ทุกๆ วันก่อนไปทำงานและเลิกงานจากศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์พะเยา สุริยะ ทองสา จะแบ่งเวลามาดูแลโคสายพันธุ์ลูกผสมบราห์มัน-ชาโลเล่ย์ที่ สุนิสาฟาร์ม” ต.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา ฟาร์มเลี้ยงโคเนื้อที่เขาตั้งใจทำไว้รองรับชีวิตหลังเกษียณ 

ด้วยคลุกคลีอยู่ในแวดวงการเลี้ยงสัตว์ สุริยะ มองว่าหากเลี้ยงสัตว์เป็นรายได้เสริม “โค” หรือ “วัว” เป็นตัวเลือกที่ให้ราคางาม แม้จะมีต้นทุนค่าอาหารสูง แต่วัตถุดิบทางการเกษตรที่มีมากมายในท้องถิ่นเป็นตัวช่วยได้

ถ้าลดต้นทุนได้มาก จะมีกำไรมาก แม้ว่าขายราคาเท่ากัน แต่ต้นทุนจะเป็นตัวกำหนดว่าได้กำไรมากหรือน้อย” เป็นแนวคิดการทำฟาร์มเลี้ยงโคเนื้อของ สุริยะ ที่เริ่มจากเลี้ยงปล่อยทุ่งและขายให้พ่อค้าทั่วไป ก่อนเปลี่ยนมาเลี้ยงวัวแบบไขมันแทรกหรือ “โคขุน” ส่งให้ “สหกรณ์โคขุนดอกคำใต้” ด้วยเหตุผลตลาดรับซื้อแน่นอนและราคารับซื้อสูงกิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 110 บาท ขณะที่วัวเนื้อทั่วไปราคากิโลกรัมละ 80 บาท

เมื่อตัดสินใจหันมาเลี้ยงวัวไขมันแทรก สุริยะ หาความรู้จากหน่วยงานที่สังกัดและค้นคว้าข้อมูลจากวารสารต่างๆ ทำให้พบว่านอกจากสายพันธุ์และการจัดการสภาพแวดล้อมในฟาร์มแล้ว อาหาร” เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้วัวมีไขมันแทรก

เดิมเน้นให้หญ้าเนเปียร์ รูซี่ กินนี่ แต่วัวที่ต้องการไขมันแทรก ไม่เน้นหญ้า จะเน้นฟาง อาหารข้น อาหารประเภทแป้ง เคยเอาเปลือกข้าวโพดมาให้วัวกิน เพราะคิดว่าคล้ายฟางและเป็นของเหลือทิ้งอยู่แล้ว เห็นแล้วเสียดาย เอามาลองทำหลายอย่าง ให้กินสด หมักบ้าง ราดกากน้ำตาลบ้าง แล้วให้ฟักทองเสริม คนแถวนี้บอกวัวไม่กินเปลือกข้าวโพดหรอก แต่วัวที่ฟาร์มกลับกินดี”

เปลือกข้าวโพดและฟักทองเป็นวัตถุดิบที่ได้มาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เป็นจุดเริ่มให้ สุริยะ มองเห็นช่องทางที่จะ “ลดต้นทุน” ได้ และด้วยหน้าที่การงานประจำทำให้เขาได้รู้จักกับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยพะเยา เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้กับทีมวิจัย จนได้ทดลองใช้ “จุลินทรีย์” ทำอาหารหมักสำหรับโค

เวลาได้วัตถุดิบมาเยอะ ใช้ไม่ทัน เน่าเสียหมด ก็เอามาใส่ถังแล้วใส่จุลินทรีย์หมักและย่อย เป็นการถนอมอาหาร ทำให้ไม่ต้องหาซื้อวัตถุดิบบ่อย อย่างฟักทองเอามาหมักจุลินทรีย์ ส่งตรวจวิเคราะห์กับมหาวิทยาลัยพะเยา พบว่ามีค่าโปรตีนสูง และวัวกินอาหารได้ดีขึ้นด้วย” 

หลังขุนวัวไขมันแทรกอยู่หนึ่งปี โดยมีอาหารหมักจากวัสดุการเกษตรเป็นตัวเสริม วัว 4 ตัวที่ สุริยะ ส่งขายให้สหกรณ์มีคุณภาพเกรด 3.5 ทำให้เขาได้เงินเกือบสี่แสนบาท มีต้นทุนประมาณสองแสนบาท

ปีแรกได้วัตถุดิบฟรี แต่พอปีที่สอง กำไรลดลงหน่อย เพราะต้องซื้อวัตถุดิบ เกษตรกรเขารู้ว่าเราเอามาทำแล้วขายได้” สุริยะ ย้อนความด้วยรอยยิ้มและเล่าต่อว่า ต้นทุนปีต่อมาเริ่มคงที่ วัตถุดิบไหนราคาแพง ก็จะหาวัตถุดิบอื่นที่ถูกกว่า อย่ามองว่ากิโลกรัมละบาทสองบาทน้อย เพราะเวลาสั่ง สั่งมาเป็นตัน มันลดได้เยอะ ลดได้เป็นพัน”

