“คิดให้ไกล ไปทีละก้าว” คือแนวคิดการขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์แบรนด์ We VergiN และ Buppha ของกลุ่มวิสาหกิจเกษตรสวนดอก ต.บางยี่รงค์ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ที่มีน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นเป็นส่วนประกอบหลัก ผลิตภัณฑ์แรกของกลุ่มฯ ที่นำทางไปสู่การจัดการวัสดุเหลือทิ้งในสวนมะพร้าว

จากพนักงานบริษัทที่กลับมารับช่วงดูแลสวนมะพร้าวและลิ้นจี่ของพ่อแม่บนพื้นที่ 18 ไร่ บุปผา ไวยเจริญ คิดหาหนทางเพิ่มมูลค่ามะพร้าวจากราคาที่ตกต่ำเหลือลูกละ 3 บาท

“ช่วงปี 2555 ราคามะพร้าวตกต่ำมาก จากลูกละ 15 บาท เหลือลูกละ 3 บาท จะทำยังไงได้บ้างที่จะเพิ่มมูลค่าได้ จนได้ไปดูงานการแปรรูปมะพร้าวและได้แนวคิดกลับมาผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น”

บุปผา นำเทคนิคที่ได้จากการดูงานมาผสมผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ใช้กรรมวิธีไม่ผ่านความร้อน ทำให้ได้น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นแบบบริสุทธิ์ที่คงสารสำคัญไว้มากสุด และกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการตอบรับจากลูกค้าอย่างดี เธอจึงต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยมีน้ำมันมะพร้าวเป็นส่วนประกอบหลัก อาทิ เซรั่มบำรุงผิว สครับขัดผิว โลชั่น สบู่เหลว เป็นต้น

เปลือกมะพร้าวและกะลามะพร้าว เป็นวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการแปรรูปมะพร้าว แม้จะนำไปขายให้เกษตรกรเพื่อใช้ปลูกต้นไม้ แต่ยังมีอีกปริมาณไม่น้อยที่ไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ และด้วยความชื่นชอบผ้ามัดย้อม บุปผา จึงชักชวนสมาชิกทำผ้ามัดย้อมจากเปลือกมะพร้าวและกะลามะพร้าว โดยหวังจะได้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของกลุ่มฯ

“มาช่วยกันสับเปลือกมะพร้าวให้ละเอียด เอาไปแช่น้ำไว้ 1 เดือน แล้วกรองเอาน้ำที่ได้ไปย้อมผ้า ผ้าก็ติดสีนะ แต่ไม่สม่ำเสมอ ก็ลองวิธีใหม่ เอาผ้ามามัดลายก่อนไปย้อม สีก็ยังติดไม่ทั่วอีก”

บุปผา ไม่ละทิ้งความตั้งใจ เธอไปขอคำปรึกษาจากอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสงคราม และทำให้ได้พบทางออก เมื่อเจ้าหน้าที่สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) และนักวิจัยจากกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับกลุ่มฯ ทำให้ บุปผา และสมาชิก ได้รับรู้สาเหตุที่ทำให้การย้อมผ้าไม่สำเร็จ

“เราใช้วิธีย้อมแบบภูมิปัญญาดั้งเดิม ไม่ได้ชั่งตวงวัตถุดิบหรือควบคุมอุณหภูมิ ระยะเวลาต้ม และก็ไม่ได้ทำความสะอาดผ้าก่อนนำมาย้อม ทำให้ไม่สามารถควบคุมคุณภาพและความสม่ำเสมอของสีได้”

หลังการลงพื้นที่ของ สท./สวทช. ในวันนั้น กลุ่มฯ ได้รับการถ่ายทอด “เทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์มัดย้อมจากเปลือกมะพร้าวและจากพืชในท้องถิ่น” และ “การสกัดน้ำสีเข้มข้นเตรียมผสมสีธรรมชาติกับแป้งพิมพ์และการพิมพ์สกรีนสีธรรมชาติจากพืชในท้องถิ่น” ตั้งแต่กระบวนการเตรียมเส้นใย ผ้าผืน การทำความสะอาดผ้าด้วยเอนไซม์เอนอีซ (ENZease) เทคนิคและกระบวนการสกัดสี การย้อมสีจากเปลือกมะพร้าว ใบลิ้นจี่และพืชในท้องถิ่น การออกแบบลายมัดย้อม การพิมพ์สกรีนสีธรรมชาติ ตลอดจนถึงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีนาโน

“เราได้ความรู้ใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน เราปรับเปลี่ยนวิธีการทำทุกขั้นตอนตามที่ สวทช. แนะนำ เพราะทุกอย่างมีผลกับการควบคุมคุณภาพสีผ้า และยังได้แนวคิดการออกแบบลายมัดย้อม การสกรีนผ้า การพิมพ์สีผ้าเพื่อต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และที่สำคัญเราได้ใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบรอบชุมชนที่นำมาสกัดสีได้ ทั้งเปลือกมะพร้าวที่ได้โทนสีส้ม สีน้ำตาลอ่อน ใบมะม่วงที่ให้โทนสีเหลือง สีเขียว ต้นลิ้นจี่ที่เคยจะโค่นทิ้ง เราเอาใบมาสกัดได้โทนสีน้ำตาล ส้ม เทาและดำ กลายเป็นสร้างเอกลักษณ์ให้สินค้าของเราด้วยสิ่งที่มีอยู่รอบชุมชน และเรายังมีวัตถุดิบที่นำมาสกัดสีได้ตลอดโดยไม่ต้องซื้อจากที่อื่น”

ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจเกษตรสวนนอกมีผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติที่มีคุณภาพและสวยงาม ทั้งเสื้อผ้า หมวก ผ้าพันคอ กระเป๋า ผ้าผืน ฯลฯ ซึ่งผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติของกลุ่มฯ จำหน่ายตั้งแต่ราคา 250-650 บาท และจำหน่ายได้สูงถึงเดือนละ 30,000–60,000 บาท นอกจากนี้กลุ่มวิสาหกิจเกษตรสวนนอก ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้าน “การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว” และ “การทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ” ที่เปิดให้ผู้สนใจได้เข้ามาเรียนรู้และฝึกปฏิบัติ

“เอกลักษณ์สินค้าของเราคือนำสิ่งที่เหลือทิ้ง สิ่งที่ทุกคนมองข้ามกลับมาใช้ประโยชน์ สร้างมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ สร้างอาชีพและรายได้ให้คนในชุมชน ต้องขอบคุณอุตสาหกรรมจังหวัดที่พา สวทช. เข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้เราได้ตรงจุด ทำให้เราได้ต่อยอดและพัฒนาผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ ให้มีคุณภาพเพื่อส่งต่อให้ลูกค้า” บุปผา กล่าวทิ้งท้าย

# # #

สวทช. ได้ทำความร่วมมือกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสงคราม ภายใต้กิจกรรม การขับเคลื่อนจังหวัดสมุทรสงครามเป็น “เมืองแห่งความสุข (City of Happiness) ในเรื่องการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” เพื่อลดการใช้ขยะพลาสติกและโฟมในจังหวัด เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในจังหวัดสมุทรสงคราม

(ข้อมูลสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564)

‘ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ’ ผลิตภัณฑ์ Zero waste จากสวนมะพร้าว