“เทคโนโลยี IoT (Internet of Thing) ไปได้ทุกสายงาน จะทำสมาร์ทโฮม สมาร์ทอินดัสเทรียลก็ได้ แต่ผมมองว่าพื้นฐานของประเทศไทย คือ เกษตร ทำอย่างไรให้เกษตรกรรู้จัก IoT แล้วเอาไปใช้ประโยชน์”

ด้วยความรู้และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศบวกกับความสนใจส่วนตัวในเรื่องเกษตร ทำให้ ผศ.ว่าที่ ร.ต.ภูมินทร์ ฮงมา คณะวิทยาการจัดการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยนครพนม ไม่รีรอที่จะสมัครเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ “ระบบเซนเซอร์ไร้สายสำหรับการติดตามสภาวะแวดล้อมในฟาร์มเพื่อการควบคุมและบริหารจัดการ” ของ สวทช. เมื่อปี 2560

“ช่วงนั้นเรื่อง IoT มาแรง ผมก็ซื้ออุปกรณ์ที่มีขายตามท้องตลาดมาลอง แต่ไม่ค่อยเสถียร ถ้าอยากได้ของดี ราคาก็แพงมาก ก็มีคำถามว่าแล้วของไทยไม่มีเหรอ จนได้มาอบรมและรู้ว่ามี TMEC ของ สวทช. ที่ทำเซนเซอร์วัดความชื้นดินขึ้นเอง ผมดูฮาร์ดแวร์ ดูอุปกรณ์และระบบที่ทีมวิจัยทำ น่าสนใจ และทำได้ดีเลย”

การอบรมในวันนั้นไม่เพียงเสริมความรู้ให้อาจารย์ภูมินทร์ หากยังจุดความคิดและการทำงานร่วมกับทีมวิจัย  เพื่อให้เกษตรกรไทยได้รู้จักและใช้ประโยชน์จาก “ระบบเซนเซอร์ไร้สายสำหรับการติดตามสภาวะแวดล้อมในฟาร์มเพื่อการควบคุมและบริหารจัดการ หรือไวมาร์ค (WiMaRC: Wireless sensor network for Management and Remote Control)”

“ผมดีใจที่จะมีฮาร์ดแวร์ IoT มาให้เกษตรกร บ้านเราไกล น้อยนักที่จะได้โอกาส ผมจึงพยายามทุกอย่างเพื่อติดตั้งระบบให้ได้ และให้ได้เกษตรกรที่อยากร่วมกับเรา”

อนุศักดิ์ คำสุข หรือ ตั้ม Young Smart Farmer จังหวัดนครพนม เจ้าของ “แสนสบายฟาร์ม” เป็นหนึ่งในรายชื่อเกษตรกรที่สภาเกษตรกรจังหวัดแนะนำให้อาจารย์ภูมินทร์ หลังจากที่อาจารย์ประกาศหาเกษตรกรที่
1. มีโรงเรือน 2. ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ 3. สนใจเทคโนโลยี

“ผมมองว่าโรงเรือนควบคุมตัวแปรบางอย่างได้ดีกว่า เช่นเดียวกับการปลูกผักไฮไดรฯ ที่ควบคุมการให้น้ำ ปุ๋ย อุณหภูมิได้ง่ายกว่า และเกษตรกรที่สนใจเทคโนโลยีจะทำให้การถ่ายทอดเรื่อง IoT ไปได้ง่าย ตอนนั้นมีตัวเลือก 2-3 ที่ มาลงพื้นที่กับตั้มที่แรก ตรงตามที่มองหาเลย และฟาร์มยังอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยด้วย การไปแนะนำและติดตามสะดวก… ทุกอย่างลงตัว”

พื้นเพครอบครัวของตั้มมีอาชีพค้าขาย แต่การเรียนที่คณะเกษตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำให้เขามีความรู้ด้านเกษตร โดยเฉพาะการปลูกพืชระบบไฮโดรโปนิกส์ที่เขาหลงใหลมาตั้งแต่สมัยเรียน และเมื่อตัดสินใจหันหลังให้ชีวิตลูกจ้างบริษัท ตั้มจึงทำฟาร์มผักไฮโดรโปนิกส์ของตัวเองอย่างจริงจังเมื่อราวปี 2559

“ปลูกผักระบบไฮโดรฯ ใช้แรงงานน้อย ก็เริ่มจากโต๊ะเล็กๆ ทำเองทุกอย่าง ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีอะไรมาช่วย ทุกวันก็จะลงไปดูค่า EC เพื่อให้ปุ๋ย บังสแลนถ้าแดดแรง ดูแลจัดการ เก็บตัดผักส่งขาย เรื่องเทคโนโลยี ถ้าไม่ได้เจออาจารย์ ก็จะใช้ของในท้องตลาด อยากได้แบบที่เก็บข้อมูล (data) ด้วย แต่มันไม่มี”

ช่วงแรกตั้มปลูกผักสลัดและขายผักเองที่ตลาดสด เพราะคนไม่ค่อยรู้จักผักชนิดนี้ จากโต๊ะปลูกตัวเดียว ค่อยๆ ขยายเพิ่มขึ้นจนปัจจุบันมี 27 โต๊ะ เช่นเดียวกับชนิดผักที่เพิ่มขึ้น และตลาดรับซื้อที่แน่นอนขึ้น มีรายการสั่งซื้อจากโรงแรมในพื้นที่สัปดาห์ละ 20 กิโลกรัม

“ผมแนะนำหรือจะเรียกว่าขายเทคโนโลยีก็ได้ (หัวเราะ) แทนที่ตั้มจะต้องเดินไปวัดค่า EC ทุกเช้า แต่นั่งอยู่ที่บ้านแล้วมอนิเตอร์ค่า EC จากมือถือ ถ้าค่าได้ ก็ไม่ต้องไปผสมปุ๋ย ไปทำกิจกรรมอย่างอื่นได้ ประหยัดแรงและเวลา เขาก็มองเห็นตรงนี้ แล้วยังมีเรื่องอุณหภูมิและความชื้นในโรงเรือน นครพนมฝนตกเยอะ บางครั้งตกทั้งสัปดาห์ เซนเซอร์ที่ติดตั้งเป็นตัวช่วยการจัดการผักได้” อาจารย์ภูมินทร์ย้อนถึงครั้งที่มาแนะนำเทคโนโลยี และเล่าต่อว่า แต่ก่อนตั้มใช้ความรู้สึกตัวเองเป็นตัววัด แต่เดี๋ยวนี้จะดึงสแลนต้องดูค่าในมือถือ

“แต่ก่อนใช้ความรู้สึกแดดเยอะ แดดน้อย แต่พอมีข้อมูลจากระบบก็เชื่อค่าที่ได้ เพราะมีตัวเลขชัดเจนกว่าการใช้ความรู้สึก อย่างบางวันอุณหภูมิไม่ปกติ วัดจากความรู้สึก เราคิดว่าปกติ เราก็ไม่ได้จัดการดูแลผัก ซึ่งจริงๆ แล้วมันต้องจัดการ ผลผลิตก็มีปัญหา แต่พอเราดูตัวเลขจากระบบ เรารู้แล้วว่าต้องจัดการ ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น สวยขึ้น ผักแข็งแรงขึ้น โรคไม่ค่อยเกิด เพราะรู้ค่าต่างๆ และจัดการได้ก่อน หรือบางทีไม่อยู่ฟาร์ม ก็ดูค่าในมือถือแล้วโทร.บอกพ่อให้มาจัดการได้ ถ้าเป็นแต่ก่อนต้องปล่อยทิ้งแล้วเริ่มต้นใหม่”

ก่อนที่ตั้มจะใช้ข้อมูลจากระบบไวมาร์คที่ติดตั้ง เขาปลูกผักขึ้นฉ่ายได้ประมาณ 30-40 กิโลกรัม/โต๊ะ (โต๊ะขนาด 2×6 เมตร) แต่หลังจากใช้ข้อมูลจากระบบ ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 50-60 กิโลกรัม/โต๊ะ ส่วนสลัดได้ประมาณ 30 กิโลกรัม/โต๊ะ (ผักสลัด เดิมขายเป็นต้น) ตั้มบอกว่า ค่าเฉลี่ยผลผลิตน่าจะสูสีกับคนอื่น แต่ผักแข็งแรงและสวยกว่า

หลังจากใช้เทคโนโลยีนี้มาเกือบ 2 ปี ไม่เพียงการจัดการแปลงตามข้อมูลที่ได้ ตั้ม ยังนำข้อมูลที่เก็บในระบบมาวิเคราะห์สำหรับวางแผนการผลิต เพื่อให้ได้ทั้งตลาดและราคา

“data จำเป็นในการจัดการ ผมใช้ข้อมูลปีก่อนมาวิเคราะห์กับสภาพอากาศปัจจุบัน เช่น อากาศลักษณะนี้ควรทำหรือไม่ ถ้าอุณหภูมิแบบนี้ คนที่ไม่มีโรงเรือนเริ่มทำผักไม่ได้ ผมก็จะเริ่มทำ ตอบโจทย์ผักขาดตลาดและยังได้ราคาสูง”

