ภาคใต้ถือได้ว่ามี “ข้าวพันธุ์พื้นเมือง” ที่หลากหลายแห่งหนึ่งของไทย ซึ่งศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวพัทลุงได้เคยรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองภาคใต้ไว้ได้ถึง 162 สายพันธุ์ แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ทำให้พื้นที่เพาะปลูกข้าวในภาคใต้หรือแม้แต่จำนวนชาวนาลดน้อยลง ซึ่งอาจส่งผลต่อการมีอยู่ของสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองใต้ได้

เวทีเสวนา “ข้าวพื้นเมืองใต้ …สำคัญอย่างไร” ในงาน ‘เสริมแกร่งชาวนาสงขลา’ ด้วย ‘วิถีวิทย์’ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2563 ณ ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา จึงได้ชวนนักวิชาการมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องพันธุ์ข้าวพื้นเมืองใต้และหนทางการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง เป็นแนวทางต่อลมหายใจพันธุ์ข้าวพื้นเมืองใต้ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน

ข้าวพื้นเมือง มรดกทางวัฒนธรรม

ข้าวไทยและพันธุกรรมมีความสำคัญในแง่เดียวกับศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี เพราะเป็นสิ่งที่อยู่บนแผ่นดินไทย ได้รับการคัดเลือกและสร้างสรรค์จากบรรพบุรุษ” ดร.ภัทรพร ภักดีฉนวน อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ให้มุมมองถึงความสำคัญของข้าวพื้นเมือง

อาจารย์ภัทรพร ฉายภาพข้าวพื้นเมืองของประเทศไทยว่า คนไทยปลูกข้าวพื้นเมืองเพราะชอบรับประทาน จึงคัดเลือกพันธุ์ที่รสชาติดี อร่อย ข้าวพื้นเมืองยังสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของพื้นที่ และบางสายพันธุ์ยังมีคุณค่าโภชนาการที่มากกว่าข้าวทั่วไป

“ข้าวพื้นเมืองของไทยมีที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพอสมควร เช่น พันธุ์ข้าวเหนียวดำลืมผัว จ.ตาก ที่อร่อยจนภรรยากินหมด ไม่เหลือให้สามี หรือพันธุ์ข้าวพญาลืมแกง จ.นครพนม/จ.เพชรบูรณ์ ที่มีเรื่องเล่าว่าอร่อยจนเจ้าเมืองกินแต่ข้าวเหนียว ไม่กินกับข้าว สำหรับภาคใต้มีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองหลากหลายและเหลืออยู่มาก ซึ่งศูนย์วิจัยข้าวพัทลุงได้เคยเก็บรวมรวมและจัดทำเป็นหนังสือไว้ 162 สายพันธุ์ แต่ในความเป็นจริงยังมีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองมากกว่านั้นที่ยังไม่ได้ถูกรวบรวม เช่น ข้าวลูกปลา”

ข้าวพื้นเมืองภาคใต้หลายพันธุ์ได้การรับรองจากกรมการข้าวให้เป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองประจำจังหวัด เช่น ข้าวซีบูกันตรัง จ.นราธิวาส ข้าวมะจานู จ.ปัตตานี ข้าวมือลอ จ.ยะลา หรือข้าวลูกปลา ข้าวช่อขิง จ.สงขลา ที่อยู่ระหว่างการรับรอง นอกจากนี้มีพันธุ์ข้าวที่ได้รับรองเป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองประจำจังหวัดและยังเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ด้วย ได้แก่ ข้าวเหลืองปะทิว จ.ชุมพร ข้าวสังข์หยด จ.พัทลุง และข้าวดอกข่า จ.พังงา

ความหลากหลายทางพันธุกรรมของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองทำให้สามารถปรับตัวจากอดีตถึงปัจจุบันได้ ซึ่งอาจมียีนต้านทานโรค ทนแล้ง ทนเค็ม หรือทนน้ำท่วม ลักษณะพันธุกรรมเหล่านี้สำคัญต่อการพัฒนาพันธุ์ข้าวไทย”

