รู้จัก ‘ภัยแล้ง’ ที่มากกว่า ‘ร้อน-น้ำน้อย’

ปฏิวัติ อ่อนพุทธา
สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.)


น้ำเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในกระบวนการสังเคราะห์แสงเพื่อสร้างอาหารของพืช เป็นตัวทำละลายให้ธาตุอาหารในดินอยู่ในรูปที่พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยลำเลียงผ่านทางรากขึ้นสู่ลำต้น นอกจากนี้น้ำยังช่วยปรับอุณหภูมิให้พืชเมื่ออยู่ในสภาพอากาศร้อน ดังนั้นหากพืชได้รับน้ำไม่เพียงพอ จะทำให้พืชชะลอหรือหยุดการเจริญเติบโต ผลผลิตไม่ได้คุณภาพตามที่ต้องการ หรือถึงตายได้ในที่สุด

เมื่อภัยแล้งมาเยือน

คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2567 โลกเข้าสู่ภาวะเอลนิญโญอีกครั้ง และอาจเป็นครั้งที่รุนแรงกว่าที่ผ่านมา งานวิจัย “Enhanced risk of record‑breaking regional temperatures during the 2023–24 El Niño” ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Scientific Reports ระบุว่า มีความเป็นไปได้สูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ที่ปรากฏการณ์เอลนิญโญในปี พ.ศ. 2567 จะทำให้อุณหูมิโลกสูงที่สุดในรอบ 173 ปี จากภาพแบบจำลองการกระจายอุณหภูมิในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกแสดงให้เห็นว่า พื้นที่รอบทะเลจีนใต้ได้รับผลกระทบอย่างหนัก อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ประเทศฟิลิปปินส์และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกจะเกิดภัยแล้งนานต่อเนื่องหลายเดือน

รู้จักสภาวะแล้ง

ภัยแล้งมักถูกนิยามเบื้องต้นว่าเกิดขึ้นจากสภาวะที่ฝนไม่ตกตามฤดูกาล แต่ในทางภูมิอากาศวิทยา (climatology) จำแนกความแล้งได้มากถึง 4 ประเภท การรู้จักสภาวะแล้งประเภทต่าง ๆ อาจช่วยให้เราเข้าใจสาเหตุแห่งความแล้งได้ดีขึ้นและปรับตัวเพื่อรับมือกับภัยแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สภาวะแล้งในทางภูมิอากาศวิทยาจำแนกได้ดังนี้

สภาวะแล้งเชิงอุตุนิยมวิทยา (meteorological drought) หมายถึง การที่ฝนตกน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ในทางอุตุนิยมวิทยาคือ สภาวะที่วัดค่าปริมาณน้ำฝนได้น้อยกว่าสภาวะปกติที่บันทึกได้ สภาวะแล้งเชิงอุตุนิยมวิทยาหากเกิดในระยะสั้น ๆ อาจส่งผลดีในบางกรณี โดยเฉพาะการทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น การก่อสร้าง การเดินทาง การแข่งกีฬา การทำสวน แต่หากเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานย่อมส่งผลกระทบต่อการปลูกพืชและแหล่งน้ำ

สภาวะแล้งเชิงอุตุนิยมวิทยามีลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละที่ เนื่องจากปริมาณน้ำฝนในสภาวะปกติของแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน การเข้าสู่สภาวะแล้งเชิงอุตุนิยมวิทยาอาจไม่สามารถบอกได้ด้วยการสังเกตสภาพแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องใช้ข้อมูลเชิงสถิตร่วมด้วย เช่น ทะเลทรายที่ในสภาวะปกติมีฝนตกน้อยอยู่แล้ว เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าภายใต้ความแล้งนั้นเป็นความแล้งเชิงอุตุนิยมวิทยาหรือไม่ ขณะที่บางพื้นที่แม้จะอยู่ในสภาวะแล้งเชิงอุตุนิยมวิทยาแต่สามารถเพาะปลูกได้ตามปกติ เนื่องจากมีปริมาณน้ำฝนมากเพียงพอสำหรับการทำเกษตร สำหรับการรับมือกับสภาวะแล้งเชิงอุตุนิยมวิทยา เกษตรกรมักใช้วัสดุคลุมหน้าดินเพื่อรักษาความชื้นในดิน

สภาวะแล้งเชิงเกษตรกรรม (agricultural drought) คือภาวะที่น้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืช เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่น้อยและอากาศร้อนสูงทำให้น้ำระเหยอย่างรวดเร็วจนไม่เพียงพอต่อกระบวนการเจริญเติบโตของพืช สภาวะแล้งเชิงเกษตรกรรมอาจไม่รุนแรงมากสำหรับเกษตรกรที่สามารถเข้าถึงระบบชลประทาน แต่สำหรับเกษตรกรที่ไม่ได้รับการบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมและพื้นที่มีสภาพดินร่วนปนทราย อาจส่งผลให้เสียผลผลิตตลอดทั้งปี ในบางกรณีสภาวะแล้งเชิงเกษตรกรรมอาจไม่ส่งผลกระทบให้เห็นชัดเจน เนื่องจากมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย แต่จะเห็นได้ในช่วงเก็บเกี่ยว เช่น ผักที่มีรสชาติขมเกิดจากการสร้างสารบางอย่างเพื่อปรับตัวในสภาวะที่ขาดน้ำ

สภาวะแล้งเชิงเกษตรกรรมมีลักษณะคล้ายสภาวะแล้งฉับพลัน (flash droughts) หรือสภาวะแล้งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ มักเกิดควบคู่กับภาวะที่อุณหภูมิสูงมาก หากเกษตรกรเข้าถึงระบบชลประทานหรือจัดการน้ำอย่างเหมาะสมก็จะเพิ่มความถี่การรดน้ำเพื่อแก้ปัญหาสภาวะแล้งเชิงเกษตรกรรมได้

สภาวะแล้งเชิงอุทกวิทยา (hydrological drought) เมื่อพูดถึงสภาวะแล้งเชิงเกษตรกรรมมักเกิดขึ้นในระยะสั้นๆ เพียงหนึ่งสัปดาห์ถึงหนึ่งเดือน แต่สำหรับสภาวะแล้งเชิงอุทกวิทยากินระยะเวลาหลายเดือนไปถึงหลายปี

นักภูมิอากาศ (climatologists) นิยามสภาวะแล้งเชิงอุทกวิทยาจากภาวะการขาดดุลทางปริมาณฝนในช่วงเวลาตั้งแต่ 3 เดือนไปถึงหลายปี สังเกตได้จากระดับน้ำในแหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อน มีปริมาณลดลงอย่างมีนัย

สภาวะแล้งเชิงอุทกวิทยานอกจากส่งผลกระทบต่อการเกษตรโดยตรงแล้ว หากเกิดขึ้นในระยะยาวยังส่งผลกระทบต่อการอุปโภคบริโภค จึงต้องบริหารการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การลำดับความสำคัญของการใช้น้ำ การรดน้ำสลับวัน การรดน้ำเวลากลางคืน (มีอัตราการระเหยน้ำน้อยกว่ากลางวัน) หรือหากเกิดสภาวะแล้งรุนแรง ก็ต้องให้ความสำคัญกับพืชอาหารเป็นลำดับแรก

สภาวะแล้งทางเศรษฐกิจและสังคม (socio-economic drought) สภาวะแล้งนี้ค่อนข้างแตกต่างจากประเภทอื่น ๆ มีสาเหตุจากการใช้น้ำมากเกินจำเป็น การกักตุน หรือภาวะภัยสงคราม เช่น การสร้างเขื่อนในแม่น้ำสายหลักในประเทศหนึ่งเพื่อนำน้ำไปใช้ประโยชน์ แต่กลับปิดกั้นไม่ให้น้ำไหลไปยังประเทศอื่นที่ต้องอาศัยน้ำเพื่อการเกษตรหรืออุปโภคบริโภค ทำให้ประเทศเหล่านั้นอยู่ในสภาวะแล้งทางเศรษฐกิจและสังคม  การแก้ปัญหาสภาวะแล้งเช่นนี้อาจใช้ระบบบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสม หรือการเจรจาข้อตกลงระหว่างประเทศ

รับมือภัยแล้งเบื้องต้น

ไม่ว่าสภาวะแห้งแล้งประเภทใดก็นำไปสู่สภาวะที่น้ำไม่เพียงพอต่อการทำเกษตร ดังนั้นคำถามที่สำคัญคือ หากไม่สามารถเลี่ยงหรือรับมือสภาวะแล้งได้ เกษตรกรจะปรับตัวอย่างไร ?

แนวทางปฏิบัติเบื้องต้นเพื่อรับมือภัยแล้งประกอบด้วย

  1. ปรับปรุงระบบรากพืช พืชดึงน้ำไปใช้งานผ่านราก ดังนั้นระหว่างรากกับน้ำไม่ควรมีวัสดุหรือวัตถุกีดขวางการเข้าถึงน้ำ เพื่อลำเลียงน้ำและธาตุอาหารขึ้นสู่ลำต้น เช่น เศษวัสดุอื่นที่ไม่ใช่ดิน เศษขยะ ดินเหนียว
  2. ปรับปรุงระบบทางเดินน้ำ ไม่ให้มีสิ่งกีดขวางการเคลื่อนที่ของน้ำไปสู่พืช เช่น บนผิวดิน ไม่ควรมีวัสดุที่กีดขวางน้ำ ได้แก่ หญ้าปกคลุมดินที่หนาเกินความจำเป็น แผ่นพลาสติก หรือกระดาษ
  3. บริหารระบบน้ำ เกษตรกรควรมีระบบน้ำสำรองไว้ใช้ในสภาวะแล้ง เพื่อให้เพียงพอต่อการปลูกตลอดฤดูกาล
  4. คลุมดินอย่างเหมาะสม แม้ว่าการใช้วัสดุคลุมดินจะเป็นอุปสรรคกีดขวางไม่ให้น้ำจากผิวดินไหลสู่ราก แต่การใช้วัสดุคลุมดินที่เหมาะสมช่วยกักเก็บน้ำและความชุ่มชื้นของดินได้ ช่วยให้แสงแดดไม่ส่องกระทบผิวดินโดยตรง จึงชะลอการระเหยน้ำที่ผิวดินได้ นอกจากนี้ยังป้องกันวัชพืชเจริญเติบโต ซึ่งชนิดวัสดุคลุมดินมีทั้งจากธรรมชาติและวัสดุสังเคราะห์ ควรเลือกชนิดที่เหมาะสมกับดินเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น ใช้วัสดุจากธรรมชาติช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน

สภาวะแล้งเป็นภัยธรรมชาติที่นับวันจะรุนแรงขึ้น แต่หากเราเข้าใจสาเหตุของสภาวะแล้งในแต่ละประเภท ก็จะวางแผนรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพและดำรงชีวิตอยู่ในสภาวะแล้งได้


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. https://gardenprofessors.com/how-dry-i-am-four-types-of-drought-and-how-they-can-affect-gardeners-and-gardens/
  2. https://gardenprofessors.com/plant-lists-that-shouldnt-exist/
  3. https://www.nature.com/articles/s41598-024-52846-2
  4. https://www.doa.go.th/hort/wp-content/uploads/2021/10การจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ-สำหรับไม้ผล.pdf

About Author