เพราะเมล็ดพันธุ์ข้าว ไม่เพียงเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ หากยังเป็นปัจจัยที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณภาพให้ผลผลิตอีกด้วย การเรียนรู้และทำความเข้าใจเมล็ดพันธุ์จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ชาวนาไม่ควรมองข้าม

“หัวใจสำคัญของเมล็ดพันธุ์คือ ต้องมีสิ่งที่มีชีวิตที่เรียกว่า ต้นอ่อน (embrio) มีเนื้อแป้งข้าวและเปลือก ถ้าไม่มีต้นอ่อน จะไม่เป็นเมล็ดพันธุ์ จะเรียกว่า ข้าวเปลือก” ดร.กัญญณัช ศิริธัญญา ผู้เชี่ยวชาญการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว อธิบายความแตกต่างของเมล็ดพันธุ์และข้าวเปลือก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นความรู้การเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ได้ถูกต้อง

การใช้เมล็ดพันธุ์ดีทำให้เกษตรกรประหยัดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ เนื่องจากใช้ในปริมาณน้อยกว่าเมล็ดพันธุ์ทั่วไป ลดต้นทุนการผลิต เพราะผ่านการคัดเลือกรวงที่สมบูรณ์แล้ว จึงลดเชื้อโรคและการใช้สารเคมีกำจัดโรค ผลผลิตสูง และทำให้กำไรต่อพื้นที่มากกว่า

แล้วจะได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีได้อย่างไร จำเป็นต้องรู้จัก “ชั้นเมล็ดพันธุ์” เพื่อรู้ที่มาและการเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ ซึ่งชั้นเมล็ดพันธุ์ประกอบด้วย

  • เมล็ดพันธุ์คัด (breeder seed) เป็นชั้นเมล็ดพันธุ์สำหรับนักปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งชาวนาสามารถเป็นนักปรับปรุงพันธุ์ได้ โดยเฉพาะในภาคใต้ซึ่งใช้ “แกระ” เป็นเครื่องมือเก็บเกี่ยวที่สามารถคัดเลือกรวงสมบูรณ์ ถูกต้องตามพันธุ์
  • เมล็ดพันธุ์หลัก (foundation seed) หลังจากคัดเมล็ดพันธุ์ที่ต้องการแล้ว ได้เป็นเมล็ดพันธุ์หลักสำหรับปลูกขยาย
  • เมล็ดพันธุ์ขยาย (stock seed or registered seed) เมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์หลัก สำหรับเกษตรกรที่จะปลูกเป็นแปลงขยายพันธุ์
  • เมล็ดพันธุ์จำหน่าย (certified seed) เป็นชั้นเมล็ดพันธุ์เพื่อผลิตจำหน่ายให้เกษตรกรทั่วไป

เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ชาวนาส่วนใหญ่ใช้จึงมาจากชั้นเมล็ดพันธุ์จำหน่าย แต่หากต้องการความมั่นใจคุณภาพเมล็ดพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง ต้านทานโรคแมลง ความงอกสูง ความแข็งแรงสูง ไม่มีเมล็ดพันธุ์หรือพืชอื่นปน เจริญเติบโตเร็วและสม่ำเสมอ ชาวนาก็สามารถที่จะผลิตได้เองในชั้นเมล็ดพันธุ์คัด

ยกระดับคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว

เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรมีหรือซื้อมาส่วนมากจะเป็นเมล็ดพันธุ์ชั้นขยายหรือชั้นจำหน่าย อาจมีคุณภาพไม่ดีพอ จึงจำเป็นต้องนำเมล็ดพันธุ์นั้นมาปรับปรุงและเก็บเมล็ดพันธุ์ต่อด้วยการปลูกแบบปักดำกล้าต้นเดียว และดูแลด้วยการตัดพันธุ์ปนตามระยะการเจริญเติบโต จะได้เมล็ดพันธุ์ชั้นขยายที่ดีกว่าเดิม

