แน่ใจหรือว่า “บิ๊กอุย” เกิดจากปลาดุกอุยผสมกับปลาดุกยักษ์แค่ชนิดเดียว

เรื่องโดย
AGB Research Unit Team และบริษัทเบทาโกร จำกัด (มหาชน)


ปลาดุก” นับเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญสำหรับประชากรทั่วโลก นอกจากจะมีโปรตีนสูง ไขมันต่ำ ย่อยง่าย เหมาะสำหรับคนทุกเพศทุกวัยแล้ว ยังสามารถรับประทานได้ทุกชนชาติทุกศาสนา

ในอุตสาหกรรมสัตว์น้ำของประเทศไทยมีผลผลิตปลาดุกมากเป็นอันดับสองรองจากปลานิล โดยปลาดุกที่นิยมบริโภคในประเทศไทยมากกว่าร้อยละ 95 คือ ปลาดุกบิ๊กอุย ซึ่งเป็นลูกผสมที่เกิดจากปลาดุกอุย (Clarias macrocephalus) ที่เป็นชนิดพื้นเมืองของไทย กับปลาดุกยักษ์ หรือ North African catfish (Clarias gariepinus) ที่เป็นชนิดพื้นเมืองของทวีปแอฟริกา ด้วยความที่คนไทยนิยมบริโภคปลาดุกเนื้อแน่น สีเหลืองทอง คล้ายปลาดุกอุย แต่ปลาดุกอุยมีขนาดเล็ก โตช้า และไม่ทนทานโรค จึงต้องนำปลาดุกยักษ์ที่เจริญเติบโตเร็ว ต้านทานโรคสูง เข้ามาผสมเพื่อให้ได้ลูกผสมที่มีเนื้อสีเหลืองทองสวยและแน่น โตเร็ว ทนโรค ซึ่งบิ๊กอุยที่ได้ออกมานั้นก็ตอบโจทย์ได้ตรงเป๊ะ ทำให้เกษตรกรนิยมและเพาะขยายพันธุ์กันทั่วประเทศ


ปลาดุกบิ๊กอุย ลูกผสมที่เกิดจากแม่พันธุ์ปลาดุกอุยผสมกับพ่อพันธุ์ปลาดุกยักษ์

แม้จะฮิต แต่ผลผลิตของปลาดุกบิ๊กอุยกลับมีแนวโน้มลดลงอย่างน่าวิตก โดยปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ผลผลิตบิ๊กอุยอยู่ที่ 89,525 ตัน ลดลงจากปี พ.ศ. 2565 ถึงร้อยละ 4.4 และลดลงจาก 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2556) มากถึงร้อยละ 25.6 นอกจากนี้ปลาดุกบิ๊กอุยที่เคยมีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 220 กรัมต่อตัว ในระยะเวลาเลี้ยง 120 วัน ปัจจุบันต้องใช้รอบการเพาะเลี้ยงนานขึ้นเป็น 140–150 วัน จึงจะได้ขนาดดังกล่าว เกิดอะไรขึ้นกันแน่ ?

หากดูจากการประเมินลักษณะพันธุกรรมที่ถ่ายทอดจากรุ่นพ่อแม่พันธุ์สู่ลูกผสมพบว่า ปลาดุกบิ๊กอุยได้รับอิทธิพลทางพันธุกรรม (แบบบวกสะสม) จากปลาดุกยักษ์ประมาณร้อยละ 64 และปลาดุกอุยร้อยละ 36 นั่นหมายความว่าผลผลิตและการเจริญเติบโตของปลาดุกบิ๊กอุยที่ลดลงอาจเกี่ยวข้องกับคุณภาพของปลาดุกยักษ์ก็เป็นได้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลอัตราการเจริญเติบโตและระยะเวลาการเพาะเลี้ยงปลาดุกยักษ์ที่พบว่าผิดแปลกไปจากปกติ คือจากเดิมใช้เวลาเลี้ยง 2 ปี ปลาดุกยักษ์มีน้ำหนักประมาณ 1.5–2.0 กิโลกรัมต่อตัว และมีความสมบูรณ์พันธุ์สูง แต่ ณ ปัจจุบัน ที่อายุและน้ำหนักตัวเท่ากัน ปลาดุกยักษ์มีขนาดตัวลดลงและคุณภาพน้ำเชื้อก็ไม่แข็งแรง ทั้งที่มีเทคนิคการเพาะเลี้ยง การจัดการ และอาหารดีขึ้นกว่าในสมัยก่อนมาก หรือว่าแท้จริงแล้วพันธุ์ปลาดุกยักษ์เป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลกระทบนี้


