าได้สำเร็จ

สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดอบรมให้ความรู้ “กระบวนการผลิตข้าวอินทรีย์เพื่อขอรับรองกระบวนการกลุ่ม” และ “การตรวจรับรองมาตรฐานข้าวอินทรีย์แบบกลุ่ม เพื่อสร้างผู้ตรวจสอบภายในองค์กร (inspector) ในการขอรับรองระบบมาตรฐานข้าวอินทรีย์” ให้เกษตรกรในเครือข่าย พร้อมทั้งติดตามและสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนระบบการผลิตเพื่อให้ได้มาตรฐาน Organic Thailand

“เรารู้ว่าเราปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี มันยังไม่พอ เพราะเราออกตลาด ลูกค้าก็ต้องการหลักฐาน” ประสาน พาโคกทม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกพืชเศรษฐกิจพอเพียงบ้านจานใต้ และทำหน้าที่ Inspector ของกลุ่มฯ บอกถึงความจำเป็นที่ต้องมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อินทรีย์

“แต่ละกลุ่มมีจำนวน Inspector ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิก โดยทั่วไป Inspector 1 คน/สมาชิก5 คน อย่างที่กลุ่มฯ มี Inspector 5 คน” อภิสรา บัวศรี ประธานกลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหนองบัวคู และทำหน้าที่ตรวจสอบกระบวนการผลิตข้าวอินทรีย์ของสมาชิก 24 คนที่อยู่ในระยะปรับเปลี่ยนปี 3  พื้นที่ปลูกรวมประมาณ 130 ไร่ บอกถึงหลักการคิดจำนวน Inspector ซึ่งอาจปรับเปลี่ยนตามบริบทของกลุ่ม ดังกลุ่มข้าวอินทรีย์ดู่ฝายใหญ่ ของ เสรี ภูธร อยู่ในระยะปรับเปลี่ยนปี 2 มีสมาชิก 14 คน พื้นที่ปลูกรวมราว 120 ไร่ และมี Inspector 4 คน ขณะที่กลุ่มฯ ของ ประสาน อยู่ในระยะปรับเปลี่ยนปี 1 มีสมาชิก 40 คน พื้นที่ปลูกรวมกว่า 500 ไร่ แต่มี Inspector 3 คน

“ทำจริง ซื่อสัตย์ จริงใจ และเชื่อถือได้” คือคุณสมบัติสำคัญของ Inspector ที่ทั้งสามคนให้นิยาม

“Inspector ไปตรวจแปลงสมาชิกในกลุ่มทุกระยะ ตั้งแต่สมาชิกสมัครเข้าร่วม ก็จะไปตรวจแปลงเบื้องต้นก่อน ถ้าไม่ถูกต้อง แนะนำให้แก้ไข เช่น แนวกันชนไม่พอ ทำให้สูงขึ้น พอสมาชิกแก้ไขแล้ว ก็ไปตรวจอีก ตรวจตลอด เริ่มแปลง ไถแปลง ตัดพันธุ์ปน ไปจนถึงการเก็บผลผลิตที่ยุ้งฉาง” อภิสรา บอกถึงการทำงานของ Inspector

หลังจากตรวจสอบแปลงผลิตข้าวอินทรีย์ของสมาชิกในกลุ่มแล้ว Inspector จะต้องนำข้อมูลส่งให้คณะกรรมการตรวจรับรองของกลุ่มพิจารณา หากคณะกรรมการตรวจรับรองมีมติไม่รับรอง สมาชิกคนนั้นต้องออกจากกลุ่มเพื่อให้กลุ่มสามารถผ่านการตรวจรับรองจากผู้ตรวจสอบภายนอกได้

ด้วยประสบการณ์การทำเกษตรอินทรีย์ของ Inspector ทั้งสามคน โดยเฉพาะ ประสาน ที่คลุกคลีและปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรของตัวเองมาเกือบ 20 ปี และได้มาตรฐานระดับสากลมาแล้ว ทำให้พวกเขารู้ทั้งหลักการวิธีการทำเกษตรอินทรีย์และการตรวจเพื่อขอรับรอง “คนเป็น Inspector เดินผ่านแปลง มองตาเปล่าก็เห็นแล้วว่าทำถูกหรือเปล่า

ในฐานะ Inspector ระยะ T3 อภิสรา บอกถึงสิ่งที่มักตรวจพบคือ ขนาดของแนวกันชน ซึ่งแนวกันชนต้องสูงอย่างน้อย 50 ซม. กว้างอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อไม่ให้น้ำจากนาเคมีไหลมา ถ้าทำตามขนาดไม่ได้ ให้ปลูกหญ้าเนเปียร์หรือปอเทือง น้ำต้องไม่ให้เข้า ไม่ให้ออก ถ้าท่วมก็ต้องสูบจากแปลงอินทรีย์เราเข้าบ่อเก็บไว้ ขณะที่ Inspector ระยะ T1 ประสาน บอกว่า เรื่องการตัดพันธุ์ปนเป็นเรื่องที่สมาชิกยังละเลยกันบ้างโดยเฉพาะแปลงที่ทำเมล็ดพันธุ์ ก็ต้องอาศัยนัดหมายสมาชิกให้ไปช่วยกัน