การเพาะกล้าแบบวางรวงและปักดำแบบรวงต่อแถว โดยปักดำกล้าต้นเดียวร่วมกับการตรวจตัดพันธุ์ปนอย่างสม่ำเสมอทั้ง 5 ระยะ และปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ (ทำความสะอาดและลดความชื้น) สามารถยกระดับคุณภาพเมล็ดพันธุ์ในแต่ละชั้นเมล็ดพันธุ์ให้ดีขึ้นได้

นอกจากนี้ยังสามารถทำเมล็ดพันธุ์ให้ดียิ่งขึ้นด้วยการเลือกรวงที่สวย แข็งแรง มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ แล้วเก็บรวง 1,000 รวง ทำเป็นมัดๆ ละ 100 รวง นำไปเพาะกล้าแบบวางรวงและปักดำแบบรวงต่อแถว โดยปักดำ กล้าต้นเดียว ดูแลด้วยการตัดพันธุ์ปนจำนวน 5 ครั้ง ตามระยะการเจริญเติบโต เก็บเกี่ยวเป็นรวง จะได้เมล็ดพันธุ์หลัก

ทำแปลงเมล็ดพันธุ์ใช้พื้นที่เยอะ? ยุ่งยาก? เสียเวลา?

ทำนาดำบนพื้นที่ 4 ไร่ แค่ใส่ใจและดูแลเป็นพิเศษกับแปลงพียงครึ่งงาน ถ้านาหว่านเพียง 1 งานเท่านั้น ก็จะได้แปลงเมล็ดพันธุ์ที่ดีแล้ว …ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

ทำนาดำ 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ 3-5 กก. ถ้าทำ 4 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ 20 กก.
ทำหว่าน 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ 20 กก. ถ้าทำ 4 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ 80 กก.
ปลูกข้าวได้ผลผลิตประมาณ 500 กก./ไร่
การเก็บเมล็ดพันธุ์ควรเผื่อไว้ 1.5-2 เท่า เพื่อประกันความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ

การทำนาดำ 4 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ 20 กก. x 1.5-2 เท่า = ใช้เมล็ดพันธุ์ 30-40 กก. ดังนั้นควรดูแลเป็นพิเศษเฉพาะพื้นที่ 1/2 งาน เพื่อใช้เป็นแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์

การทำนาหว่าน 4 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ 80 กก. x 1.5-2 เท่า = ใช้เมล็ดพันธุ์ 120-160 กก. ดังนั้นควรดูแลเป็นพิเศษเฉพาะพื้นที่ 1 งาน เพื่อใช้เป็นแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์

ปลูกข้าวเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ดี

เมื่อรู้พื้นที่ปลูกและปริมาณเมล็ดพันธุ์ที่ใช้แล้ว วิธีการปลูกที่ถูกต้องเป็นขั้นตอนที่สำคัญ โดยเริ่มจาก

  • คัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ปลูก ระดับน้ำในพื้นที่ ต้านทานต่อโรคและแมลงที่สำคัญในพื้นที่ เป็นพันธุ์ที่เกษตรกรสนใจและนิยมปลูกบริโภค หรือเป็นพันธุ์ที่ตลาดต้องการ (กรณีผลิตเพื่อจำหน่าย)
  • วางแผนการปลูก เลี่ยงปลูกในเดือนที่ระยะเก็บเกี่ยวตรงกับช่วงฝนตกชุก และเลี่ยงปลูกข้าวต่างจากพันธุ์เดิมเพื่อลดปัญหาข้าวปน หรือหากเปลี่ยนพันธุ์ใหม่ ต้องกำจัดข้าวเรื้อก่อน
  • เตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ สุ่มเมล็ดพันธุ์เพื่อตรวจสอบข้าวปนและความงอกก่อนปลูก ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวอัตรา 3-5 กก./ไร่ สำหรับปลูกแบบปักดำ และใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวอัตรา 15-20 กก./ไร่ สำหรับปลูกแบบหว่านน้ำตม
    • ใช้น้ำเกลือลดปริมาณเชื้อที่ติดมากับเมล็ด ทำโดยผสมเกลือแกงในน้ำ (ความเข้มข้นน้ำเกลือ คือ เมื่อใส่ไข่ไก่ลงไปแล้ว ไข่ลอยได้) ใส่เมล็ดลงในน้ำ เมล็ดที่ลอยตักออก นำเมล็ดที่จมไปล้างน้ำเปล่า 3-4 ครั้ง นำไปหว่านแห้ง หรือนำไปแช่/บ่มให้ข้าวงอกก่อนหว่าน
  • ปลูกข้าว ใช้เมล็ดพันธุ์ดี 3-5 กก./พื้นที่ 100 ตร.ม. สำหรับเพาะกล้า การปักดำกล้าใช้ระยะปลูก 25×25 ซม. กล้า 1 ต้น/หลุม ทำให้ได้จำนวนหน่อต่อกอมาก การออกดอกสม่ำเสมอ สุกแก่พร้อมกัน และผลผลิตสูง (ได้ข้าว 25,600 ต้น)
  • เก็บเกี่ยว ประมาณ 30 วันหลังข้าวออกดอก 80% ทำความสะอาดรถเกี่ยว ภาชนะบรรจุและรถบรรทุก เกี่ยวข้าวขอบแปลงแยกออก การเก็บพันธุ์ดี 1,000 รวง เลือกรวงแม่ที่สมบูรณ์สุด ไม่เป็นโรค กอละ 1 รวง 100 รวง/มัด
  • ปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ ทำความสะอาดเบื้องต้น ลดความชื้น <14% โดยตากบนลานกว้างหรือใช้เครื่องลดความชื้น คัดแยกทำความสะอาดและคัดขนาดเมล็ดพันธุ์
  • ตรวจสอบคุณภาพ
    • ทดสอบความชื้นด้วยวิธีใช้ฟันกัดเมล็ด ใช้ตู้อบ ใช้เครื่องวัดความชื้น
    • ทดสอบความงอก (ความมีชีวิตของเมล็ด) มีความงอกไม่ต่ำกว่า 80%
      • เพาะบนกระดาษทิชชู่ โรยเมล็ด 100 เมล็ด ทำ 4 ซ้ำ ซ้ำละ 100 เมล็ด เมื่อครบ 4-5 วัน ต้นกล้าที่โตปกติ ต้นอ่อนจะมียอดและรากสมบูรณ์
    • ทดสอบความบริสุทธิ์ วิเคราะห์องค์ประกอบของตัวอย่างเมล็ดพันธุ์เป็นเปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก แยกเมล็ดพันธุ์เป็น 3 ส่วน คือ เมล็ดสุทธิ เมล็ดพืชอื่น และสิ่งเจือปน
“ตัดพันธุ์ปน” หัวใจการผลิตเมล็ดพันธุ์

การผลิตเมล็ดพันธุ์คัดซึ่งเป็นชั้นเมล็ดพันธุ์ที่สำคัญสำหรับการได้ “เมล็ดพันธุ์ที่ดี” หัวใจสำคัญที่เกษตรกรต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอคือ การตัดพันธุ์ปนใน 5 ระยะ โดยพิจารณาจากลักษณะสำคัญเพื่อจำแนกพันธุ์ ได้แก่

  • ระยะกล้า ความแตกต่างของสีใบ ความสูง หรือเป็นโรค
  • ระยะแตกกอ ความสูง สีของต้น ข้าวแดง
  • ระยะออกดอก สีของรวง ความสูง ทรงกอ
  • ระยะโน้มรวง สีของเมล็ด หาง ลักษณะของเมล็ดและรวงข้าว
  • ระยะก่อนเก็บเกี่ยว (สุกแก่) สีของเมล็ด หาง ลักษณะของเมล็ดและรวงข้าว
มาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี

กรมการข้าวได้กำหนดมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าว (พ.ศ. 2557) ดังนี้

นอกจากนี้ยังมีมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว (มกษ. 4406-2506) หรือ GAP Rice Seed

สารสกัดจากธรรมชาติควบคุมศัตรูพืช

ข้อมูลจากการบรรยาย “การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี” โดย ดร.กัญญณัช ศิริธัญญา และคุณชนากานต์ วงษาพรหม. งาน ‘เสริมแกร่งชาวนาสงขลา’ ด้วย ‘วิถีวิทย์’. วันที่ 20 กันยายน 2563 ณ ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา.

เสริมแกร่งชาวนา ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี