ม.มหิดล นครสวรรค์ ร่วมเครือข่ายชุมชน ชู 3 กลยุทธ์พลิกฟื้นนาข้าวยั่งยืน

จะเป็นอย่างไรหากในวันหนึ่ง “ข้าว” เนื่องจากไม่มีใครคอยปลูกข้าวให้เรากินอีกต่อไป เนื่องด้วยต้องพ่ายเหตุภัยจากธรรมชาติ

3 กลยุทธ์พลิกฟื้นนาข้าวยั่งยืน ริเริ่มโดย โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยเครือข่ายความร่วมมือจากชุมชน ภายใต้การสนับสนุนหลักจาก มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) นอกจากจะช่วยต่ออนาคตการทำนาข้าวในประเทศไทยให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนแล้ว ยังช่วยส่งเสริมสุขภาวะ และเศรษฐกิจไทย จากกลวิธีลดการใช้ทรัพยากร รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อยกระดับชีวิตให้กับชุมชนได้ต่อไปอีกด้วย

นายธนากร จันหมะกษิต นักวิชาการเกษตรประจำศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งในนามของศูนย์ฯ เคยได้ฝากผลงานอันเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับชาวชุมชนนครสวรรค์ จัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่บึงบอระเพ็ด จนสามารถสร้างแรงกระเพื่อมสู่ “วาระของชาติ” ให้เกิดความตระหนักร่วมกันในระดับชาติมาแล้ว

หนึ่งในกลยุทธ์ช่วยลดวิกฤติปลูกข้าวท่ามกลางภัยจากธรรมชาติ ได้แก่ “การปลูกข้าวตอซัง” ซึ่งเป็นการ “เพิ่มประสิทธิภาพ“ และ ”ลดต้นทุน” จากการปลูกข้าวแบบเดิม แต่เพิ่มขั้นตอน โดยการปลูกข้าวแบบ “นาปรัง” ที่มีอายุข้าวประมาณ 120 วัน เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วจะเหลือตอซังในนาข้าว ดูแลรักษาด้วยการรักษาระดับน้ำที่เหมาะสม ต้นข้าวก็จะงอกออกมาจากตอซัง เรียกว่า “ข้าวตอซัง” โดยเมื่อออกรวงจะสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้อีก 1 รอบ ทำนาครั้งเดียวเก็บเกี่ยวได้ 2 ครั้ง

ซึ่ง “การปลูกข้าวตอซัง” จะช่วยลดระยะเวลาในการปลูกได้มากถึง 30 วัน นอกจากนี้ยังสามารถเก็บเกี่ยวได้ 2 รอบ นับเป็นการลดใช้ทรัพยากรที่ต้องหมดเปลืองไปกับการลงทุน ทั้งทางด้านแรงงาน ตลอดจนการใช้ยาเคมีปราบศัตรูพืช เนื่องจากสามารถปลูกด้วยระยะเวลาที่สั้นลง ซึ่งดีต่อสุขภาวะของผู้บริโภคที่จะได้รับจากการลดใช้ยาเคมีปราบศัตรูพืชอีกด้วย

สำหรับในพื้นที่บึงบอระเพ็ดจะเป็นกรณีที่แตกต่างกันไป เนื่องจากเป็น “พื้นที่น้ำท่วมเร็ว” แต่ก็สามารถนำวิธี “การปลูกข้าวตอซัง” มาประยุกต์ใช้ได้เช่นเดียวกับพื้นที่แล้ง โดยไม่ต้องลงทุนใหม่ และให้ผลผลิตได้เร็วก่อนน้ำจะเข้าท่วมพื้นที่เสียหายในช่วงฤดูน้ำหลาก

นักวิชาการเกษตร “ธนากร” กล่าวต่อไปอีกว่า ในการทำนาโดยปกติต้องใช้น้ำถึง 1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ แต่หากมีการจัดการน้ำในนาข้าวได้อย่างเหมาะสม จะช่วยลดปริมาณการใช้น้ำได้ถึงร้อยละ 40 ซึ่งนับเป็น “วาระเร่งด่วน” สำหรับพื้นที่บึงบอระเพ็ด เนื่องจากทรัพยากรน้ำในพื้นที่ดังกล่าวในปัจจุบันไม่ได้มีการบริหารจัดการเพื่อประโยชน์ในการทำนาแต่เพียงเท่านั้น และที่สำคัญไม่มีผู้ใดรู้ว่าต่อไปบึงบอระเพ็ดในอนาคตจะมีทรัพยากรน้ำเพื่อบริโภคและอุปโภคอย่างเพียงพอต่อไปอีกนานเพียงใด

นอกจากนั้นยังมีการทำแบบ “นาเปียกสลับแห้ง” ที่ช่วยลดการใช้น้ำแก้ปัญหาภัยแล้ง “ปุ๋ยสั่งตัด” หรือใช้ปุ๋ยได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสมตามศักยภาพของดินในแต่ละแปลง ก็นับเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะทำให้ชาวนามีแนวโน้มที่จะมีรายได้เหลือเก็บได้ต่อไปในอนาคต

เหนือสิ่งอื่นใด การครองใจชาวชุมชนด้วย “ความจริงใจ” และเปิดโอกาสให้ “ชาวนา” ได้ “เปิดใจ” กับ “ชาวนา” ด้วยกันเอง โดยมี ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเครือข่ายฯ คอยทำหน้าที่ให้คำปรึกษา จะช่วยก่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจได้ดีกว่า “การชี้นำ” ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง

สุดท้าย นักวิชาการเกษตร “ธนากร” กล่าวยืนยันด้วยความมั่นใจว่า ”อาชีพชาวนา“ จะไม่มีอาชีพใดมาทดแทนได้ และด้วยองค์ความรู้ที่ ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเครือข่ายฯ พร้อมมอบให้เกษตรกรในชุมชนด้วยความจริงใจ เชื่อว่าจะทำให้อาชีพชาวนา ยังคงยั่งยืน และดีต่อโลก โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


ภาพจาก ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author