“ได้ลงมือทำ ได้เห็นความเบิกบานและการเจริญเติบโตของพืชผักในทุกวัน” คือนิยามความสุขการทำเกษตรของ จุฬารัตน์ อยู่เย็น สาวน้อยบ้านทุ่งโป่ง ต.เมืองปาน อ.เมืองปาน จ.ลำปาง แต่กว่าที่จะสัมผัสถึงความสุขนี้ได้ เธอต้องฟันฝ่ากับความคาดหวังของใครต่อใคร เพื่อไปให้ถึงความพอดีของชีวิตบนเส้นทางเกษตรที่เธอเลือก

ชีวิตที่เติบโตในชุมชนที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และผลิตเมล็ดพันธุ์ส่งบริษัท ผลผลิตมากมายแต่รายได้ที่ครอบครัวเธอและชาวบ้านได้รับกลับสวนทาง จึงเป็นแรงผลักให้ จุฬารัตน์ ฝันที่จะเป็นนักส่งเสริมการเกษตรของบริษัท ด้วยหวังกลับมาช่วยชุมชนให้มีรายได้มากขึ้น เธอจึงตั้งใจเข้าเรียนที่คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อนำทางสู่อาชีพในฝัน

“จากที่เคยเห็นแต่ข้าวโพด พอเข้ามาเรียนทำให้เห็นว่ามีหลายพืชมากทั้งผัก ไม้ผล ไม้ประดับ รุ่นพี่ก็แนะนำให้เรียนสาขาพืชผัก เพราะเป็นพืชที่คนเรากินทุกวันและมีงานให้ทำได้หลายอย่าง”

ช่วงปลายของการเรียน จุฬารัตน์ รับรู้ว่ามีรุ่นพี่คณะเข้าร่วม “โครงการพัฒนาทักษะผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่” ได้ฝึกงานกับบริษัทเมล็ดพันธุ์และได้กลับไปทำงานที่บ้านเกิดด้วย เธอจึงติดตามกิจกรรมของโครงการฯ และตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯ ในรุ่นที่ 2 โดยไม่ลังเล และได้ไปเรียนรู้งานกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ลักกี้ซีดส์อะโกร เป็นเวลา 6 เดือนก่อนกลับคืนถิ่น

“ได้ความรู้เยอะมาก มันคือประสบการณ์ เหมือนได้ซ้อมมือก่อนกลับบ้าน อาจารย์ลิขิต มณีสินธุ์ ตั้งคำถาม ชวนให้คิด ลงมือทำและแก้ปัญหาการทำแปลงพริก แตงโม บวบ แตงกวา มะเขือเทศ ได้ดูแลเองทุกขั้นตอน ซึ่งที่นี่ทำแปลงทดสอบพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์ ทำให้ได้เทคนิคปรับปรุงพันธุ์มาด้วย”

จากหนึ่งเมล็ดพันธุ์เติบโตเป็นพืชผักที่สมบูรณ์และกลับสู่เมล็ดเพื่อรอวันเติบโตใหม่ ระหว่างทางแห่งการเติบโตมีปัจจัยที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ที่ต้องหาทางรับมือ ไม่ต่างจากชีวิตหลังคืนถิ่นของ จุฬารัตน์ ที่ไม่ได้กลับไปในบทบาทนักส่งเสริมเกษตรของบริษัท แต่กลายเป็นเกษตรกรเต็มตัว

“อย่างแรกที่คิดทำ คือ ต้องมีโรงเรือน เพื่อใช้เพาะกล้า ตากเมล็ดพันธุ์และปลูกผักในหน้าฝน ก็ได้พ่อช่วยทำโรงเรือนแบบง่ายๆ ให้หนึ่งโรงเรือน เราไม่มีเงินซื้อยาฆ่าแมลงหรือปุ๋ยเคมี หาวิธีทำเองง่ายๆ ที่บ้านมีขี้วัว มีฟางอยู่แล้ว ก็เลยกลายเป็นทำอินทรีย์ไปในตัว”

ครึ่งปีแรกที่กลับมาสร้างอาชีพของตัวเอง จุฬารัตน์ ปลูกผักสวนครัวได้ผลผลิตให้แม่นำไปขายที่ตลาด แม้มีรายได้ถึงวันละ 500 บาท แต่สายตาและคำพูดจากคนในชุมชนที่ส่งถึงแม่ของเธอ กลับสั่นคลอนความสุขในชีวิตเกษตรกรที่กำลังเริ่มขึ้น  

“ชาวบ้านก็ว่าเรียนจบสูงไม่ไปทำงาน แม่อยากให้ไปทำงานสบายๆ นั่งในห้องแอร์ ไม่ต้องมาตากแดด ไล่ให้ไปทำงาน พูดบ่อยเข้าก็เลยตัดสินใจทิ้งสวนเข้ากรุงเทพฯ”