“ในอดีตไม่มีเคมี รุ่นพ่อแม่เราก็ไม่มี แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้ ยิ่งไม่ได้ใส่เคมีลงไป ยิ่งไม่ต้องเสียตังค์” ข้อความที่ ประสาน มักสื่อสารและสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรที่กำลังเริ่มต้นปรับเปลี่ยนเป็นระบบอินทรีย์ เช่นเดียวกับ เสรี ที่มองว่า การปรับเปลี่ยนมาทำระบบอินทรีย์ คนที่เข้าร่วมถ้าทำจริง ไม่ใช่เรื่องยากเลย คนทำไม่จริงคือคนที่เข้าร่วมเพื่อหวังได้เงินสนับสนุนจากรัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อการตรวจรับรองแบบกระบวนกลุ่ม “ตก 1 คนเท่ากับตกทั้งกลุ่ม ถ้าใครไม่ทำตาม ก็ต้องให้ออก”

แต่ละกลุ่มจึงมีมาตรการเพื่อให้สมาชิกเดินไปให้ถึงเป้าหมาย เพื่อให้ทั้งกลุ่มตรวจรับรองผ่านในแต่ละระยะ มาตรการหรือบทลงโทษมีตั้งแต่ตักเตือน หากเกิน 3 ครั้งให้ออก รวมไปถึงการปรับเป็นเงิน

“สมาชิกในกลุ่มต้องรักษากติการ่วมกัน” ประสาน ย้ำและบอกว่า ที่ผ่านมามีคนที่ทำไม่ได้ ก็ถอนตัวออก “เขาว่าไม่ไหวแล้ว อยากใส่ปุ๋ย กลัวข้าวไม่งาม”

นอกจากให้ความรู้แนะนำวิธีการผลิตแบบอินทรีย์ ลงแปลงตรวจสอบในแต่ละขั้นตอนแล้ว Inspector ยังเป็นพี่เลี้ยงแนะนำการเก็บข้อมูลและจดบันทึกเอกสารให้สมาชิก เตรียมพร้อมสำหรับการสุ่มตรวจที่อาจเกิดขึ้นกับสมาชิกคนใดในกลุ่มก็ได้ “ถ้าไม่ผ่านคนเดียว ก็ตกหมด” จึงต้อง “ช่วยกันดูและช่วยกันทำ”

“เรานัดมาบันทึกเอกสารด้วยกัน ทุกคนต้องบันทึกเป็นลายมือตัวเอง ใครทำอะไรในแปลงตัวเองต้องบันทึก  ไถวันไหน ถอนหญ้าวันไหน ลอกกันไม่ได้หรอก บางคนสะกดตัวหนังสือไม่ได้ บางคนก็เขียนไม่ได้ ก็ใช้เวลานาน บางทีประธานก็ต้องช่วยเขียนให้” อภิสรา เล่าถึงบรรยากาศที่เหล่าสมาชิกสูงวัยที่เชี่ยวชาญภาคปฏิบัติ แต่ติดขัดภาคหนังสือมานั่งล้อมวงจดบันทึกเอกสารของตัวเอง เช่นเดียวกับ ประสาน ที่บอกว่า ต้องช่วยสมาชิก พาทำ พากรอกข้อมูล ถ้าคนที่เคยบันทึกอยู่แล้ว เป็นเรื่องดีที่จะช่วยย้อนบันทึกสิ่งที่ตัวเองทำ แต่ถ้าคนไม่เคย ก็อาจจะยาก “อยากให้คนอื่นทำได้เป็นนิสัย เราไม่อยู่เขาก็ทำได้ พยายามดึงให้มาทำด้วยกัน ฝึกด้วยกัน”

เอกสารที่เกษตรกรต้องบันทึกมีความเข้มข้นตามระยะปรับเปลี่ยน จากแบบบันทึกการผลิตข้าวอินทรีย์ จะเพิ่มทะเบียนการผลิต คู่มือการผลิตของกลุ่ม ทะเบียนตรวจภายใน ทะเบียนตรวจรับรอง เป็นต้น

ความรู้จากการเข้าร่วมอบรมบวกกับประสบการณ์การทำเกษตรอินทรีย์ ทำให้ Inspector ทั้งสามคนให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่นี้ แม้จะต้องลงแรงติดตามแปลงและเอกสารของสมาชิกอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เพื่อให้กลุ่มได้ผ่านการรับรองและไปถึงเป้าหมายคือ มาตรฐาน Organic Thailand ที่จะการันตีทั้งคุณภาพข้าวหอมมะลิจากแดนทุ่งกุลาร้องไห้ และสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค

# # #

กลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหนองบัวคู กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกพืชเศรษฐกิจพอเพียงบ้านจานใต้ และกลุ่มข้าวอินทรีย์ดู่ฝายใหญ่ อยู่ภายใต้ “วิสาหกิจชุมชนปลูกข้าวอินทรีย์ศูนย์เรียนรู้เครือข่ายปราชญ์ปทุมรัตน์” ต.หนองแคน อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด เป็นกลุ่มเกษตรกรในเครือข่ายการทำงานของ สท./สวทช. ซึ่ง สท. ได้จัดอบรมเพื่อสร้างผู้ตรวจสอบภายใน (inspector) จำนวน 33 ราย และอบรมเรื่องการผลิตข้าวอินทรีย์ให้เกษตรกร จำนวน 713 คน มีเกษตรกรผ่านการตรวจรับรองระยะปรับเปลี่ยนปี 1 จำนวน 489 ราย สำหรับระยะปรับเปลี่ยนปี 2 และ ปี 3 อยู่ระหว่างการตรวจรับรองจากหน่วยงานภายนอก (ข้อมูลเมื่อที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563)

“Inspector” ผู้ปิดทองขับเคลื่อน “ข้าวอินทรีย์”