โดยทั่วไปการเลี้ยงวัวขุนไขมันแทรกที่ใช้อาหารสำเร็จรูปมีต้นทุน 80-90 บาท/ตัว/วัน ขณะที่ “สุนิสาฟาร์ม” มีต้นทุนอยู่ที่ 45-50 บาท/ตัว/วัน จากการใช้วัสดุการเกษตรตามฤดูกาล

อาหารสำเร็จรูปมีโปรตีนที่แน่นอน แต่ที่ฟาร์มเลี้ยงด้วยอาหารผสม วัวกินได้มากขึ้น โปรตีนโดยรวมใกล้เคียงกันมาก ซึ่งวัตถุดิบที่ได้เอามาปรับสภาพด้วยจุลินทรีย์หมักให้มีโปรตีนเพิ่มขึ้น ช่วยย่อยอาหารให้ง่ายต่อการกิน วัวได้สารอาหารครบ คุณภาพวัวส่งขายได้เกรด 3.5-4”

“สุนิสาฟาร์ม” เน้นใช้วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นและปรับประยุกต์ใช้เพื่อทำอาหารหมัก เช่น ช่วงใดมีมันสำปะหลังมากจะใช้มันสำปะหลังเป็นหลัก หรือหากมันขาดแคลนจะใช้กล้วย ซึ่งจากประสบการณ์ของ สุริยะ ทำให้รู้ว่าวัตถุดิบแต่ละอย่างมีปริมาณโปรตีนและพลังงานเท่าใด ต้องผสมสัดส่วนอย่างไรหรือเสริมอาหารสำเร็จรูปเพื่อให้ได้คุณค่าสารอาหารที่เหมาะกับวัวในแต่ละช่วงน้ำหนัก โปรตีนในอาหารที่ต้องให้วัวอย่างต่ำอยู่ที่ 12% ต่อมื้อ ส่วนพลังงานให้มากเท่าไหร่ยิ่งดี”

วัตถุดิบแต่ละอย่างที่ได้มาทั้งเปลือกข้าวโพด ข้าวโพดอ่อน ข้าวโพดหวาน ฟักทอง กล้วย หรือมันสำปะหลัง สุริยะ จะนำลงถังหมักขนาด 150 ลิตร โรยจุลินทรีย์ 10 กรัมไว้ด้านบน แล้วปิดถังหมักทิ้งไว้ 7-10 วันก่อนนำไปเททับบนรำข้าว กากปาล์มและฟางในรางอาหารของวัว หากเป็นมันสำปะหลังสดจะหมักทิ้งไว้ 15 วัน เพื่อลดไซยาไนด์ในมันสำปะหลัง

การใช้เทคโนโลยีนี้ไม่ยาก สนุกด้วยซ้ำ เวลาทำก็ได้ลุ้นผลวิเคราะห์จากม.พะเยาด้วยว่าจะเป็นอย่างไร เราเองได้สังเกตการกินของวัว หรือแม้แต่วัวที่ส่งขาย ตัวไหนมีเกรดไขมันดีเพราะอะไร สิ่งเหล่านี้จะสอนเราเอง ได้ความรู้และพัฒนาสูตรอาหารไปในตัว”

สุริยะ ส่งต่อความรู้และประสบการณ์การเลี้ยงโคขุนโดยใช้อาหารหมักจากวัสดุการเกษตรที่หาได้ในพื้นที่เป็นตัวเสริม ให้กับเพื่อนสมาชิก กลุ่มเลี้ยงโครวมพลคนดอยโตน” และเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวในพะเยา ลำปาง สระแก้ว หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

เกษตรกรต้องมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ไม่อย่างนั้นจะเป็นลูกค้าหรือลูกไล่บริษัทหรือฟาร์มใหญ่ที่ทำอาหารสำเร็จรูปมาขาย แต่ถ้าพึ่งตัวเองได้ด้วยเทคโนโลยีด้วยผลวิเคราะห์ ไม่จำเป็นต้องไปใช้อาหารสำเร็จรูปเลย”

สวทช. สนับสนุน ดร.ขรรค์ชัย ดั้นเมฆ คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา วิจัยและพัฒนาการผลิตอาหารสัตว์ต้นทุนต่ำจากเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ปัจจุบันผลงานวิจัยดังกล่าวได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชน ผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์หมักอาหารสัตว์สำหรับหมักวัตถุดิบประเภทแป้งและประเภทเยื่อใย

 

โคขุน ขุนโคด้วยอาหารหมักคุณภาพ