อาจารย์ภัทรพร กล่าวว่า ด้วยความชอบ เกษตรกรจึงปลูกไว้เพื่อบริโภค แต่ปัจจุบันการปลูกข้าวพื้นเมืองลดน้อยลง เนื่องจากเนื้อสัมผัสหรือรสชาติที่ไม่ถูกใจคนรุ่นใหม่ การอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองสามารถทำได้ทั้งในสภาพธรรมชาติ คือ ปลูกในแปลงนา และนอกสภาพธรรมชาติ คือ เก็บในธนาคารเชื้อพันธุ์ (Gene Bank)

“เมื่อเกษตรกรตระหนักและภูมิใจในพันธุ์ข้าวท้องถิ่นตัวเอง เขาจะเรียนรู้และศึกษาลักษณะพันธุ์นั้นโดยเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งวิธีการเก็บพันธุ์ของชาวบ้านจะไม่ได้จดเก็บข้อมูลชัดเจน ไม่รู้ว่าแตกกอเท่าไหร่ สูงเท่าไหร่ แต่เมื่อได้ลงพื้นที่ไปสอนโดยใช้หลักการของกรมการข้าวในการบันทึกข้อมูล เกษตรกรรู้จักเก็บข้อมูลการเจริญเติบโตทุกระยะ ซึ่งในทุกระยะจะแสดงลักษณะประจำพันธุ์ให้เห็น ทำให้เกษตรกรได้รู้จักพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของตนมากขึ้น”

ฝากข้าวพื้นเมืองไว้ที่ “ธนาคาร”

หนึ่งในวิธีอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองคือ การเก็บรักษาที่ธนาคารเชื้อพันธุ์ ซึ่ง “ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ หรือ NBT (National Biobank of Thailand)” หน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดังกล่าว

“พันธุ์พืชแต่ละพันธุ์มีวิธีเก็บแตกต่างกัน บางพันธุ์ชาวบ้านไม่สามารถเก็บรักษาได้ ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้เก็บได้นานและไม่สูญหาย” ผศ.ดร.ศรีเมฆ ชาวโพงพาง ผู้เชี่ยวชาญเทคนิคอาวุโส ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (NBT) กล่าว

สำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าวเก็บได้ทั้งในระยะสั้นโดยเกษตรกรสามารถเก็บเองเพื่อใช้สำหรับรอบการปลูกใหม่ ระยะกลาง เก็บไว้ที่มหาวิทยาลัยในพื้นที่ ส่วนการเก็บระยะยาว สามารถเก็บที่ NBT ซึ่งเก็บได้อย่างน้อย 20 ปี ที่อุณหภูมิคงที่ –20 องศาเซลเซียส

“การเก็บระยะยาวที่ NBT มีกระบวนการเก็บและกฎระเบียบ เช่น ต้องมีชื่อผู้ฝาก จะเป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่มก็ได้ มีข้อมูลรายละเอียดพันธุ์ข้าวนั้นๆ และผ่านการวิจัยเบื้องต้นจากสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงาน เป็นต้น โดยทาง NBT จะตรวจอัตราการงอกทุกๆ 5 ปี ถ้าอัตราการงอกลดลงหรือมีความเสี่ยงที่จะลดลง จะนำออกมาขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มจำนวน หรือติดต่อของพันธุ์เพิ่มจากผู้ฝาก ซึ่งการเก็บในระยะยาวนี้ ผู้ฝากจะนำเมล็ดพันธุ์ออกไปได้ต่อเมื่อมีเหตุผลที่เหมาะสม เช่น พันธุ์ที่มีอยู่หายไปเพราะเหตุภัยพิบัติ ธนาคารจะให้นำพันธุ์ออกไปขยายได้ 3 ครั้ง”    

บทบาทของ NBT เป็นตัวกลางที่ทำหน้าที่เก็บรักษาพันธุ์พืช มีแคตาล็อกพันธุ์พืชที่เก็บรักษา หากมีคนสนใจพันธุ์พืชใดสามารถติดต่อกับผู้ฝากโดยตรง การเก็บพันธุ์ข้าวที่ NBT ไม่มีค่าใช้จ่าย พันธุ์ข้าวที่ NBT เก็บไว้แล้วเป็นพันธุ์เชิงการค้าเป็นหลักและกำลังเริ่มเก็บพันธุ์ข้าวเมือง