สถานการณ์ผลผลิตปลาดุกของประเทศไทยในระยะเวลา 12 ปี

ที่มา : กลุ่มสถิติการประมง กองนโยบายและแผนพัฒนาการประมง กรมประมง (2564) และ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (2567)

ปลาดุกหลายชนิดในสกุล Clarias เช่น ปลาดุกด้าน (Clarias batrachus) ปลาดุกอุย (C. macrocephalus) ปลาดุกยักษ์ (C. gariepinus) มีความแตกต่างทางพันธุกรรมภายในชนิด (intraspecific variation) ที่ประมาณร้อยละ 2.1 และระหว่างชนิด (interspecific variation) ที่ประมาณร้อยละ 43.8 แต่จากการวิเคราะห์ความหลากหลายทางพันธุกรรมด้วยยีน cytochrome c oxidase I (COI) พบว่า ความแตกต่างทางพันธุกรรมภายในชนิดของปลาดุกยักษ์มีค่าอยู่ที่ร้อยละ 133.1 มากกว่าปลาดุกชนิดอื่น ๆ ในสกุลเดียวกันอย่างน้อย 15 เท่า หรือเมื่อเทียบกับปลาสกุลอื่น ๆ เช่น Plotosus หรือ Hemibagrus คิดเป็น 10–83 เท่า ค่าความแตกต่างทางพันธุกรรมของปลาดุกยักษ์นั้นอาจเทียบได้กับค่าความแตกต่างระหว่างระดับชั้น (Class) หรือสูงกว่าของปลา จากการศึกษาในปลากว่า 500 ชนิด พบว่าค่าความแตกต่างทางพันธุกรรมระหว่างชนิดที่สูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 10.9 (โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ร้อยละ 3.5) ค่าความแตกต่างทางพันธุกรรมที่สูงมากขนาดนี้ในกลุ่มปลาดุกยักษ์เกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่


ความแตกต่างทางพันธุกรรมภายในชนิด (intraspecific variation) และระหว่างชนิด (Interspecific variation) ของปลาดุกในสกุล Clarias
(ดัดแปลงภาพจากบทความ Chalermwong et al. 2023)

ความแตกต่างทางพันธุกรรมภายในชนิดที่สูงกว่าปกติของปลาดุกยักษ์อาจเป็นผลมาจากความหลากหลายที่ซ่อนเร้น หรือ cryptic diversity ซึ่งอธิบายถึงสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะรูปร่างภายนอกที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกันมาก แต่มีความแตกต่างทางพันธุกรรมที่มากเกินกว่าจะเป็นชนิดเดียวกันได้ และอาจส่งผลต่อระบบภายในร่างกาย สรีระ และพฤติกรรมต่าง ๆ จากข้อมูลการวิเคราะห์กำหนดขอบเขตของชนิดด้วยข้อมูลพันธุกรรม (DNA-based species delimitation) พบว่าข้อมูลพันธุกรรมของปลาดุกยักษ์หลายตัวอย่างมีแนวโน้มที่จะมีความหลากหลายที่ซ่อนเร้นจำนวนมาก และจำแนกอยู่นอกขอบเขตของกลุ่มปลาดุกยักษ์ชนิดเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด จึงอาจตั้งสมมติฐานได้ว่า ปลาดุกยักษ์ในทวีปแอฟริกาอาจมีชนิดซ่อนเร้นหลายชนิดที่ยังไม่ได้จำแนกเป็นชนิดต่าง ๆ

