โรงงานสมัยใหม่ เพื่ออุตสาหกรรมยั่งยืน

เทคโนโลยีที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมสู่ industry 4.0 และ อุตสาหกรรมสีเขียว

28 มีนาคม 2567

A6
B6
  • ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC)
  • ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC)
  • ฝ่ายบริการงานวิศวกรรม สวทช. (NSTDA Fabrication and Engineering Service Division : NFED)

A6/B6

ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC)

ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน หรือ Sustainable Manufacturing Center (SMC) อยู่ภายใต้การดูแลของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EECi และเป็นกิจกรรมหลักภายใต้เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ (ARIPOLIS) มุ่งเน้นการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิต ผู้พัฒนาระบบ นวัตกร นักวิจัย ตลอดจนนักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้อง สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบการสาธิต การเรียนรู้และการทดลองปฏิบัติจริง รวมไปถึงกิจกรรมวิจัยเพื่อการสร้างนวัตกรรม

SMC ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยเพื่อมุ่งไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) และส่งแรงขับเคลื่อนถึงการเป็นประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม (Thailand 4.0) เป้าหมายหลักต้องการผลักดันอุตสาหกรรมไทยก้าวเข้าสู่ Industry 4.0 โดยส่งเสริมให้กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมสามารถนําเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตของโรงงาน รวมทั้งแนะนำบริการต่าง ๆ ของศูนย์ฯ ที่จะช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต เช่น บริการตรวจประเมินระดับความพร้อมของโรงงาน บริการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากร บริการให้คำปรึกษาทางเทคนิคและคำปรึกษาเกี่ยวกับแหล่งทุนและสิทธิประโยชน์ บริการพัฒนาระบบตามความต้องการของอุตสาหกรรม และบริการเครื่องมือสำหรับทดสอบและเรียนรู้

กิจกรรมนี้เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมโรงงานจำลองเพื่อการเรียนรู้และเครื่องมือทดสอบเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ Industry 4.0 Testbed ภายในศูนย์ฯ ประกอบด้วย

  1. Digital Lean Learning Factory (โรงงานแห่งการเรียนรู้ด้านดิจิทัลลีน) โรงงานจำลองที่ได้รับการสร้างให้มีสภาวะใกล้เคียงกับสภาวะของโรงงานจริง โดยนำแนวคิดลีนไปใช้ในการผลิต เพื่อให้ผู้เรียนรู้หรือผู้พัฒนาเทคโนโลยีได้เรียนรู้ถึงโจทย์และความซับซ้อนของโจทย์ที่ใกล้เคียงกับโรงงานจริง ที่โรงงานนี้มีการจำลองเครื่องจักรอเนกประสงค์ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ เครื่องตัด เครื่องกลึง เครื่องกัด และเครื่องเจาะในการแปรรูปโลหะ ทำให้มีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์กรณีศึกษา โดยผลิตภัณฑ์กรณีศึกษาเริ่มต้นถูกกำหนดให้เป็นแกนลูกหมากรถบรรทุก (shaft for torque-rod bush)

  2. IIoT Connectivity and Interoperability Testbed (ชุดสาธิตการเชื่อมต่อและการทำงานร่วมกันของเครื่องจักรด้วย IIoT) ชุดสาธิตประกอบด้วยอุปกรณ์ PLC หลากหลายรุ่น โดยแบ่งเป็นสถานีต่างๆตามโพรโทคอลการสื่อสารของอุปกรณ์ของแต่ละค่ายผู้ผลิตหลัก เช่น สถานี CC-Link IE, สถานี EtherNet/IP, สถานี EtherCAT, สถานี PROFINET และ สถานี OPC UA ในแต่ละสถานีจะมีการสาธิตการเขียนโปรแกรมควบคุมในระบบอุตสาหกรรมแบบอัตโนมัติด้วยอุปกรณ์ PLC ร่วมกับอุปกรณ์ต่อพ่วงอื่น ๆ เช่นอุปกรณ์ I/O, HMI, Motor, Servo และการสาธิตการสื่อสารด้วยโพรโทคอลต่าง ๆ รวมถึงการดึงข้อมูลจากอุปกรณ์ PLC ไปยังคลาวด์แพลทฟอร์มเพื่อนำไปประมวลผล นำเสนอ หรือแจ้งเตือนกรณีมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น