จุฬารัตน์ เข้ากรุงเทพฯ ด้วยเงินติดตัว 2,000 บาท เพื่อหางานออฟฟิศทำอย่างที่แม่หวัง เธออาศัยอยู่กับเพื่อนในเมืองกรุงได้เพียงสัปดาห์เดียวกับความรู้สึก “มันไม่ใช่ชีวิตที่ต้องการ” จึงตัดสินใจกลับคืนถิ่นอีกครั้ง ลุยงานสวนที่ทำไว้โดยไม่สนใจคำพูดของใคร และเป็นช่วงจังหวะที่สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. ได้ลงพื้นที่ติดตาม “โครงการพัฒนาทักษะผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่” เธอจึงเขียนโครงการขอสนับสนุนงบประมาณโรงเรือนพลาสติกเพื่อการผลิตพืชผักคุณภาพ ระบบน้ำ และโซล่าร์เซลล์ เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ตามเป้าหมายที่วางไว้ ลงแรงทำเองทุกอย่างทั้งไถแปลง วางระบบน้ำหรือแม้แต่ฉาบปูนแท็งค์น้ำ ความตั้งใจและมุ่งมั่นของเธอทำให้พ่อแม่ยอมรับและหันมาสนับสนุน

“เวลาที่เจ้าหน้าที่ สท./สวทช. มาบ้าน หนูมีพลังที่จะทำ หนูมองว่าเขาเป็นคนไกลตัว แต่มีความหวังดีกับเรามากๆ ตอนนั้นคิดว่าทำเพื่อ สวทช. หนูไม่อยากทำลายความหวังดีของ สวทช.”

จุฬารัตน์ ใช้พื้นที่เพาะปลูก 3 ไร่ โดยได้ขอรับรองทั้งมาตรฐาน IFOAM และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย (Organic Thailand) เธอใช้พื้นที่นอกโรงเรือนผลิตผักสดอินทรีย์นอกโรงเรือน ส่วนในโรงเรือนของ สวทช. 2 หลัง ผลิตเมล็ดพันธุ์ผักสลัดคอส   

“ปลูกผักสดทุกอย่างทั้งผักพื้นบ้าน แตงกวา บวบ ถั่ว กระเจี๊ยบเขียว มะเขือเทศ เป็นรายได้รายวัน แม่เอาไปขายตลาดในชุมชนได้วันละ 200-300 บาท ถ้าไปตลาดอินทรีย์ในเมืองได้วันละ 1,000-2,000 บาท ส่วนเมล็ดพันธุ์เป็นรายได้รายปี ได้ออเดอร์จากศูนย์การเรียนรู้การผลิตเมล็ดพันธุ์ผักเกษตรอินทรีย์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ปีแรกทำส่งได้ 17 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 10,000 บาท หลังส่งคัดเมล็ดแล้ว มีรายได้ 1.6 แสนบาท”

นอกจากสลัดคอสแล้ว จุฬารัตน์ ยังได้ออเดอร์ผลิตเมล็ดพันธุ์แตงกวาในปีต่อมา ขณะเดียวกันเธอยังได้เก็บเมล็ดพันธุ์ผักพื้นเมืองไว้ใช้เองและแจกให้คนในชุมชน เช่น กระเจี๊ยบ บวบ พริก ด้วยมองเห็นความสำคัญของเมล็ดพันธุ์ที่เป็นต้นน้ำของแหล่งอาหารและความยั่งยืนของทรัพยากรท้องถิ่น

เกือบ 3 ปีแล้วที่ จุฬารัตน์ กลับบ้านสร้างอาชีพตามที่หวัง ผ่านบททดสอบที่ท้าทายความมุ่งมั่นในเส้นทางเกษตร ขณะเดียวกันยังไม่ละทิ้งความตั้งใจที่จะช่วยชุมชนของเธอได้ แม้การส่งต่อความรู้ให้ชุมชนหันทำพืชผักอินทรีย์อาจยังไม่เห็นผลในเร็ววัน แต่เป็นเป้าหมายหนึ่งที่เธอตั้งใจไว้เพื่อให้ชาวบ้านปลอดภัยจากการใช้สารเคมี

“ทุกวันนี้พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ แม้ว่าจะเหนื่อย แต่มีความสุขที่ได้ทำ ได้เห็นพืชผักเติบโต จิตใจก็เบิกบานไปด้วย พอผักเป็นโรค ต้นหนึ่งรอด ต้นหนึ่งตาย ก็สอนเราอีกว่าชีวิตไม่แน่นอน เพราะฉะนั้นมีความสุขกับสิ่งที่เรามี ที่เราเป็น มันคือความพอดีของชีวิตล่ะ”

# # #

“โครงการพัฒนาทักษะผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่” เป็นความร่วมมือของ สวทช. มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ และบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ ที่มุ่งเน้นบ่มเพาะคนรุ่นใหม่สู่การเป็น “ผู้ประกอบการเมล็ดพันธุ์” ที่จะสร้างเครือข่ายการผลิตเมล็ดพันธุ์สู่ชุมชน

(ข้อมูลสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564)

จากถิ่น คืนถิ่น …เมื่อเมล็ดพันธุ์งอกงามในชุมชน