การพัฒนาเชิงพื้นที่ คือ การบริหารจัดการพื้นที่ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ ภาควิชาการและองค์กรพัฒนาต่างๆ จากปัญหาที่สะท้อนโดยชุมชน ลำดับความสำคัญของปัญหา สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ดำเนินงานในลักษณะทำไป ปรับไป เรียนรู้ไป เพื่อให้เกิดการพัฒนารูปแบบและกลไกการทำงานที่สามารถจัดการประเด็นปัญหาหรือความต้องการของพื้นที่ได้อย่างแท้จริง การดำเนินงานจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจ ก่อให้เกิด สร้างให้มีขึ้นและรักษาให้ยั่งยืนโดยคนในชุมชน

การพัฒนาเชิงพื้นที่มุ่งเป้าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Area Based Approach)

“การพัฒนาเชิงพื้นที่” เป็นอีกหนึ่งภารกิจหลักของสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ที่ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 ซึ่ง สท. ได้วิเคราะห์สถานภาพ บริบทและความต้องการเทคโนโลยีในแต่ละพื้นที่ ประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องในชุมชน หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ กำหนดโจทย์และแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งภายในและภายนอก (ภาครัฐ-เอกชน-ชุมชน) เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนกระตุ้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้ในชุมชนและระหว่างชุมชน พัฒนาและบริการกลไกการทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น ภาครัฐ องค์กรอิสระ เอกชนและสถาบันการเงินอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดการพัฒนาตลอดห่วงโซ่

สท. ได้กำหนดพื้นที่โดยมีเป้าหมาย 2 ด้าน ได้แก่

• การสร้างอาชีพและสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ ชุมชนมีความรู้และได้รับการพัฒนาทักษะที่สามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ ความมั่นคงด้านอาชีพและรายได้

• การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างฉลาด โดยใช้ให้น้อยแต่เกิดประโยชน์สูงสุด คำนึงถึงระยะเวลาการใช้ให้ยาวนานและก่อให้เกิดผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด รวมทั้งการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนทั้งในเมืองและชนบทที่บริหารจัดการท่องเที่ยวในทิศทางที่ยั่งยืน ดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอันเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน

ท้้งนี้ สท. ได้สร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาคเอกชน ดำเนินงานโครงการ “การพัฒนาเศรษฐกิจด้วย BCG Model พื้นที่นำร่องทุ่งกุลาร้องไห้ (ปี พ.ศ.2567-2571)” ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ ยโสธรและมหาสารคาม