สวทช. ชวนเยาวชนร่วมแข่งขัน ‘เขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศ NASA’ ชิงแชมป์ระดับประเทศ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ แจ็กซา (JAXA) ประเทศญี่ปุ่น จัดโครงการแข่งขัน The 5th Kibo Robot Programming Challenge โดยมีบริษัทเดลว์ แอโรสเปซ จำกัด และบริษัท 168 ลักกี้ เทรด จำกัด ให้การสนับสนุน เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยในระดับชั้นมัธยมศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า เข้าร่วมการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับควบคุมหุ่นยนต์แอสโทรบี (Astrobee) ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศของ NASA ทำภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ทีมชนะเลิศจะได้รับทุนการศึกษาจำนวน 20,000 บาท และเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าแข่งขันรอบชิงแชมป์นานาชาติ ร่วมกับตัวแทนเยาวชนจากทั่วโลกในเดือนตุลาคม 2567

ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. ร่วมจัดโครงการแข่งขัน The 5th Kibo Robot Programming Challenge ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 แล้ว สำหรับกติกาในปีนี้ ทีมที่สมัครเข้าร่วมการแข่งขันต้องมีสมาชิกจำนวน 3-4 คน และกำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า โดยสมาชิกในทีมอยู่ต่างสถาบันการศึกษาและระดับชั้นเรียนได้ ผู้ที่สนใจสามารถสมัครผ่านเว็บไซต์ https://www.nstda.or.th/spaceeducation/kibo-rpc-2024/ ภายในวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 ก่อนเวลา 22:00 น.

“สำหรับรูปแบบการแข่งขัน ผู้เข้าร่วมต้องพัฒนาโปรแกรมขึ้นมาจากเทมเพลตของแจ็กซา เพื่อควบคุมหุ่นยนต์แอสโทรบีในระบบจำลอง (Simulation) ซึ่งสร้างสถานการณ์จำลองเกิดเหตุอุปกรณ์การทดลองทางวิทยาศาสตร์ของนักบินอวกาศหายไป และต้องรีบค้นหาให้พบเพื่อทำการทดลองให้ทันเวลา ผู้เข้าแข่งขันต้องเขียนโปรแกรมด้วยภาษา JAVA สั่งการให้หุ่นยนต์แอสโทรบีเคลื่อนที่ไปค้นหาอุปกรณ์ เมื่อพบแล้วจะเคลื่อนตัวเข้าไปถ่ายภาพและกลับมารายงานผลให้นักบินอวกาศทราบ โดยคะแนนการแข่งขันจะคำนวณจากความสมบูรณ์ของภารกิจและเวลาที่ใช้ปฏิบัติภารกิจจนเสร็จสิ้น

ทั้งนี้การแข่งขันรอบชิงแชมป์ประเทศไทยจะจัดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 ทีมชนะเลิศจะได้รับทุนการศึกษาจำนวน 20,000 บาท และเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงแชมป์นานาชาติในเดือนตุลาคม 2567 ภายใต้การสนับสนุนของบริษัทเดลว์ แอโรสเปซ จำกัด และบริษัท 168 ลักกี้ เทรด จำกัด ซึ่งในการแข่งขันจะมีตัวแทนเยาวชนเข้าร่วมทั้งหมด 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บังคลาเทศ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เนปาล ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา และไทย โดยมีนักบินอวกาศของนาซา เป็นผู้ควบคุมการแข่งขันอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีของเยาวชนไทยที่จะได้ฝึกฝนทักษะทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ หนึ่งในเทคโนโลยีที่น่าจับตาและมีมูลค่ามหาศาลในอนาคต”

ด้าน นายวสันชัย วงศ์สันติวนิช ผู้บริหาร บริษัทเดลว์ แอโรสเปซ จำกัด ผู้ร่วมสนับสนุนโครงการแข่งขันในปีนี้ กล่าวเสริมว่า การเขียนโปรแกรมขึ้นไปใช้งานสำหรับหุ่นยนต์ในสถานีอวกาศฯ ถือเป็นภารกิจที่น่าสนใจและมีความท้าทาย สามารถพิสูจน์ได้ถึงทั้งฝีมือ และความละเอียดรอบคอบ ตลอดจนความรู้ความเข้าใจทั้งในเรื่องของการพัฒนาอัลกอริทึม, ด้านแมคคาทรอนิคส์ ไปจนถึงองค์ความรู้ด้านการบินและอวกาศ เพราะต้องสร้างผลงานให้กับหุ่นยนต์ที่เราไม่เคยเห็น (physically) เพื่อให้ทำภารกิจได้อย่างดีที่สุด ซึ่งหุ่นยนต์ที่ใช้ในการแข่งขันในครั้งนี้ คือหุ่นยนต์แอสโตรบี (Astrobee) เป็นหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศที่ใช้งานอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ คอยสนับสนุนและช่วยเหลือการทำงานของนักบินอวกาศ พัฒนาโดย NASA Ames Research Center ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาเทคโนโลยีระบบคอมพิวเตอร์ขั้นสูงและเป็นศูนย์วิจัยที่พัฒนาอัลกอริทึมทั้งทางด้านการบินและอวกาศ ทั้งหมดนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีของเด็กไทย ที่จะสามารถเข้าไปมีประสบการณ์กับงานในระดับโลก

ด้าน นายจุติวัฒน์ เสงี่ยมศักดิกร รองกรรมการผู้จัดการสายพัฒนาธุรกิจ บริษัท 168 ลักกี้ เทรด จำกัด ผู้ร่วมสนับสนุนโครงการแข่งขันในปีนี้ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การแข่งขัน The 5th Kibo Robot Programming Challenge นั้น ช่วยกระตุ้นความสนใจและสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนนั้นได้มีพื้นที่ทดลองความรู้ความสามารถด้าน STEM เพื่อต่อยอดไปสู่องค์ความรู้ในการเขียนโปรแกรม การสร้างหุ่นยนต์ การต่อยอดเทคโนโลยีอวกาศ เป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเช่น อวกาศ ไซเบอร์และ Robotics

สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานการพัฒนา Human Capital เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน Competitiveness ให้องค์กรและประเทศไทยในอนาคต ซึ่งทางบริษัทอยากมีส่งนร่วมในการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีแห่งอนาคตเหล่านี้จนเราสามารถมีอิสรภาพทางเทคโนโลยี Technological Independence ได้ในอนาคตอันใกล้ผ่านการสนับสนุนเยาวชนรุ่นใหม่ให้ได้มีโอกาศแสดงฝีมือในระดับสากล”

ผู้ที่สนใจติดตามรายละเอียดข้อมูลและวิธีการสมัครเข้าร่วมโครงการ The 5th Kibo Robot Programming Challenge ได้ที่เว็บไซต์ https://www.nstda.or.th/spaceeducation/kibo-rpc-2024/, เฟซบุ๊ก  NSTDA SPACE Education ทีมที่สมัครเข้าร่วมการแข่งขันและได้รับบัญชีเข้าสู่ระบบแล้ว เข้าไปทดลองประมวลผลโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นมาในเครื่องแม่ข่าย (Server) ของการแข่งขันได้ที่เว็บไซต์ https://jaxa.krpc.jp

About Author