ท่องอวกาศกับกล้องโทรทรรศน์แบบโรโบติก ตอนที่ 3

เรื่องโดย: วริศา ใจดี


 

          เดินทางมาถึงตอนสุดท้ายของการท่องอวกาศกับกล้องโทรทรรศน์แบบโรโบติก โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับกิจกรรม Image of the month ของ NSO (National School’s Observatory) ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนที่สนใจ สามารถส่งภาพที่ตนเองปรับแต่งแสงสีโดยใช้ซอฟต์แวร์ LTImage นี้เข้าร่วมประกวดชิงตำแหน่งภาพเด่นประจำเดือน

          โดยภาพที่ได้รับเลือกก็จะถูกโพสต์ลงในเว็บไซต์ของ NSO ไปเลย และถ้าผู้ชนะพำนักอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร และไอร์แลนด์ จะได้รับรางวัลเพิ่มเติมเป็นเฟรมแคนวาสของภาพที่ตนส่งไป วิธีการส่งก็คือโพสต์ภาพลงในโซเชียลมีเดียของ NSO และติดแฮชแท็ก #NSO_comp หรือแชร์ลงในเว็บไซต์ แล้วรอลุ้นรับรางวัลกันทุกๆ สิ้นเดือนได้เลย

ตัวอย่างภาพที่เคยได้รางวัลประจำแต่ละเดือนที่ผ่านมาในปีพ.ศ.2563

 

ภาพ Messier 27 (M27; Dumbbell Nebula)

ทั้งสองภาพเป็นภาพของ M27; Dumbbell Nebula หรือ เนบิวล่าดัมบ์เบลล์  ภาพทางซ้ายเป็นภาพที่ได้รับรางวัลเดือนพฤษภาคม ปีพ.ศ.2562 เจ้าของผลงานคือคุณ Guy Wells ส่วนภาพทางขวา ฉันสืบค้นได้มาจากคลังภาพของ National Schools’ Observatory (NSO) เนบิวล่าดัมบ์เบลล์ เป็นอีกหนึ่งความสวยงามในอวกาศที่เกิดจากการขยายตัวของดาวฤกษ์และยุบตัวลงเป็นดาวแคระขาวอยู่ตรงใจกลางของเนบิวลาตามวงจรชีวิตดาวฤกษ์มวลต่ำ เศษซากที่กระจายอยู่ภายนอกบริเวณกลุ่มแก๊สคือซากวัตถุที่หลุดออกด้วยแรงระเบิดและล่องลอยออกไปยังอวกาศโดยรอบสร้างรูปร่างคล้ายกับเครื่องยกน้ำหนัก เช่นเดียวกัน ดวงอาทิตย์ของเราเองก็กำลังมีอายุมากขึ้นและในอนาคตอีกหลายปีข้างหน้าก็จะดำเนินรอยตาม และอาจกลายเป็นเนบิวลาหน้าตาคล้ายๆ กันนี่แหละ

          จะเห็นได้ว่าการปรับแต่งสีของภาพนั้นไม่มีถูกผิด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการนำภาพไปใช้ เราสามารถปรับแต่งสีตามจินตนาการของเราว่าต้องการให้ภาพออกมามีสีสันสวยงามอย่างไร หรือจะปรับสีเพื่อใช้ในการศึกษาเฉพาะทางตามข้อมูลที่มี ก็อาจจะต้องใช้โปรแกรมการตกแต่งภาพอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย และถ้าใครอยากได้ภาพสำเร็จรูปที่ถูกปรับแต่งสีสันโดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านดาราศาสตร์ ก็สามารถเข้าไปเลือกภาพที่ต้องการได้จากแกลลอรี่ของเพจนี้ได้เช่นกัน โดยกดเข้าไปที่ Home> Gallery จะมีภาพสวยๆให้เลือกดูได้มากมาย ถ้าใครอยู่บ้านในช่วงนี้ สนใจอยากใกล้ชิดกับจักรวาลมากขึ้น ก็ลองเข้าไปใช้บริการแหล่งเรียนรู้ผ่านกล้องโทรทรรศน์ออนไลน์กันได้ รับประกันว่านอกจากสนุกแล้วยังได้ภาพเจ๋งๆ ที่มีคุณภาพระดับงานวิจัยมาชื่นชมอีกด้วย

ตัวอย่างภาพกาแล็กซีในคลังภาพของ National Schools’ Observatory (NSO)

