รายงาน HID เผย Mobile ID การยืนยันตัวตนแบบหลายขั้นตอน และความยั่งยืน สำคัญเป็นอันดับต้นๆ และ AI ได้ถูกกล่าวถึงเป็นครั้งแรก

กรุงเทพ – 21 มีนาคม พ.ศ. 2567 – HID ผู้นำระดับโลกด้านโซลูชันการระบุตัวตนได้เผยแพร่ผลรายงาน State of the Security Industry Report ประจำปี 2567 ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมด้านความปลอดภัย โดยรวบรวมความคิดเห็นจากพันธมิตรทางธุรกิจ ผู้ใช้งาน และบุคลากรด้านความปลอดภัยและไอที ในตำแหน่งต่างๆ จำนวน 2,600 คน ในทวีปต่างๆ รวมทั้งเอเชียแปซิฟิก และทำงานอยู่ในองค์กรหลากหลายขนาดกว่า 11 อุตสาหกรรม

รายงาน State of Security Report ประจำปี 2567 ได้เจาะลึกเรื่องข้อกังวลที่เป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อช่วยจัดการกับข้อกังวลดังกล่าว พร้อมเสนอแนะให้ผู้บริหารที่ดูแลด้านความปลอดภัยปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น การสำรวจได้จัดทำขึ้นเมื่อปลายปี 2566 ที่ผ่านมา โดยเผยถึง 6 ประเด็นสำคัญดังนี้

1. การยืนยันตัวตนผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile ID) จะแพร่หลายมากในอีกห้าปีข้างหน้า

โทรศัพท์มือถือที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ได้ผลักดันให้มีการใช้งานด้านการระบุและยืนยันตัวตนอย่างต่อเนื่อง ผู้ใช้งานที่ตอบแบบสำรวจระบุว่า เกือบ 80% ขององค์กรจะใช้โทรศัพท์มือถือในการยืนยันตัวตนภายในเวลา 5 ปีข้างหน้า ในส่วนของของพันธมิตรในอุตสาหกรรมก็มีมุมมองในเชิงบวกมากขึ้น โดยระบุว่า 94% ของลูกค้าจะใช้งาน Mobile ID ในระยะเวลาเดียวกัน

2. การยืนยันตัวตนแบบหลายขั้นตอน (MFA) กำลังเป็นที่แพร่หลาย แม้ว่าการใช้งาน Zero Trust จะเติบโตอย่างช้าๆ

ผู้ตอบแบบสำรวจที่เป็นผู้ใช้งานกว่า 83% กล่าวว่า ปัจจุบันองค์กรของตนใช้การยืนยันตัวตนแบบหลายขั้นตอน (MFA) สาเหตุหลักมาจากช่องโหว่ของการใช้รหัสผ่าน ที่หลายๆ คน มองว่าเป็นก้าวแรกบนเส้นทางสู่ Zero Trust ซึ่งเป็นแนวคิดด้านความปลอดภัยที่เรียกร้องให้องค์กรใช้มาตรการที่เข้มงวดก่อนอนุมัติการเข้า-ออกอาคาร และไม่ไว้วางใจสิ่งใดๆเลย โดยจะตั้งค่าเริ่มต้นให้ตรวจสอบผู้ใช้งานทุกคนเสมอ ไม่ว่าจากภายในหรือภายนอกระบบ การสำรวจยังพบว่า 16% ขององค์กรที่มีพนักงานมากกว่า 100,000 คน และ 14% ขององค์กรที่มีพนักงานไม่เกิน 10,000 คนได้นำ Zero Trust ไปใช้งานแล้ว ข่าวดีก็คือ มีแนวโน้มของการใช้งาน Zero Trust ที่เพิ่มมากขึ้น โดย 24% ขององค์กรที่มีพนักงานมากกว่า 100,000 คนกำลังอยู่ในขั้นตอนการนำ Zero Trust ไปใช้

