อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นที่ห่างไกลติดชายแดนอันดับต้นๆ ของประเทศ หากเดินทางต่อตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1328 จะยิ่งเข้าใกล้แม่น้ำเหืองซึ่งคั่นพรมแดนระหว่างไทยและ สปปป.ลาว เป็นที่ตั้งของบ้านห้วยน้ำผักและบ้านบ่อเหมืองน้อยซึ่งกองทัพภาคที่ 2 ขอจัดตั้งหลังเสร็จศึกร่มเกล้าด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง พร้อมกับรับสมัครทหารกองหนุนเข้ามาอยู่หมู่บ้านละ 75 ครอบครัว จัดสรรที่ดินทำกินให้ครอบครัวละ 10 ไร่ และส่งเสริมให้ปลูกพืชตามแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื่องด้วยศักยภาพพื้นที่และภูมิอากาศเหมาะแก่การปลูกพืชเมืองหนาว

“ในพื้นที่ 10 ไร่ไม่ได้ให้อิสระในช่วงเริ่มต้น แต่บังคับให้ปลูกพืชยืนต้น คือ แมคคาเดเมียคนละ 50 ต้น อะโวคาโด พลับ ท้อ และพืชที่นำพันธุ์มาแจกให้ ส่วนพืชระยะสั้นเป็นสตรอว์เบอร์รี่ เสาวรสคนละ 2 ไร่ เพราะเป็นพืชที่ได้ผลผลิตเร็ว คนปลูกจะได้เลี้ยงตัวเองได้เร็ว นอกนั้นจะปลูกข้าวโพดหรืออะไรอื่นก็ได้”  กัลยณัฎฐ์ พระศรีนาม อดีตหัวหน้างานรุ่นบุกเบิกเล่าภาพอดีตที่เธอต้องรับผิดชอบงานวางแผนและจัดการผลผลิตเกษตรที่ปลูกได้ รวมทั้งแปลงเกษตรกลางสำหรับขยายพันธุ์และโฮมสเตย์ ซึ่งจ้างแรงงานในพื้นที่เพื่อให้ชาวบ้านมีทั้งรายได้และความรู้ไปพร้อมกัน

ถึงแม้ กัลยณัฏฐ์ จบการศึกษาด้านเกษตรและคหกรรมศาสตร์ แต่ไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้ พล.ท.อรรฐพร โบสุวรรณ ผู้บังคับบัญชาในขณะนั้นไว้วางใจเท่าการเป็นคนช่างคิดช่างทำและไม่หยุดที่จะเรียนรู้ “นายบอกว่าเราขยัน ตอนมาอยู่ที่นี่ใหม่ๆ จ้างเดือนละ 3,000 บาท พี่ก็ปลูกแมคคาเดเมีย เสาวรส ทำน้ำเสาวรสใส่ขวดน้ำปลาที่ซื้อมาขวดละ 50 สตางค์ ทั้งล้างทั้งลวกจนสะอาดแล้วบรรจุขายขวดละ 20 บาทให้คนในหน่วยงานภาครัฐที่อำเภอบ้าง สั่งซื้อมาบ้าง พอปลูกเสาวรสเสร็จก็ปลูกสตรอว์เบอร์รี่ตั้งแต่ปี 2537 ตอนแรกไม่เคยรู้จัก ไม่เคยกิน นึกว่าเป็นพืชยืนต้น พอปลูกได้ผลก็เอาไปขายที่ด่านซ้ายกิโลกรัมละ 50 บาท”

เมื่อสตรอว์เบอร์รีเป็นที่ต้องการของตลาด จำนวนต้นกล้าหรือไหลสตรอว์เบอร์รีก็เพิ่มตาม แต่การขนส่งระยะทางไกลจากเชียงใหม่ทำให้ไหลบอบช้ำและต้องใช้ระยะเวลาฟื้นฟู เป็นจุดเริ่มต้นให้ กัลยณัฎฐ์ รู้จัก สวทช. และนักวิจัยจากสถาบันต่างๆ ผ่านคำแนะนำของผู้บังคับบัญชา “ตอนนั้นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีและ สวทช. พานักวิชาการที่เก่งเรื่องสตรอว์เบอร์รี่มาสอนการเพาะไหล จนเราทำเองได้ในพื้นที่ แล้วก็สอนแปรรูปทำน้ำสตรอว์เบอร์รีด้วยวิธีน็อคธรรมชาติ คือบรรจุของร้อนแล้วแช่เย็นโดยทันที การกระตุกให้เปลี่ยนแปลงกะทันหันช่วยยืดอายุได้นานขึ้น”

ปัจจุบันชาวบ้านห้วยน้ำผักยังคงยึดอาชีพปลูกสตรอว์เบอร์รี่ ด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ หอมหวาน กรอบอร่อย ไร้สารเคมี เมื่อถึงช่วงฤดูหนาวจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาที่นี่เพื่อเลือกซื้อและเก็บสตรอว์เบอร์รี่เองกับมือ ส่วนผลที่ไม่ได้คุณภาพจะขายเป็นวัตถุดิบให้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านบ่อเหมืองน้อย ทำน้ำสตรอว์เบอร์รี่และแยมสตรอว์เบอร์รี่จำหน่าย