ภาพทั้งสามนี้เป็นภาพ Spiral Galaxy หรือกาแล็กซีทรงกังหัน เหมือนทางช้างเผือกของเรา ยกเว้น NGC 1600 เป็นกาแล็กซีรี (elliptical galaxy) ซึ่งมีสสารพวกกลุ่มแก๊สระหว่างดวงดาวน้อยกว่ารูปร่างแบบอื่นๆ ทำให้การเกิดของดาวฤกษ์นั้นพบได้น้อยในกาแล็กซีประเภทนี้ จากภาพที่ถ่ายออกมาจะเห็นว่า NGC 1600 อยู่อย่างโดดเดี่ยวแยกออกจากวัตถุอื่นๆบนท้องฟ้า และที่สำคัญคือตรงใจกลางของกาแล็กซีนี้เป็นที่อยู่ของหนึ่งในหลุมดำมวลยิ่งยวด (super massive black hole) ขนาดใหญ่มาก

ภาพสีแบบ 3-colour imaging ของกาแล็กซี NGC 891 ฉันสร้างโดยเอาไฟล์ภาพทั้ง 3 ภาพ ที่ถ่ายด้วยฟิลเตอร์ R,V และ B จากกล้องโทรทรรศน์ LT มาประกอบซ้อนกันในซอฟต์แวร์ LTImage และปรับสีระบบ RGB (red,green,blue) สามารถเข้าไปศึกษาวิธีใช้ซอฟต์แวร์ LTImage ได้ที่ https://youtu.be/WMmx2nHY-Q4

NGC 891 หรือ กาแล็กซีซิลเวอร์ ซิลเวอร์ (Silver Sliver Galaxy) กาแล็กซีในกลุ่มดาวแอนโดเมดา (Andromeda constellation) นอกจากความสวยงามของแสงสีดวงดาวแล้ว ตำแหน่งที่อยู่และการวางตัวกาแล็กซียังสร้างมุมมองที่ทำให้เราชาวทางช้างเผือกมองเห็นด้านข้างของมัน (edge-on perspective) ทำให้เราสามารถสังเกตอวกาศในมุมมองที่ต่างออกไป และกาแล็กซีนี้ก็ถูกเลือกให้เป็น First Light Image* ของกล้องโทรทรรศน์ชื่อดังถึงสองตัวด้วยกัน นั่นคือเป็นวัตถุแรกที่ถูกถ่ายด้วย Large Binocular Telescope และ Lowell Discovery Telescope

*First light image ของกล้องโทรทรรศน์ คือ ภาพแรกที่ถูกถ่ายด้วยกล้องหลังจากกล้องนั้นถูกสร้างขึ้นมาใหม่ๆ ถึงจะยังได้ภาพที่ไม่ชัดเจนพอที่จะใช้งานได้ แต่นับว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มากทีเดียว (ข้อมูลจาก https://apod.nasa.gov/apod/ap170112.html)

ภาพนี้เป็นภาพของเนบิวลา IC63 เปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์ LT ที่เป็นขาวดำ Credit: National Schools’ Observatory (NSO) และฉันได้ใช้ซอฟต์แวร์ LTimage ปรับความคมชัดให้ภาพกับภาพที่ถ่ายจากกล้องฮับเบิ้ลที่ได้ปรับแต่งสีแล้ว Credit: ESA/Hubble, NASA

เนบิวลา IC63 เป็นที่รู้จักกันในชื่อ the ghost of Cassiopeia เกิดขึ้นห่างจากกลุ่มดาวแคสสิโอเปีย (Cassiopeia constellation) ออกไป 550 ปีแสง เนบิวลานี้ได้รับผลกระทบจากรังสีอัลตร้าไวโอเลตที่ดาว Gamma ในกลุ่มดาวแคสสิโอเปีย แผ่ออกมา ส่งผลให้เนบิวลาหรือกลุ่มก๊าซนี้ค่อยๆกระจายตัวและสลายออกเป็นรูปร่างและสีสันอย่างที่เห็น โดยอิเล็กตรอนของก๊าซไฮโดรเจนในเนบิวลาจะได้รับพลังงานหลังจากถูกกระทบด้วยรังสีอัลตร้าไวโอเลต และปลดปล่อยออกมาในรูปของรังสีไฮโดรเจนอัลฟ่า ที่ปรากฏเป็นสีแดงในภาพจากกล้องฮับเบิ้ล


ขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.schoolsobservatory.org
https://www.nasa.gov/

ขอบคุณแหล่งเรียนรู้เพิ่มเติมสอนวิธีใช้งานซอฟต์แวร์ LTImage ใช้แต่งรูปถ่ายทางดาราศาสตร์
https://youtu.be/WMmx2nHY-Q4


สามารถอ่านบทความในรูปแบบ e-Magazine ได้ในนิตยสารสาระวิทย์ ฉบับที่ 93 เดือนธันวาคม 2563
https://oer.learn.in.th/search_detail/result/217539

About Author