Project Background

หลังจากการปิดตัวลงของ “เหมืองผาแดง” ที่แม่สอด จ.ตาก ซึ่งเคยเป็นแหล่งถลุงแร่โลหะสังกะสีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ  และนำมาซึ่งการสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศโดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนานกว่าสามสิบกว่าปีซึ่งต่อมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงมีแนวพระราชดำริให้ดำเนินการจัดสร้างสวนพฤกษศาสตร์ในโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดตาก ซึ่งทรงมีพระราชปณิธานแน่วแน่ในการที่จะสนับสนุนงานด้านพฤกษศาสตร์ การอนุรักษ์ และงานด้านสวนพฤกษศาสตร์ ได้ทรงมุ่งหวังที่จะให้สวนพฤกษศาสตร์ผาแดงมีลักษณะเช่นเดียวกับ สวนพฤกษศาสตร์ Eden Project  สหราชอาณาจักร ซึ่งได้พัฒนาขึ้นอย่างสวยงามจากพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองมาแล้วเช่นเดียวกับเหมืองผาแดง เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ เป็นสถานที่รวบรวมพันธุ์ไม้ของผืนป่าตะวันตกของประเทศไทย ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างรายได้ให้กับชุมชนที่อยู่โดยรอบโครงการ

โดยความก้าวหน้าของการดำเนินงานสนองแนวพระราชดำริในการจัดสร้างสวนพฤกษศาสตร์ในพื้นที่โครงการฯ ซึ่งกรมป่าไม้ ได้ร่วมกับ ดร.วีระชัย ณ นคร ที่ปรึกษาการจัดสร้างสวนพฤกษ์ศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการจัดทำกรอบแนวคิดและออกแบบผังการจัดสร้างสวนพฤกษศาสตร์ โดยจำแนกการดำเนินงานเป็นพื้นที่ต่างๆ จำนวน 5 ลักษณะพื้นที่ รวมทั้งสิ้น 970 ไร่

พื้นที่การดำเนินงานแบ่งเป็น
  • Zone A พื้นที่ก่อสร้างสระมรกตและป่าดึกดำบรรพ์ เนื้อที่ 200 ไร่
  • Zone B พื้นที่ก่อสร้างน้ำตกเทียม เนื้อที่ 100 ไร่
  • Zone C พื้นที่ก่อสร้างกลุ่มอาคารเรือนกระจก เนื้อที่ 200 ไร่
  • Zone D พื้นที่สำหรับการฟื้นฟูป่า เนื้อที่ 300 ไร่
  • Zone E พื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำผาแดง เนื้อที่ 160 ไร่
  • Zone F พื้นที่ทางเข้าสวนพฤกษ์ศาสตร์ เนื้อที่ 10 ไร่

และคาดหวังว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นอีกหนึ่งแลนมาร์คสำคัญของจังหวัดตาก และเป็นสวนพฤกษ์ศาสตร์ชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกด้วย

Dream and Mission

เพื่อสานต่อพันธกิจสำคัญดังกล่าว ทางทีมวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และทีม จนท. โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ฯ ได้ทำการสำรวจพื้นที่สำคัญรอบบริเวณโครงการสวนพฤกษ์ศาสตร์ผาแดง และได้ชุดข้อมูลสำคัญที่สามารถทำงานร่วมกันเพื่อฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมในหลากหลายด้าน  อาทิเช่น

  • จังหวัดตากเป็นพื้นที่ ที่มีสัดส่วนของพื้นที่ป่ามากเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย
  • จังหวัดตากเป็นพื้นที่ ที่บ่อยครั้งมีการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ (New Species) ในหลากหลายพื้นที่
  • จังหวัดตากเป็นพื้นที่ ที่มีปริมาณถ้ำมากเป็นอันดับ 6 ของประเทศไทย ซึ่งระบบนิเวศทั้งในและนอกถ้ำ เป็นอีกหนึ่งความหลากหลายทางชีวภาพสำคัญของธรรมชาติโดยเฉพาะกลุ่มสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก และยังมีการสำรวจความหลากหลายดังกล่าวเพียง 20% จากพื้นที่ทั้งหมดทั่วประเทศ

จากข้อมูลดังกล่าวจึงสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการวิจัยทางด้านทรัพยากรชีวภาพของแต่ละประเทศ เพื่อการบริหารจัดการอย่างมีคุณภาพและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยสิ่งมีชีวิตประเภทจุลินทรีย์นั้นถือได้ว่าเป็นทรัพยากรชีวภาพที่สำคัญ ที่ได้รับความสนใจไม่น้อยกว่าทรัพยากรชีวภาพอื่นๆเพราะสามารถประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมิติ ซึ่งได้แก่ ด้านการเกษตร อาหารคนและอาหารสัตว์ สุขภาพและการแพทย์ พลังงานและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น  ก่อให้เกิดผลกระทบสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย จังหวัดตาก จึงเป็นหมุดหมายสำคัญของพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ นำมาซึ่งโอกาสเข้าถึงแหล่งองค์ความรู้ใหม่ๆที่ยังไม่เคยมีการศึกษาในประเทศไทยนำมาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนอีกด้วย