ราวปี 2545 กัลยณัฎฐ์ มุ่งมั่นหาความรู้อีกครั้งเมื่อต้นแมคคาเดเมียที่ส่งเสริมชาวบ้านปลูกทยอยให้ผลผลิต “ได้ความรู้จากอาจารย์อัมพร แซ่เอียว มหาวิทยาลัยขอนแก่น สอนคัดเกรดแมคคาเดเมียซึ่งมีคุณภาพและรสชาติ 2 แบบ คือ รสมันแบบเนยกับรสมันแบบนมข้น มีปริมาณน้ำตาลที่แตกต่างกัน องค์ความรู้นี้นำมาช่วยแยกเกรดเวลาขายและแนะนำคนซื้อได้ว่าแตกต่างกันอย่างไร”

จากที่ไม่เคยรู้จักและไม่เคยกินแมคคาเดเมียมาก่อนในชีวิต กัลยณัฏฐ์ ใช้ศักยภาพการเป็น ‘นักแปรรูป’ พัฒนาพืชคล้ายถั่วชนิดนี้ให้เป็นอาหารทานเล่นสารพัด เช่น นำไปเคลือบช็อคโกแลต คลุกเคล้าและปรุงรสด้วยสมุนไพรไทย บดละเอียดเป็นเนยถั่ว ทำถั่วกระจก ผสมในคุ้กกี้ กระทั่งนำไปสกัดเป็นน้ำมันและทำโลชั่นบำรุงผิว และเป็นส่วนผสมหนึ่งในเครื่องดื่มคลายร้อน จนเธอมั่นใจว่ากลุ่มวิสาหกิจที่นี่เป็นแหล่งผลิตแมคคาเดเมียที่มีความหลากหลายที่สุด และได้รับเลือกให้เป็นสินค้า OTOP ระดับ 5 ดาวของจังหวัดอย่างไร้ข้อสงสัย แมคคาเดเมียจึงไม่ใช่พืชราคาสูงที่อยู่ไกลเกินเอื้อมสำหรับเกษตรกรอีกต่อไป เพราะสร้างทั้งอาชีพและรายได้ให้เกษตรกรตลอดปี

“ลูกค้าเป็นคนบอกว่าอยากทานแบบไหน เราก็ไปคิดและทดลองทำด้วยตัวของเราเอง มีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญมาช่วยสอนบ้าง บางเรื่องเราต้องปรับไม่ให้ยุ่งยากเกินไป ยังต้องทำไปเรื่อยๆ ตามความต้องการของตลาด และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ทันยุคทันสมัย” นั่นหมายถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่รอให้เธอค้นหาและเรียนรู้อีกมากมาย เช่นเดียวกับการเรียนรู้และทดลองปลูกมะเขือเทศพันธุ์สแนคสลิมภายใต้โรงเรือนพลาสติกที่ออกแบบโดย สวทช. ซึ่งช่วยให้เธอสามารถปลูกและขายผลผลิตได้ทั้งปี

เธอยอมรับว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความจำเป็นสำหรับอาชีพเกษตรกรเพราะช่วยแก้ปัญหาและตอบโจทย์ใหม่ๆ ในการทำเกษตร แต่ในฐานะผู้ใช้เทคโนโลยี เธอเชื่อว่าประสิทธิภาพและประสิทธิผลของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะมากหรือน้อยเพียงใดย่อมขึ้นกับการนำไปใช้ เกษตรกรต้องเรียนรู้ที่จะประยุกต์หรือดัดแปลงเทคโนโลยีที่ได้รับให้เหมาะสมกับการใช้งานและเกิดประโยชน์สูงสุด

ทุกวันนี้ กัลยณัฎฐ์ ยังทำงานร่วมกับเกษตรกรอย่างใกล้ชิด ผ่านการพัฒนา สร้างสรรค์ และลงมือทำอย่างต่อเนื่องทำให้มีผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตรเกิดขึ้นมากมายภายใต้แบรนด์ “แมคเลย” บนที่ดิน 1 ไร่ที่เธอบริจาคให้เป็นสถานที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าโดยปราศจากเงื่อนไข ด้วยความเชื่อมั่นและไว้วางใจในตัวเธอ ทำให้สมาชิก 20 คนของ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านบ่อเหมืองน้อย มอบตำแหน่งประธานกลุ่มฯ ให้ตั้งแต่จดทะเบียนกลุ่มปี 2547

# # # 

จากหนังสือ วิทย์พลิกชีวิต เติมด้วยใจ ความรู้ เทคโนโลยี

จุดเปลี่ยนชีวิต..จุดพลิกเกษตรกร