“การเก็บพันธุ์ข้าวโดยชุมชนจัดเก็บเอง มีความเสี่ยงที่อาจสูญหายได้ โดยเฉพาะกับชาวบ้านที่ไม่มีรุ่นลูกหลานเป็นผู้สืบทอด แต่ถ้าฝากธนาคาร ก็สามารถอยู่ได้นาน ข้าวพันธุ์พื้นเมืองบางพันธุ์มีพันธุกรรมที่ดี ซึ่งอาจมาเป็นฐานข้อมูลในการสร้างพันธุ์ใหม่ๆ ได้”

คุ้มครองพันธุ์พืช คุ้มครองพันธุ์ข้าวพื้นเมือง

“การเก็บรักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง เกษตรกรสามารถเก็บรักษาด้วยตนเองได้ โดยปลูกเพื่อกิน และคัดพันธุ์เอง ส่วนการคุ้มครองพันธุ์ คือ ทำอย่างไรให้มีหลักฐานว่าพันธุ์นั้นเป็นของเรา” คุณธิดากุญ แสนอุดม ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการคุ้มครองพันธุ์พืช สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงการคุ้มครองพันธุ์พืชและให้ข้อมูลการคุ้มครองที่เกษตรกรสามารถทำได้ 3 แนวทางคือ

  • การคุ้มครองเชิงปกป้อง ด้วยการขึ้นทะเบียนพันธุ์พืช เป็นเหมือนการทำบัตรประจำตัวพันธุ์พืช ข้อมูลที่นำมาขึ้นทะเบียน ประกอบด้วย ประวัติพันธุ์ (หน่วยงานรัฐต้องเข้ามาช่วยเกษตรกร) ลักษณะประจำพันธุ์ (ต้องหาพันธุ์แท้ให้ได้) รูปภาพและลายพิมพ์ดีเอ็นเอ
  • การคุ้มครองเชิงอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ด้วยการจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น ซึ่งต้องเป็นพันธุ์พืชที่มีอยู่เฉพาะที่ใดที่หนึ่งเท่านั้น มีอายุคุ้มครอง 17 ปี และให้ชุมชนมีสิทธิในพันธุ์นั้น (ปัจจุบันประเทศไทยมีพันธุ์พืชจดทะเบียนด้วยแนวทางนี้เพียงหนึ่งสายพันธุ์ คือ ส้มเขียวหวานพันธุ์เทพรส ชุมชนคุ้มบางกะเจ้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ และอยู่ระหว่างพิสูจน์ตรวจสอบอีกหนึ่งสายพันธุ์ คือ มะปรางพันธุ์หวานทองประมูลพรหมณี ของชุมชนมะปรางหวานทองประมูลนครนายก)
  • การคุ้มครองเชิงธุรกิจ ด้วยการขึ้นทะเบียนสินค้า GI (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) ซึ่งสินค้า GI มีความเชื่อมโยงกับแหล่งผลิต ภูมิปัญญา เอกลักษณ์ คุณภาพหรือชื่อเสียงในพื้นที่นั้น เมื่อขึ้นทะเบียนสินค้า GI ที่พาณิชย์จังหวัดแล้ว จึงจะขออนุญาตใช้เครื่องหมาย GI ได้

การเก็บรักษาเฉยๆ ไม่ยั่งยืน เก็บรักษาต้องเอามาใช้ประโยชน์ด้วย การใช้อย่างยั่งยืน คือชุมชนต้องได้ประโยชน์จากตรงนั้นด้วย” ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการคุ้มครองพันธุ์พืช กล่าวทิ้งท้าย

# # #

สรุปความจากเวทีเสวนา “ข้าวพื้นเมืองใต้สำคัญอย่างไร” ในงาน ‘เสริมแกร่งชาวนาสงขลา’ ด้วย ‘วิถีวิทย์’ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2563 ณ ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา จัดโดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช.

ข้าวพื้นเมืองใต้…สำคัญอย่างไร