อำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ ถือเป็นพื้นที่ผลิตพริกชั้นดีของประเทศไทย เกษตรกรในพื้นที่มีอาชีพผลิตพริกจำหน่ายให้ลูกค้าในประเทศ แต่เกษตรกรยังมีรายได้น้อย ทั้งๆ ที่ทำการเกษตรมานาน มีความชำนาญและขยัน

การผลิตพริกแบบเดิมมีต้นทุนสูง มีปัญหาโรคแมลงและใช้สารเคมีปริมาณมาก ทำให้ สุจิตรา จันทะศิลา ที่จบการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และต้องการกลับบ้านมาช่วยเหลือเกษตรกรที่บ้านเกิด จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโนนติ้ว ตำบลโนนคูณ อำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อ 27 สิงหาคม 2558 ให้เกษตรกรผลิตพริกแห้งปลอดภัยเพื่อแปรรูปและส่งออก เช่น ผลิตพริกสายพันธุ์ “ยอดสนเข็ม 80” ป้อนให้บริษัท บางกอกแลปแอนด์คอสเมติก จำกัด โดยประกันราคารับซื้อ บริษัทฯ ต้องการผลผลิตพริกแห้งพันธุ์นี้ประมาณปีละ 5 – 10 ตันต่อปี หรือ พริกสด 15-30 ตันต่อปี

ย้อนไปเมื่อ 2556 สุจิตรา ชักชวนเกษตรกรยางชุมน้อยให้ผลิตแต่ไม่มีใครสนใจ จึงสร้างแปลงตัวอย่างในพื้นที่ตนเองให้ชาวบ้านเห็นเป็นรูปธรรม นำระบบการทำเกษตรที่ศึกษามาทำแปลงผลิตพริก การเพาะต้นกล้า การให้น้ำ ปุ๋ย การควบคุมโรคและแมลงด้วยเชื้อราลดการใช้สารเคมี

ในช่วงแรกของการส่งเสริมปลูกพริกยอดสนเข็ม ปี 2557 – 2558 เกษตรกรผลิตพริกแห้งได้เพียง 3.5 ตันต่อปี ในปี 2559 เกษตรกร ต.โนนคูณ อ.ยางชุมน้อย 30 ครอบครัว ผลิตพริกแห้งได้เพิ่มขึ้นเป็น 4 ตัน กระทั่งในปี พ.ศ. 2560 มีเกษตรกรเข้าร่วมในวิสาหกิจชุมชนจำนวน 95 ราย มีการให้ความรู้เรื่องการผลิตในกลุ่ม รวมกลุ่มทำปุ๋ยหมัก ผลิตราไตรโคเดอร์มา บิวเวอเรีย ให้เครือข่าย เพื่อใช้คุมเพลี้ย ลดการใช้สารเคมี และลดต้นทุนการผลิตโดยผลิตเมล็ดพันธุ์ใช้เอง

กลุ่มฯ สามารถผลิตพริกแห้งได้ 5 ตัน ตามความต้องการของบริษัทฯ มีรายได้ 1.5 ล้านบาท (ราคาพริกแห้งยอดสนเข็ม 80 กิโลกรัมละ 300 บาท) สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งกลุ่มฯ มีแผนผลิตพริกสดให้ได้ปีละ 150 ตัน ช่วงการผลิตตั้งแต่เดือน มกราคม–มีนาคมของทุกปี

จากความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรในการผลิตพริกยอดสนเข็ม 80 บริษัท บางกอกแลป แอนด์ คอสเมติก จำกัด ให้ สุจิตรา และกลุ่มเกษตรกร ผลิตพริกแห้งพันธุ์ “อัคนีพิโรธ” ที่ได้รับการถ่ายทอดพันธุ์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยเสนอราคากิโลกรัมละ 500 บาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบผลิตร่วมกับการใช้เทคโนโลยีโรงเรือนเพื่อช่วยในการผลิต

กลุ่มวิสาหกิจฯ ตั้งเป้าหมายที่จะผลิตพริกแห้งปลอดภัยเพื่อแปรรูปและส่งออกและยังมีแนวคิดในการลดต้นทุนการผลิต การผลิตพริกคุณภาพ  การคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมต่อพื้นที่การผลิตของชุมชน และให้ตรงต่อความต้องการของอุตสากรรมอาหารและยาทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นอกจากนี้ สวทช. ให้การสนับสนุนเทคโนโลยีการอบแห้ง โดยอยู่ในระหว่างทดลองนำพริกสายพันธุ์ยอดสนเข็มอบแห้งเพื่อให้ได้สภาวะการอบทีเหมาะสม เนื่องจากการผลิตพริกแห้งของกลุ่มวิสาหกิจยังมีปัญหาการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว หรือการทำแห้ง ซึ่งใช้วิธีการตากแดด ด้วยปริมาณผลผลิตที่มากขึ้นและสภาพอากาศไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้มีปัญหาเรื่องเชื้อราและสารอะฟลาทอกซินตกค้างในผลผลิต

ทั้งนี้จังหวัดศรีสะเกษได้สนับสนุนงบประมาณ 1.4 ล้านบาทสำหรับการสร้างโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงแปรรูปพริก ให้กลุ่มวิสาหกิจฯ ซึ่งจะช่วยให้สามารถผลิตพริกแห้งที่มีคุณภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์พริกและผลิตภัณฑ์จากผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ ให้มีความหลากหลายต่อไป 

รู้หรือไม่???

พริกยอดสนเข็ม 80 ปรับปรุงพันธุ์โดย ศาสตราจารย์ ดร. สุชีลา เตชะวงศ์เสถียร ผู้เชี่ยวชาญการปรับปรุงพันธุ์พริกและมะเขือเทศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากการสนับสนุนโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

พริกยอดสนเข็ม 80 เป็นพริกที่มีความเผ็ดมาก (ประมาณ 70,000 สโควิลล์) เนื่องจากมีสารแคบไซซินสูง เหมาะนำไปสกัดสารแคบไซซินใช้ผสมอาหารสัตว์ ให้สัตว์ทานอาหารได้มากขึ้น หรือเป็นส่วนผสมยาทาแก้ปวดเมื่อย

พริกยอดสนเข็มให้ผลผลิตสูง ประมาณ 3,000 กิโลกรัมต่อไร่ (พริกสด) มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ถ่ายทอดพันธุ์พริกยอดสนเข็ม 80 ให้บริษัท บางกอกแลปแอนด์คอสเมติก จำกัด นำไปสกัดสารแคปไซซิน เป็นส่วนผสมในเจลทาบรรเทาอาการปวดภายใต้ยี่ห้อแคปซิกาเจล รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรในจังหวัดต่างๆ ซึ่งบริษัทฯ รับซื้อผลผลิตในรูปพริกแห้ง ราคากิโลกรัมละ 250-300 บาท

ยางชุมน้อยโมเดล: การปลูกพริกยอดสนเข็ม 80 เพื่อแปรรูป