ด้วยเหตุและผลดังกล่าวทางคณะทำงานอันประกอบไปด้วยหน่วยงานหลักจาก  ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. โดย ดร. นัฐวุฒิ บุญยืน นักวิจัย ทีมวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร  ร่วมกับ โครงการเพื่อนสวนพฤกษ์ (Forest Friends Project) ภายใต้โครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (เหมืองผาแดง)  อ.แม่สอด จ.ตาก  โดย นาย กานดิษฏ์ สิงหากัน หัวหน้าโครงการส่งเสริม การเรียนรู้ฯ ได้พัฒนาโครงการทดลองและนำร่อง ในการพัฒนาวัสดุคอมโพสิตโดยใช้เทคโนโลยีด้านเส้นใยไมซีเลี่ยม (Mycelium) ขึ้นรูปจากเศษวัสดุทางการเกษตรและเศษใบไม้ในพื้นที่แนวกันไฟเพื่อเป็นการเชื่อมโยงแบบบูรณาการกับแผนยุทธศาสตร์หลักของโครงการ อันได้แก่

  • ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ด้านแหล่งท่องเที่ยว
  • ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ด้านศูนย์กลางทางวิชาการ การฝึกอบรมและเผยแพร่
  • ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ด้านการสร้างความเข้าใจและประชาสัมพันธ์
  • ยุทธ์ศาสตร์ที่ 7 : ด้านพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจชุมชน

ด้วยแนวคิด from BCG to Creative and Sustainable Economy TAK เพื่อมุ่งสู่การแก้ปัญหา PM 2.5 ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ  และช่วยให้เกิดการเพิ่มมูลค่าต่อยอดสู่เศรษฐกิจการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อย่างยั่งยืนของชุมชน จังหวัดตาก โดยจัดแบ่งเป็นโครงงานทดลอง 3 โครงงาน  ที่เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงยั่งยืน  โดยใช้นวัตกรรมด้าน BCG มาเป็นส่วนประกอบสำคัญดังนี้

โครงการที่ 1 : ผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากเศษวัสดุทางการเกษตรรักษ์โลก “ZERO POLLUTION ZEBRA”

เป็นโครงการนำร่องในการพัฒนานวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่สร้างคุณค่าร่วม ทั้งในด้านวัฒนธรรมและด้านสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน โดยมิติด้านสิ่งแวดล้อมนั้นจะมุ่งเน้นการนำเศษวัสดุเหลือทิ้งจากกลุ่มพืชไร่เกษตรเชิงเดี่ยว กลุ่มข้าวโพดและก้อนเห็ดเก่า  มาขึ้นรูปด้วยเส้นใยเห็ดราจนเกิดเป็นรูปทรงตุ๊กตาที่ทดแทนกลุ่มตุ๊กตาปูนพลาสเตอร์และซีเมนต์ที่ย่อยสลายได้ยากและเป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 มาสู่ผลิตภัณฑ์ตุ๊กตาต้นแบบรูปแบบใหม่ที่ย่อยสลายได้ง่าย  ช่วยปรับปรุงดิน ช่วยฟื้นฟูสภาพป่าด้วยจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์และเป็นแร่ธาตุสำคัญให้กับพืชต่างๆ ซึ่งมีลักษณะคล้ายการทำ Seeding Ball รวมถึงเป็นการช่วยลดปริมาณการเผาวัสดุเหลือทิ้งในภาคการเกษตรอีกด้วย  ในมิติด้านวัฒนธรรม  ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนี้ยังสามารถประยุกต์ใช้เป็นของที่ระลึกสำหรับชุมชนที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปทรง เรื่องราวของกิจกรรมให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้นๆได้อีกด้วย ซึ่งการได้รับรางวัลด้าน Climate Action (Good for Planet) จากเวที ADMAN AWARDS & SYMPOSIUM 2023 ร่วมกับภาคเอกชนในครั้งนี้จึงถือเป็นการยืนยันถึงความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์นี้อย่างแท้จริง