การใช้ MFA ที่แพร่หลายมากขึ้น จะทำให้การใช้รหัสผ่านสิ้นสุดลง นอกจากนี้ การกำหนดมาตรฐานใหม่ เช่น FIDO (Fast Identity Online) ซึ่งใช้เทคนิคการเข้ารหัสแบบกุญแจสาธารณะเพื่อป้องกันการโจมตีหรือหลอกลวงให้ผู้ใช้เปิดเผยข้อมูลการเข้าถึง จะเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาระบบใหม่ๆ เพื่อการยืนยันตัวตนที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรม Zero Trust

3. ความยั่งยืนมีบทบาทมากขึ้น ในการตัดสินใจทางธุรกิจ

ผู้ตอบแบบสำรวจของ HID มองว่าความยั่งยืนยังคงมีความสำคัญทางธุรกิจในอันดับต้นๆ โดยทั้งผู้ใช้งานและพันธมิตรต่างให้คะแนนความสำคัญที่ระดับ “4” จากระดับ 1 ถึง 5 นอกจากนี้ 74% ของผู้ใช้งานระบุว่าความยั่งยืนมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา และ 80% ของพันธมิตรก็ได้เผยว่า ลูกค้าให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ การใช้โซลูชันที่ช่วยลดการใช้พลังงาน ลดขยะและของเสีย และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรจะยังเป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องให้สำคัญอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนไปใช้โซลูชันที่ทำงานผ่านระบบคลาวด์และการใช้งานอุปกรณ์เคลื่อนที่ให้มากขึ้นเป็นสองกลยุทธ์หลักในการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนดังกล่าว

4. การยืนยันตัวตนด้วยไบโอเมตริกซ์ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผลสำรวจประจำปีนี้ยังเผยว่า 39% ของผู้ให้บริการระบบและโซลูชันด้านความปลอดภัยกล่าวว่า ลูกค้ามีการใช้ลายนิ้วมือหรือลายฝ่ามือแล้ว และ 30% ให้ข้อมูลว่าใช้การจดจำใบหน้า ดังนั้น การใช้ไบโอเมตริกซ์จึงยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก 8% วางแผนที่จะทดสอบหรือนำไบโอเมตริกซ์บางรูปแบบไปใช้ในปีถัดไป และ 12% วางแผนที่จะดำเนินการดังกล่าวในช่วง 3-5 ปีข้างหน้านี้

 5. การจัดการข้อมูลระบุตัวตนด้วยระบบคลาวด์

ผู้ใช้งานที่ตอบแบบสำรวจเกือบครึ่งหนึ่งกำลังเปลี่ยนไปใช้การจัดการข้อมูลระบุตัวตนผ่านระบบคลาวด์ โดย 24% ได้เริ่มใช้งานแล้ว และอีก 24% อยู่ในขั้นตอนการนำระบบดังกล่าวไปใช้

พันธมิตรในอุตสาหกรรมกล่าวว่า ลูกค้าของตนเผชิญกับอุปสรรคหลายประการในประเด็นนี้ รวมถึงการที่ยังคงต้องพึ่งพาอุปกรณ์เดิม/อุปกรณ์ที่ติดตั้งภายในองค์กร (28%) การขาดงบประมาณ (24%) และการที่การระบุตัวตนผ่านระบบคลาวด์ไม่ใช่ประเด็นสำคัญอันดับแรกๆ ทางธุรกิจ (21%)

6. มีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล (analytics) มากขึ้น

AI ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในภาคธุรกิจ และผู้ให้บริการด้านความปลอดภัยจำนวนมากมองว่าสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จาก AI ในการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลได้ไม่ยาก

ดังนั้น แทนที่จะมุ่งใช้ AI กับระบบความปลอดภัยทั้งหมด สิ่งที่อาจทำได้คือการใช้งานด้าน analytics ของ AI ช่วยให้เกิดผลลัพธ์ในทันที ภายใต้สถานการณ์นี้ ผู้ใช้งาน 35% มีแผนที่จะใช้ประโยชน์จาก AI ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า โดยที่ 15% ได้เริ่มใช้ระบบการยืนยันตัวตนด้วยไบโอเมตริกส์ที่ทำงานด้วย AI แล้ว

อ่านรายงานฉบับเต็มที่มีข้อมูลของทั่วโลก และการวิเคราะห์เพิ่มเติม

About Author