นักวิจัย จุฬาฯ ค้นพบปะการังอ่อนชนิดใหม่ของโลก กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานนาม “สิรินธรเน่”

          คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองทัพเรือ ร่วมกัน เผยแพร่การค้นพบ “ปะการังอ่อน 2 ชนิดพันธุ์ใหม่ของโลก” เป็นพันธุ์หายาก แต่ชี้วัดใต้ทะเลไทยยังมีความหลากหลายทางนิเวศวิทยา หลังค้นพบได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานนาม “สิรินธรเน่”


รองศาสตราจารย์ ดร. วรณพ วิยกาญจน์

          รองศาสตราจารย์ ดร. วรณพ วิยกาญจน์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการที่ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยกลุ่มการวิจัยชีววิทยาแนวปะการัง ได้ร่วมกับ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองทัพเรือ ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา วิจัยความหลากหลายของปะการัง ความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการัง รวมถึงการฟื้นฟูทรัพยากรปะการัง ทั้งบริเวณฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน จนกระทั่ง ล่าสุดได้ค้นพบปะการังอ่อนชนิดใหม่ของโลก 2 ชนิด ซึ่งอยู่ภายใต้สกุล “Chironephthya” (ไคโรเนฟเฟีย) จึงนำเสนอเรื่องเพื่อกราบบังคลทูลสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงทราบ และขอทรงมีพระราชวินิจฉัยพระราชทานชื่อวิทยาศาสตร์ โดยปะการังอ่อนสองชนิดที่ค้นพบใหม่นี้ หนึ่งในชนิดปะการังนี้ ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อชนิดว่า “sirindhornae” (สิรินธรเน่) ซึ่งเป็นชื่อตามพระนามขององค์ประธานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ สำหรับปะการังอ่อนอีกชนิดหนึ่งได้ชื่อว่า “cornigera”(คอร์นิกีร่า) โดยชื่อปะการังชนิดใหม่ของโลกที่ค้นพบในน่านน้ำไทยได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านวารสารวิจัยระดับนานาชาติ Zootaxa (ซูแท๊กซ่า) ในปี 2563 นี้


รองศาสตราจารย์ ดร. สุชนา ชวนิชย์

          รองศาสตราจารย์ ดร. สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การค้นพบในครั้งนี้ ดำเนินการภายใต้โครงการการศึกษาวิจัยความหลากหลายของปะการังในน่านน้ำไทย ยังได้รับการสนับสนุนจาก สำนักเลขาธิการคณะอนุกรรมาธิการสมุทรศาสตร์ระหว่างรัฐบาลภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตกภายใต้ยูเนสโก (UNESCO-IOC/WESTPAC) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปะการังอ่อนชนิดใหม่ทั้งสองชนิดนี้จัดเป็นปะการังที่หายาก แต่สามารถพบได้ในบริเวณหมู่เกาะแสมสารและที่หมู่เกาะแถวพัทยา จังหวัดชลบุรี ที่ระดับความลึกตั้งแต่ประมาณ 8 – 19 เมตร ขนาดของปะการังสูงประมาณ 4 เซนติเมตร ปะการังอ่อนทั้งสองชนิดนี้ชอบอาศัยในบริเวณที่มีกระแสน้ำไหล เนื่องจากสามารถจับหาอาหารบริเวณนี้ได้เป็นอย่างดี สำหรับปะการังอ่อนชนิด “sirindhornae” นี้เป็นปะการังอ่อนที่มีสีชมพูสวยงามเหมือนดอกไม้ ส่วนปะการังอ่อนชนิด “cornigera” เป็นปะการังอ่อนที่มีสีส้มเหลือง ชื่อ “cornigera” แปลว่า แตร เพราะมีรูปร่างเหมือนแตร

          “การค้นพบปะการังอ่อนชนิดใหม่ของโลกในน่านน้ำไทยนี้ แสดงให้เห็นว่า ใต้ทะเลของประเทศไทยยังมีความหลากหลายของปะการังอีกมากที่ยังรอการค้นพบจากนักวิทยาศาสตร์ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรีบทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อการอนุรักษ์ ก่อนที่ปะการังเหล่านั้นจะถูกทำลายและหายไปเนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์” รศ.ดร. สุชนา กล่าว

ข้อมูลเพิ่มเติม

          ปะการังอ่อนชนิดพันธุ์ใหม่ที่ 1 Chironephthya sirindhornae (อ่านว่า ไคโรเนฟเฟีย สิรินธรเน่) หรือปะการังสีชมพู ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ตามพระนามสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นองค์ประธานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปะการังชนิดนี้มีลำตัวสีชมพู และที่ปลายแหลมเป็นสีเหลือง

          ปะการังอ่อนชนิดพันธุ์ใหม่ที่ 2 Chironephthya cornigera (อ่านว่า ไคโรเนฟเฟีย คอร์นิกีร่า) หรือปะการังสีส้มเหลือง ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ตามรูปร่างของปะการังซึ่งมีรูปร่างเหมือนแตร ปะการังชนิดนี้มีลำตัวสีส้มหรือสีเหลือง และมีหนวดเป็นสีขาว

สถานภาพของประชากร (สถานที่ค้นพบ)
          จัดเป็นปะการังอ่อนที่หายาก ปัจจุบันมีรายงานค้นพบเพียงแห่งเดียวที่จังหวัดชลบุรี บริเวณหมู่เกาะแสมสารและที่หมู่เกาะแถวพัทยา ที่ระดับความลึกตั้งแต่ประมาณ 8 ถึง 19 เมตร ปะการังอ่อนทั้งสองชนิดนี้ชอบอาศัยในบริเวณที่มีกระแสน้ำไหล เนื่องจากสามารถจับหาอาหารบริเวณที่มีกระแสน้ำไหลได้เป็นอย่างดี การค้นพบปะการังอ่อนสามารถใช้เป็นตัวขี้วัดทางชีวภาพที่สามารถบ่งบอกถึง “สุขภาพ” ของสิ่งแวดล้อมใต้ทะเลว่า บริเวณนั้นยังมีความหลากหลายของปะการังสูง

หน่วยงานที่สนับสนุนการศึกษาวิจัย
          – โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
          –  หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองทัพเรือ
          – กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
          – สำนักเลขาธิการคณะอนุกรรมาธิการสมุทรศาสตร์ระหว่างรัฐบาลภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตกภายใต้ยูเนสโก
          – สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
          – สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
          – บริษัทเอ็มพี บี 5 (ประเทศไทย)
          – กองทุนวิจัยของสหภาพยุโรป


สื่อมวลชนสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
          รองศาสตราจารย์ ดร. สุชนา ชวนิชย์ โทรศัพท์ 081-811-2700 (นางสาวสุชนา ชวนิชย์)
          รองศาสตราจารย์ ดร. วรณพ วิยกาญจน์ โทรศัพท์ 089-772-9090

About Author