  3. Industrial Automation System (ระบบควบคุมอัตโนมัติในงานอุตสาหกรรม) ระบบจำลองโรงงานการผลิตสินค้าที่มีองค์ประกอบของเทคโนโลยีของการควบคุมระบบการผลิตอัตโนมัติด้วย Programmable Logic Controller (PLC) ในรูปแบบมาตรฐานอุตสาหกรรม โดยมีหุ่นยนต์แขนกลแบบ Collaborative Robots (COBOT) ทำงานแบบอัตโนมัติร่วมกับระบบสายพานการผลิตและเซนเซอร์ และมีการแสดงผลการผลิตแบบ real-time บนจนแสดงผลด้วยระบบ SCADA โดยแสดงผลการวิเคราะห์ประสิทธิผลของเครื่องจักรในระบบสายการผลิตทั้งหมดของโรงงาน และสามารถแสดงผลบนระบบคลาวด์แบบ real-time บนอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ

  4. Motor and Drive Anomaly Detection Testbed (ชุดทดสอบมอเตอร์และระบบส่งกำลัง) ชุดทดสอบการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้าและระบบส่งกำลังไปยังโหลด สามารถตรวจวัดข้อมูลในระหว่างการทำงานจริงในสภาวะต่าง ๆ เช่น ข้อมูลการใช้พลังงานไฟฟ้าและการกำเนิดความร้อนของมอเตอร์ แรงบิดที่เกิดขึ้นในระบบต้นกำลัง การสั่นสะเทือนที่จุดรองรับการหมุนต่างๆ การสั่นสะเทือนจากชุดเกียร์ทดรอบ ทั้งในสภาวะการทำงานปกติและผิดปกติ

SMC Academy โดย ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) ได้ออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ การจัดฝึกอบรมและสัมมนาให้กับผู้สนใจและผู้ที่เกี่ยวข้องในงานด้านอุตสาหกรรมได้เข้ามาเติมเต็มความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ จนนำไปสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมและด้านที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน

กลุ่มหลักสูตรอบรม  7 กลุ่ม ประกอบด้วย

  1. Automation & Robotics
  2. Internet of Things & Edge Computing
  3. OT / IT Security
  4. Modern Automotive Innovation
  5. Lean Management & Smart Manufacturing
  6. Smart Factory Executive program
  7. Smart Agriculture

ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC)

เปิดให้บริการทดสอบ สอบเทียบ วิจัย พัฒนา ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องจักรในภาคโรงงานอุตสาหกรรม, โดรนภาคการเกษตร, UAV, เครื่องมือแพทย์, อุปกรณ์ระบบรถไฟฟ้า รวมไปถึงระบบอิเล็กทรอนิกส์ในระบบยานยนต์ และการทดสอบ EMC สำหรับรถทั้งคัน เพื่อช่วยผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมพลังงานรูปแบบใหม่ ๆ ยกระดับเศรษฐกิจของประเทศและสร้างความมั่นคงทางพลังงาน สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG

ฝ่ายบริการงานวิศวกรรม สวทช. (NSTDA Fabrication and Engineering Service Division : NFED)

หน่วยบริการกลาง ของ สวทช. โดยให้บริการงานด้านออกแบบวิศวกรรม เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานวิจัย และพัฒนาต้นแบบเชิงวิศวกรรม ได้แก่ การให้คำปรึกษา การออกแบบ การวิเคราะห์การจำลองทางวิศวกรรม การสร้างชิ้นงาน การสร้างเครื่องต้นแบบ การออกแบบฟังก์ชั่นการทำงาน ระบบแมคคานิกส์กลไก ระบบควบคุมการทำงาน ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ การเชื่อมต่อระหว่าง software และ hardware การออกแบบรูปร่างหน้าตาของผลิตภัณฑ์ (product design) การเลือกใช้วัสดุให้เหมาะสมกับงาน มาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง กลุ่มลูกค้าที่ให้ บริการ ได้แก่ หน่วยงานภายใน สวทช. หน่วยงานภายนอก ภาครัฐและเอกชน SME และ กลุ่ม Startup