“ใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด ปลูกทุกอย่างที่เรากิน กินทุกอย่างที่เราปลูก” เป็นแนวทางหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของตำบลบัวใหญ่ อ.นาน้อย จ.น่าน ที่ ฑิฆัมพร กองสอน หรือที่คนในพื้นที่เรียกติดปากว่า แม่กำนัน ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลบัวใหญ่ ได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายผลักดันให้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2554 โดยมีข้อมูลคนบัวใหญ่ป่วยด้วยโรคมะเร็งเป็นอันดับ 1 ของ อ.นาน้อย เป็นแรงผลักให้เธอส่งเสริมคนในพื้นที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ 1 ไร่

“ถ้าปลูกทุกอย่างที่เรากินใน 1 ไร่ และกินทุกอย่างที่เราปลูกในนั้น อันดับแรกที่จะได้คือ สุขภาพ ถ้าทำอินทรีย์จะเผื่อแผ่ไปให้คนรอบข้างและสิ่งแวดล้อม สารพิษที่ไหลลงแม่น้ำก็ไม่มี และเมื่อปลูกแบบผสมผสาน สิ่งที่จะได้ตามมาคือ ป่า” แม่กำนัน อธิบายถึงแนวคิดที่ตอบโจทย์ทั้งสุขภาพ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

โครงการ 1 ไร่เกษตรอินทรีย์ เป็นเข็มทิศที่พาชุมชนสร้างสุขภาพที่ดี แต่ยังไม่อาจตอบโจทย์เรื่องหนี้สินให้ชาวบ้านได้ เมื่อพืชที่ปลูกแตกต่างกันไป ต่างคนต่างปลูกและที่สำคัญคือ ไม่มีตลาด ทำให้ แม่กำนัน หาพันธมิตรและสร้างเครือข่ายการทำงานจนยกระดับการทำงานสู่ระดับจังหวัดในปี 2559 ภายใต้ “เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์น่าน” โดยมีโครงการ 1 ไร่เกษตรอินทรีย์เป็นตัวขับเคลื่อน และใช้ “ฟักทอง” เป็นผลผลิตนำ ด้วยข้อมูลจังหวัดน่านเป็นแหล่งผลิตฟักทองพันธุ์ลูกผสมส่งตลาดกรุงเทพฯ เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ

“แม่ก็ชวนชาวบ้านบัวใหญ่มาปลูกฟักทองลูกผสมคนละ 1-2 ไร่ มีคนสนใจประมาณ 20 คน ปีแรกที่ชวนกันปลูกก็ใช้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS (Sustainable Development Goals Participatory Guarantee System) เป็นตัวควบคุมมาตรฐานเพื่อให้ตลาดรับซื้อยอมรับ เพราะว่าพื้นที่เราอยู่ในเขตป่าสงวน ไม่เข้าหลักมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อื่น” แม่กำนัน บอกเล่าถึงการปลูกฟักทองส่งตลาดครั้งแรกของพื้นที่บัวใหญ่ ซึ่งได้ผลผลิตถึง 8 ตัน และสามารถส่งจำหน่ายให้ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ได้ในกิโลกรัมละ 18 บาท ขณะที่ราคาผลผลิตปลูกระบบเคมีราคากิโลกรัมละ 1-2 บาท

แม้มีตลาดที่สร้างความเชื่อมั่นให้ชาวบ้านแล้ว แต่ แม่กำนัน ยังเดินหน้าทำเรื่องฟักทองโดยเฉพาะพันธุ์พื้นเมืองที่ชื่อว่า “ไข่เน่า” ด้วยฝังใจในความอร่อยที่ได้ลิ้มลองมาแต่เด็ก บวกกับเสียงชื่นชมจากคนที่ได้ชิม “ทำไมฟักทองที่นี่อร่อย” เธอจึงอยากให้ฟักทองพันธุ์นี้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

“ไข่เน่า ทรงกลม แบน หรือกลมมน เวลาผ่าถึงจะรู้ว่าเป็นไข่เน่า เนื้อเหลืองอมเขียวคล้ำๆ ผ่าแล้วไปนึ่ง เนื้อแน่นๆ เหนียวหนึบ ไม่ยุ่ย รสชาติหวานมัน” แม่กำนัน บอกถึงคุณลักษณะของฟักทองพื้นเมืองพันธุ์นี้ นอกจากพันธุ์ไข่เน่าแล้ว ที่น่านยังมีพันธุ์ค้อนโคก พันธุ์ซาวกลีบ (20 เหลี่ยม) ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองที่ชาวบ้านนิยมปลูกในช่วงฤดูฝน โดยปลูกตามไร่ข้าวหรือตามหัวไร่ปลายนาเพื่อบริโภคในครัวเรือน

“สมัยก่อนทุกอย่างต้องปลูกเอง ช่วงฤดูฝนก็จะปลูกฟัก แฟง แตงไทย ปลูกคนละ 5-6 ต้น คนโบราณกำหนดชื่อพันธุ์ตามรูปร่าง ลักษณะ และสีผิว ฟักทองที่นี่มีหลายรูปร่างลักษณะ มีทั้งยาวแบบงาช้าง ทรงรี ทรงระฆัง ฯลฯ แต่แม่อยากอนุรักษ์พันธุ์ไข่เน่าเพราะอร่อย และทุกวันนี้เริ่มสูญหาย ไม่ก็กลายพันธุ์ เช่น เนื้อไข่เน่าไปอยู่ในรูปทรงยาวๆ หรือรูปทรงอื่น ซึ่งไม่ใช่รูปทรงแบบที่ตลาดต้องการ”