นอกจากนี้อาจเกิดจากฐานข้อมูลดีเอ็นเอสาธารณะที่ตัวนักวิจัยอาจระบุชนิดผิดแล้วนำเข้าข้อมูลลงในฐานข้อมูลผิด ทำให้การแปลผลจัดกลุ่มของชนิดปลาดุกยักษ์ผิดพลาดไปได้ ดังเช่นกรณีปลาฉลามหัวค้อนหยัก (scalloped hammerhead: Sphyrna lewini) ซึ่งมีความผิดพลาดจากการนำเข้าข้อมูลจนทำให้มีค่าความแตกต่างภายในชนิดถึงร้อยละ 4.3 หรือในปลาหางแข็งบั้ง (yellowtail scad: Atule mate) ที่สูงถึงร้อยละ 4.8 และในแบนด์ไนฟ์ฟิช (banded knifefish: Gymnotus carapo) ที่มีค่ามากถึงร้อยละ 8.1


แผนภูมิต้นไม้จากข้อมูลทางพันธุกรรม แสดงปลาดุกยักษ์บางตัวอย่างจำแนกอยู่นอกขอบเขตของกลุ่มปลาดุกยักษ์ชนิดเดียวกัน

เท่าที่มีการจดบันทึกอย่างเป็นทางการ ประเทศไทยได้นำเข้าปลาดุกยักษ์มาเพื่อการผสมพันธุ์กับปลาดุกอุยแล้วมากกว่าหนึ่งครั้ง โดยคาดว่าเป็นปลาดุกยักษ์จากแอฟริกากลาง นำเข้าจากประเทศเวียดนาม ผ่านมาทางประเทศลาว อย่างไรก็ตามอาจมีการนำปลาดุกยักษ์เข้ามาในประเทศอีกหลายครั้งจากหลายแหล่งโดยไม่ได้จดบันทึกอย่างเป็นทางการ จึงทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า “ปลาดุกยักษ์ที่นำเข้ามามีแค่ชนิดเดียวจริงหรือ ?” ซึ่งก็มีแนวโน้มสูงมากที่ประเทศไทยเราในอดีตอาจนำเข้าปลาดุกยักษ์ต่างชนิดเข้ามา แล้วนำมาผสมพันธุ์แบบสุ่ม ทำให้คุณลักษณะทางพันธุกรรมของปลาดุกยักษ์ที่ถ่ายทอดมาจนถึงทุกวันนี้เป็นแบบไร้ทิศทาง จนขาดอัตลักษณ์ของชนิด และส่งผลต่อการเสื่อมถอยทางพันธุกรรมของปลาดุกยักษ์ในปัจจุบัน ถ้าเป็นไปตามสมมติฐานนี้ ก็ชวนให้คิดและชวนให้ติดตามกันต่อไปว่าอนาคตของอุตสาหกรรมปลาดุกไทยจะเดินหน้าต่ออย่างไร และเราจะหาชนิดที่บริสุทธิ์ที่ยังหลงเหลืออยู่ในประเทศไทยได้หรือไม่


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  • กลุ่มสถิติการประมง กองนโยบายและแผนพัฒนาการประมง กรมประมง. (2564). สืบค้น 29 มีนาคม 2567, จาก https://www4.fisheries.go.th/local/index.php/main/site/strategy-stat
  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, คณะวิทยาศาสตร์. (2567, 14 มีนาคม). เวทีเสวนา ปลาดุกไทย ต้องไปต่อ ((Thai Catfish: The Beyond). สืบค้นจาก https://www.facebook.com/AGBResearchCenterKU/videos/3558556814394850
  • สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร. (2567). สืบค้น 29 มีนาคม 2567, จาก https://www.oae.go.th/view/1/ผลพยากรณ์/TH-TH

About Author