โครงการที่ 2 : ผลิตภัณฑ์ต้นแบบกระดาษโฉมใหม่จากเศษกาแฟรักษ์ป่า

เป็นโครงการนำร่องในการพัฒนาวัสดุและกิจกรรมต้นแบบเพื่อการท่องเที่ยวสีเขียว (Green Tourism) ของชุมชน  ร่วมกับชุมชนป่าต้นน้ำ ดอยมูเซอ บ้านห้วยปลาหลด ต.ด่านแม่ละเมา  อ.แม่สอด จ.ตาก  ซึ่งเป็นพื้นที่กาแฟรักษ์ป่าภายใต้โครงการเกษตรตามแนวพระราชดำริ  และโรงเรียนบ้านสันป่าไร่ ต.พระธาตุ อ.แม่สอด จ.ตาก  ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนดีเด่นด้านสิ่งแวดล้อม  อีกทั้งเป็นหนึ่งในภาคีสำคัญของโครงการค่ายเยาวชนรักษ์พงไพรฯ  จ.ตาก  โดยทำการทดลองวัสดุศิลปะต้นแบบจากกระดาษทำมือ ซึ่งใช้ส่วนผสมของผลกาแฟเหลือทิ้งจากขั้นตอนการแยกเมล็ดกาแฟ และเห็ดตกเกรดหมดอายุในท้องตลาด  มาต่อยอดและเชื่อมโยงไปสู่สินค้าด้านหัตถกรรมท้องถิ่นที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมรวมถึงแผนงานกิจกรรมการท่องเที่ยวสีเขียว (Green Tourism) ของชุมชนผ่านห่วงโซ่คุณค่าของเครือข่ายกาแฟป่า จ.ตาก ซึ่งมีขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อนและง่ายพอสำหรับเด็กๆและเยาวชนในพื้นที่  ให้มาเรียนรู้และมีส่วนร่วมที่สอดแทรกคุณค่าและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังสามรถต่อยอดขยายผลในการทำกระดาษร่วมถึงวัสดุท้องถิ่นอื่นๆที่สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสิ่งแวดล้อมได้อีก เช่น วัสดุจากมูลช้าง วัสดุจากเศษใบไม้ในป่าชุมชน  ซึ่งการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือทิ้งเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ไฟไหม้ป่า เป็นต้น  แต่ยังเพิ่มช่องทางรายได้ทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบให้กับชุมชนทั้งในรูปแบบกิจกรรมการท่องเที่ยว  วัตถุดิบเพื่อผลิตชิ้นงานแนวรักษ์โลก  รวมถึงสินค้าแปรรูปด้านหัตกรรมได้อย่างหลากหลาย   โครงการกระดาษจากเศษกาแฟรักษ์ป่าจึงเป็นตัวอย่างของการนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม  ต่อยอดกระบวนการด้านการศึกษาและสร้างรายได้เพิ่มให้กับสินค้าและบริการภายในชุมชนท้องถิ่นอย่างรับผิดชอบและยั่งยืน

โครงการที่ 3 : ผลิตภัณฑ์ต้นแบบอิฐมวลเบารักษ์โลก Eco Bricks

เป็นโครงการนำร่องในการพัฒนาวัสดุและอาคารที่พัก (Homestay) ต้นแบบจากเศษวัสดุทางการเกษตรโดยเฉพาะกลุ่มพืชไร่ข้าวโพด กากกาแฟและก้อนเห็ดเก่าร่วมกับชุมชนและโรงเรียนด้านสิ่งแวดล้อมของ จ.ตาก  ในการสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวสีเขียว (Green Tourism) ชุมชนแนวใหม่ ที่เปิดโอกาสให้คนได้อยู่ร่วมกับพืชและสัตว์ และช่วยให้เกิดมุมมองใหม่ๆให้คนดูเเลธรรมชาติจากใจมากขึ้น โดยสอดแทรกทั้งกิจกรรม 

องค์ความรู้ของหน่วยงานสำคัญทั้ง สวทช. กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ  และชุมชน ร่วมกันได้อย่างสร้างสรรค์และยั่งยืนดังนี้ องค์ความรู้ของหน่วยงาน สวทช.  จะมุ่งเน้นการพัฒนาประโยชน์ด้วยวัสดุชีวภาพจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรโดยใช้กาวธรรมชาติจากเส้นใยเห็ดราเป็นตัวประสานในการขึ้นรู จึงเป็นการพัฒนานวัตกรรมใหม่ที่สามารถนำมาใช้ในการสร้างอาคารที่พักและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ในอนาคตโดยเฉพาะการนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เปราะบางด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น เขตพื้นที่อุทยานต่างๆ  ซึ่งมีความเข้มงวดในการป้องกันสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ  ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียนและความยั่งยืนของโลก

องค์ความรู้ของหน่วยงานกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ จะมุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่ป่าชุมชนที่ช่วยขยายพื้นที่ป่าจากพืชนำร่องร่วมกับนวัตกรรมวัสดุเพื่อเป็นบ้านที่ปลอดภัยของต้นไม้ เช่น กลุ่มกล้วยไม้ป่า  กลุ่มไม้ยาง กลุ่มเห็ดป่าเป็นต้น  รวมถึงการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ในพื้นที่ร่วมกับนวัตกรรมวัสดุเพื่อเป็นบ้านที่ปลอดภัยของแมลงและนก เช่น ผึ้ง ชันโรง และนกโพรงบางประเภท เป็นต้น จึงเป็นการพัฒนาแนวทางการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับธรรมชาติรูปแบบใหม่ของประเทศไทย

องค์ความรู้สู่ชุมชน จะมุ่งเน้นการส่งเสริมพื้นที่เกษตรและป่าชุมชนเพื่อต่อยอดโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยวสีเขียว (Green Tourism) ชุมชนแนวใหม่  ก่อให้เกิดช่องรายได้เพิ่ม  สร้างความตระหนักรู้ของคุณค่าพื้นที่บ้านเกิด  และสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกันกับระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตต่างๆอย่างยั่งยืน