อาจารย์ภูมินทร์ บอกว่า ถ้าเรามองเรื่อง data จากการใช้เทคโนโลยีนี้ก็ชัดเจนมาก วันนี้ควรจะปลูกหรือไม่ควรปลูก อุณหภูมิแบบนี้ แสงแบบนี้ อากาศแบบนี้ จะปลูกหรือไม่ปลูก บางคนปลูกพร้อมกัน ราคาก็ตก แต่อย่างตั้มรอก่อน รอให้อุณหภูมิขึ้นอีกนิด แล้วค่อยปลูก พอปลูกทีหลัง ผลผลิตออกมา เขาก็ได้ราคามากกว่า เป็นการวิเคราะห์ด้วยตัวเกษตรกรเอง เพราะเห็นข้อมูลมาตลอด ถ้าเกษตรกรใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เก็บ เขาจะก้าวไปอีกระดับ สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเป็นด้วยตัวเขาเอง

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตั้ม เป็นสิ่งที่อาจารย์ภูมินทร์บอกว่า “คุ้มล่ะ” ด้วยเห็นว่าสิ่งสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยี IoT คือ ความต่อเนื่องของการนำไปใช้งาน

“คนสนใจพัฒนา IoT กันเยอะ โค้ด (code) ก็มี บอร์ดก็มีขาย ชิ้นงานที่เราเห็น ทุกคนมีหมด แม้เกษตรกรไปซื้อของที่ขายในท้องตลาด วันหนึ่งเขาจะหยุดใช้ เมื่อฮาร์ดแวร์มีปัญหา เมื่อไม่ได้อย่างที่เขาต้องการหรืออยากเห็น เมื่อปัจจัยต่างๆ เปลี่ยนไปหรือเขาอยากไปทำอย่างอื่น แต่ประยุกต์ใช้ไม่เป็น ก็จะหยุดไปเอง ความต่อเนื่องจะไม่มี แต่การที่จะให้เกษตรกรใช้อย่างต่อเนื่องหรือมีคนคอยดูแลต่อเนื่องยากกว่า เหมือนอย่างผมกับตั้มอยู่กันมา 2 ปี ไม่ธรรมดา (หัวเราะ) ความต่อเนื่องแบบนี้ที่เกษตรกรจะได้พัฒนาตัวเองและวิเคราะห์ข้อมูลได้ด้วยตัวเอง”

นอกจากเป้าหมายที่ต้องการให้เกษตรกรได้รู้จักและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี IoT แล้ว อาจารย์ภูมินทร์ยังใช้ฟาร์มของตั้มเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ให้เห็นการนำไปประยุกต์ใช้งานจริง

เป็นเวลากว่า 2 ปีที่ตั้มคลุกคลีกับการใช้ระบบไวมาร์ค โดยมีอาจารย์ภูมินทร์เป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ ติดตามการใช้งาน และเชื่อมต่อกับทีมวิจัย การทำงานร่วมกันยังส่งต่อไปถึงการต่อยอดการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวสู่การสั่งการ (control) ซึ่งต่างเห็นพ้องกันว่า “เมื่อดูข้อมูลเป็น วิเคราะห์เป็น แล้วจึงสั่งการ” จะเป็นการเรียนรู้และใช้เทคโนโลยี IoT อย่างค่อยเป็นค่อยไปแต่ต่อเนื่อง

# # #

ทีมวิจัยเทคโนโลยีระบบเซนเซอร์ไร้สายสำหรับการติดตามสภาวะแวดล้อมในฟาร์มเพื่อการควบคุมและบริหารจัดการ นำโดยดร.โอภาส ตรีทวีศักดิ์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. ได้ติดตั้งสถานีตรวจวัดสภาพอากาศแบบ IoT เพื่อการเกษตรที่แสนสบายฟาร์มในปี 2561 ประกอบด้วยชุดเซนเซอร์วัดค่าความชื้นดิน เซนเซอร์วัดค่าความเข้มแสง เซนเซอร์วัดค่าอุณหภูมิและความชื้นอากาศ และเซนเซอร์วัดค่า EC ติดตั้ง 2 จุด (ลูกข่าย) เพื่อส่งข้อมูลมาที่แม่ข่าย (1 จุด) เก็บบันทึกที่ Cloud Server

แสนสบายฟาร์ม
ต.หนองญาติ อ.เมือง จ.นครพนม
โทรศัพท์ 089 710 3508

รู้จักและรู้ใช้ IoT …ก้าวสำคัญของเกษตรกรไทย