เส้นทางสายเทคโนโลยีเกษตรของ สุวิทย์ ไตรโชค จากลูกชาวนาสู่การเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Smart Farmer) ผู้บุกเบิกการปลูกเมล่อนของประเทศไทย ด้วยปริมาณผลผลิตปัจจุบันกว่า 150 ตันต่อปี

“เกษตรกรคืออาชีพที่ถูกเอาเปรียบที่สุด ลูกข้าราชการเบิกค่าเรียนได้ แต่ลูกเกษตรกร รายได้ก็น้อยแล้วยังต้องหาเงินเรียนเอง” ความหลื่อมล้ำที่เป็นแรงผลักดันที่ทำให้ สุวิทย์ มุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตอาชีพเกษตรกรด้วยการทำเกษตรอย่างมีคุณภาพ เพื่อเป็นผู้กำหนดราคาตลาดได้เอง

เส้นทางสายเกษตรของ สุวิทย์ เริ่มต้นจากการเป็นวิศวกรบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ด้วยมองว่าเป็นอาชีพที่มีรายได้ดี ซึ่งเป็นทุนสำคัญสำหรับการทำเกษตร รายได้ทั้งหมดจากงานประจำไปลงกับการทดลองและศึกษาหาความรู้ “ช่วงที่เป็นวิศวกร ผมใช้เงินประหยัดมาก ทั้งแผนกมีคนที่ใช้เงินน้อยกว่าผมแค่คนเดียว คือพนักงานทำความสะอาด ที่ผมแพ้เขาเพราะผมต้องไปซื้อข้าวกิน แต่เขาห่อข้าวมาจากบ้าน”

พืชชนิดแรกที่ สุวิทย์ ลงมือปลูก คือ พืชผักสวนครัว แต่ไม่สร้างรายได้มากนัก ขณะเดียวกันการทำงานสายการบิน ได้เดินทางไปต่างประเทศบ่อย ทำให้ได้รู้จัก “เมล่อน” ผลไม้มูลค่าสูง ซึ่งสมัยนั้น (ราว 30 กว่าปี) ที่ประเทศญี่ปุ่นราคาขายต่อลูกสูงถึง 10,000 บาท สำหรับเมล่อนเกรดพรีเมี่ยม (premium) ทำให้เขาสนใจไม้ผลนี้อย่างจริงจัง

“ในช่วง 5 ปีแรกเงินเดือนผมหมดไปกับค่าลองผิดลองถูก ปลูกเท่าไหร่ก็หายหมด แต่ผมไม่เคยถอย” จนในปีที่ 6 ของการปลูกเมล่อน เขาสามารถคืนทุนที่เสียไปทั้งหมดกลับมาได้ ปัจจุบัน สุวิทย์ เป็นหนึ่งในผู้ผลิตเมล่อนแปลงใหญ่ของประเทศไทย ด้วยผลผลิต 150 ตันต่อปี ภายใต้แบรนด์ นาวิต้า เมล่อนฟาร์ม หรือ Navita ซึ่งมีที่มาจาก Natural Vitamin ยึดมั่นในแนวทางการทำเกษตรที่ว่า Low profile High performance โดยอาศัยองค์ความรู้ด้านการผลิตพืชและการทำเกษตรที่มีเป้าหมายเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด

“เราไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ไฮเทคที่แพงมาก ถ้าของถูกกว่าแล้วให้ผลผลิตที่เท่ากันได้ ควรเลือกใช้ให้เหมาะสม แต่บางอย่าง ถ้าของแพงดีกว่า แล้วทำให้ผลผลิตมีคุณภาพ ก็จำเป็นต้องใช้”

นาวิต้า เมล่อนฟาร์ม เติบโตมากว่า 30 ปี และกำลังส่งผ่านสู่รุ่นที่ 2 โดยมี วิชญา-สิริญา ไตรโชค ลูกสาวสองคนของสุวิทย์ที่พร้อมรับช่วงต่อ

“ตั้งแต่จำความได้ก็เห็นคุณพ่อมุ่งมั่นและเอาจริงเอาจังกับทุกเรื่อง โดยเฉพาะการทำเกษตร” พริม-สิริญา ไตรโชค ลูกสาวคนเล็กเล่าถึงบุคลิกของผู้เป็นพ่อ ซึ่งความมุ่งมั่นและเอาจริงเอาจังคือต้นทุนอย่างดีที่สุวิทย์ส่งต่อให้ทายาท

พลอย-วิชญา ไตรโชค ลูกสาวคนโต เลือกเรียนสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร (Food Science and Technology) เพื่อนำมาใช้พัฒนากิจการของพ่อ และจบปริญญาโทสาขา Food Engineering and Bioprocess Technology ขณะที่ พริม ลูกสาวคนเล็กเรียนจบสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพและปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ ปัจจุบัน พลอย ดูแลด้านการขายและการบัญชี ส่วน พริม รับผิดชอบด้านการตลาดออนไลน์และตลาดสมัยใหม่ เจาะกลุ่มลูกค้าพรีเมี่ยมที่มีกำลังซื้อสูง เน้นทั้งคุณภาพและความพิถีพิถันการผลิต ราคาผลผลิตขายออนไลน์สูงสุดถึง 2,000 บาทต่อลูก และเมื่อบทบาทด้านการขายตกเป็นของลูกสาว สุวิทย์ จึงมีเวลาทุ่มเทกับเรื่องเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพการผลิตได้ดียิ่งขึ้น

พื้นที่ปลูกเมล่อนกว่า 100 ไร่ของนาวิต้า เมล่อนฟาร์ม อยู่ท่ามกลางแปลงนาข้าว ทั้งๆ ที่การปลูกเมล่อนสามารถทำรายได้มากกว่าปลูกข้าวหลายเท่า แต่รอบข้างเขากลับไม่มีใครปลูก

“เกษตรกรรอบข้างเคยเห็นผมขาดทุน ก็เลยไม่มีใครอยากทำตาม การปลูกเมล่อนต้องเอาใจใส่ ผมต้องคอยดูทุกวัน เผลอนิดเดียวก็เสียหายหลักแสนแล้ว”

สุวิทย์ จึงต้องการนำเทคโนโลยีมาช่วยดูแลแปลงเมล่อน โดยเฉพาะการให้น้ำให้ปุ๋ยที่ต้องใช้ประสบการณ์ตัดสินใจ ซึ่งแต่เดิมมีเพียงเขาและคนงานอีกหนึ่งคนที่ดูแลประจำฟาร์มเท่านั้น เป็นผู้กำหนดว่าจะต้องให้น้ำให้ปุ๋ยเมื่อไหร่ ปริมาณเท่าไหร่ แต่ด้วยพื้นที่ปลูกที่มากทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง ส่งผลกระทบต่อคุณภาพผลผลิต เขาจึงพยายามคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยควบคุมการให้น้ำให้ปุ๋ยอย่างแม่นยำมาโดยตลอด จนเมื่อ พลอยและพริม ได้เข้ามาประชุมและดูงานที่ สวทช. ทำให้ได้รู้จัก “ระบบการให้น้ำอัตโนมัติสำหรับพืชไร่และพืชสวน” ของสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) นาวิต้า เมล่อนฟาร์ม จึงนำมาต่อยอดกับระบบให้น้ำให้ปุ๋ยเดิมซึ่งเป็นระบน้ำหยดอยู่แล้ว เพิ่มประสิทธิภาพและการใช้งานที่สะดวกมากขึ้น จากเดิมที่ต้องเปิดน้ำทีละแปลงจนครบทุกแปลง ทำให้ต้องใช้เวลามาก แต่เมื่อใช้ระบบให้น้ำให้ปุ๋ยอัตโนมัติฯ ทำให้สามารถควบคุมได้จากสมาร์ทโฟน สามารถตรวจสอบและควบคุมได้แม่นยำขึ้น ช่วยเพิ่มจำนวนผลผลิตเกรดเอในแต่ละรอบการผลิตได้ถึง 10% (จากประมาณ 60-70% เป็น 70-80%) และมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนเกรดเอให้ถึง 95%

ระบบการให้น้ำอัตโนมัติสำหรับพืชไร่พืชสวน ประกอบด้วย 1) เซนเซอร์วัดค่าอุณหภูมิและความชื้นอากาศ 2) เซนเซอร์วัดค่าความเข้มแสง 3) เซนเซอร์วัดค่าความชื้นดิน สำหรับบันทึกสภาวะแวดล้อมของแปลงปลูกเมล่อน เพื่อนำไปวิเคราะห์และสั่งการให้น้ำให้ปุ๋ย โดยสามารถกำหนดรูปแบบการให้น้ำได้ 3 แบบ คือ 1) แบบอัตโนมัติตามความต้องการของเมล่อน 2) แบบตั้งเวลา 3) แบบกำหนดเองโดยผู้ใช้ (manual)

ปัจจุบันลูกสาวของสุวิทย์เป็นผู้สั่งการให้น้ำให้ปุ๋ยควบคู่ไปกับการเก็บข้อมูลค่าความชื้นดิน อุณหภูมิความชื้นอากาศ และความเข้มแสง เพื่อใช้วิเคราะห์และกำหนดการรดน้ำแบบอัตโนมัติในอนาคต จากการใช้งานระบบให้น้ำอัตโนมัติฯ สุวิทย์ มองว่า อุปกรณ์และการเชื่อมต่อมีความเสถียร สามารถใช้งานในแปลงเกษตรได้ดี เซนเซอร์วัดค่ามีความแม่นยำและทนทานพอสมควร แต่ระบบฯ ยังสามารถพัฒนาได้อีกในเรื่องสายส่งสัญญาณที่ใช้งานได้เพียงในระยะ 15 เมตร ซึ่งทำให้การบันทึกค่าในแปลงขนาดใหญ่ยังไม่ทั่วถึง อย่างไรก็ตาม สท. และนาวิตา เมล่อนฟาร์ม อยู่ระหว่างพัฒนาระบบเซนเซอร์ไร้สายเพื่อการใช้งานที่ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น

เป้าหมายด้านเทคโนโลยีเกษตรในอนาคตของ สุวิทย์ คือ สร้างระบบ AI การให้น้ำให้ปุ๋ยอัตโนมัติสำหรับพืช ได้แก่ แตงโม มะละกอ กล้วย สับปะรด และมะเขือเทศ โดยเขาตั้งใจทำในรูปแบบกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้งานได้

การวางเป้าหมายที่ชัดเจน ความมุ่งมั่น ครอบครัว และการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เป็นบทสรุปความสำเร็จในอาชีพเกษตรกรของ สุวิทย์ และนาวิตา เมล่อนฟาร์ม

# # #

นาวิตา เมล่อนฟาร์ม
โทรศัพท์ 065 2329555, 061 9796151
www.facebook.com/navitamelonfarm


Low profile High performance เลือกเครื่องมืออย่างฉลาด เพิ่มมูลค่าผลผลิต