ด้วยลักษณะพันธุ์ที่แปรเปลี่ยนไป ทำให้ไม่รู้ได้ว่าฟักทองไหนคือพันธุ์ไข่เน่าที่แท้จริง สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. ซึ่งมีความร่วมมือกับบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด จึงได้ชักชวนสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง เข้ามาทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อยกระดับการผลิตฟักทองพันธุ์ไข่เน่าให้ได้ผลผลิตที่สม่ำเสมอ ใช้เทคโนโลยีการคัดเลือกและเก็บเมล็ดพันธุ์ การปลูกและบริหารจัดการแปลงที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ

“สี รสชาติ และรูปร่างแป้น” คือ โจทย์ที่ แม่กำนัน ให้ไว้กับทีมวิจัย ซึ่งได้ร่วมกับชาวบ้านคัดเลือกลักษณะพันธุ์ไข่เน่าให้ตรงตามเอกลักษณ์ ขณะเดียวกันต้องสอดคล้องกับความต้องการตลาด โดยเลือกจากรูปร่างผล สี คุณลักษณะและรสชาติ จนได้ฟักทองพันธุ์ไข่เน่าเบอร์ 6, 18 และ 19 นำไปปลูกคัดเลือกสายพันธุ์ในแปลงสาธิต 4 แปลงในต.บัวใหญ่ ต.นาซาว และต.สถาน

“ช่วงเรียนรู้คัดพันธุ์ไข่เน่าก็ยากนะ เพราะเราไม่ใช่นักวิชาการ แปลงพร้อม ปลูกได้งาม แต่ตอนผสมเกสรมันยาก มันไม่ใช่จริตของเราที่จะผสมมือ แต่ก็มีแปลงสมาชิกที่ทำได้ เดิมเราก็เก็บเมล็ดแบบชาวบ้าน อันนี้เป็นความรู้ที่มาเติมให้เกษตรกร วันหน้าเกษตรกรต้องเป็นมืออาชีพแน่นอน” แม่กำนัน เล่าด้วยรอยยิ้มและบอกต่อว่า ไม่เพียงจะได้สายพันธุ์ตรงตามที่ต้องการแล้ว แต่กระบวนการดังกล่าวได้สร้างความรู้การผลิตฟักทองให้ชาวบ้านและที่สำคัญคือ สร้างผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ในชุมชน

“เป็นความตั้งใจของเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์น่านที่จะพัฒนาคนในพื้นที่ ถ้าได้พันธุ์ไข่เน่าตามที่ต้องการแล้ว และเราสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์เองได้ เราก็ปลูกฟักทองอินทรีย์ตั้งแต่ต้นทาง โดยส่งต่อเมล็ดพันธุ์ให้เครือข่ายและสมาชิกในจังหวัด และถ้าต่อไปมีเมล็ดพันธุ์พอ ก็จะปลูกส่งขายแค่พันธุ์ไข่เน่า”

ไม่เพียงต้องการอนุรักษ์ฟักทองพื้นเมืองพันธุ์ไข่เน่าให้ยังคงอยู่ในจังหวัดน่าน หาก แม่กำนัน ยังตั้งเป้าให้ฟักทองพื้นเมืองสายพันธุ์นี้เป็นจุดขายของจังหวัด ทั้งการยื่นจดทะเบียนพันธุ์พืช การขอรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) และการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยฟักทองพื้นเมืองนี้ “ใครต้องการกินฟักทองไข่เน่าอร่อยที่สุดในโลก ต้องมากินที่น่าน”

แม้การขับเคลื่อนฟักทองอินทรีย์ในจังหวัดน่านจะยังไม่สิ้นสุด แต่การทำงานของ แม่กำนัน และเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์น่าน กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้คนในพื้นที่ทั้งด้านสังคม สุขภาพ รายได้และสิ่งแวดล้อม เป็นการทำงานที่ แม่กำนันบอกว่าเป็นการขยับเศรษฐกิจฐานรากให้กับประเทศก็ว่าได้

# # #

สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) และเครือข่ายพันธมิตร ทำงานร่วมกับวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลบัวใหญ่ อ.นาน้อย จ.น่าน ไม่เพียงการคัดเลือกพันธุ์ฟักทองพื้นเมือง หากยังส่งเสริมความรู้การจัดการการผลิตฟักทองแบบครบวงจรตั้งแต่การปลูก การผลิตเมล็ดพันธุ์และการแปรรูป โดยนำฟักทองตกเกรดแปรรูปเป็นฟักทองผง ไส้ขนมและข้าวเกรียบ สกัดน้ำมันเมล็ดฟักทอง รวมถึงนำผลและเปลือกฟักทองเหลือทิ้งมาหมักเป็นอาหารสัตว์

วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลบัวใหญ่ อ.นาน้อย จ.น่าน
โทรศัพท์ 086 9037468
(ข้อมูลสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564)

ดาวน์โหลด แผ่นพับ “ปลูกฟักทองระบบปลอดภัย ผลผลิตงาม คุณภาพดี”

 

“ไข่เน่า” ฟักทองพื้นเมือง หัวเรือเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก