อิฐน้ำซึมผ่านเร็วจากเศษกระเบื้อง/เทคโนโลยีวัสดุพรุน/นวัตกรรมจากวัสดุเหลือทิ้ง

ชื่อผลงาน

อิฐน้ำซึมผ่านเร็วจากเศษกระเบื้อง

ที่มา

คอนกรีตน้ำซึมผ่านเร็ว (Pervious concrete paving block) เป็นคอนกรีตชนิดหนึ่งที่มีลักษณะรูพรุนสูงและสามารถให้น้ำไหลผ่านได้ สามารถนำไปใช้งานหลายประเภทที่มีความสำคัญต่อการระบายน้ำ เช่น ถนนรถแล่น ทางเท้า และลานจอดรถ ช่วยป้องกันการกัดเซาะและน้ำท่วมโดยปล่อยให้น้ำไหลลงสู่พื้นดินแทนที่จะไหลออกจากผิวดิน นอกจากประโยชน์ด้านการจัดการน้ำแล้ว ยังสามารถช่วยลดผลกระทบจากเกาะความร้อนในเมืองด้วยการปล่อยให้น้ำระเหยผ่านพื้นผิวและทำให้อากาศโดยรอบเย็นลง งานวิจัยนี้ ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท เคนไซ ซีรามิคส์ อินดัสตรี้ จำกัด เนื่องจากบริษัทฯ ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษกระเบื้องเหลือทิ้งของบริษัทฯ เพื่อลดต้นทุนในการกำจัด และลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม

เป้าหมาย

การพัฒนาสูตรผสมและเทคนิคในการผลิตคอนกรีตน้ำซึมผ่านเร็วที่เหมาะสม โดยใช้มวลรวมเป็นเศษกระเบื้องเซรามิกเป็นวัตถุดิบหลักมากกว่า 50 % ในสูตรการทดลองและทำการผลิตชิ้นงานต้นแบบ พร้อมทดสอบคุณสมบัติเปรียบเทียบตามมาตรฐานของคอนกรีตน้ำซึมผ่านเร็ว

ทีมวิจัยทำอย่างไร

นำเศษกระเบื้องมาบดให้มีขนาดต่าง ๆ กัน ผสมกับปูนซีเมนต์และมวลรวมในอัตราส่วนที่เหมาะสม ขึ้นรูปด้วยกระบวนการอัด บ่มชิ้นงาน 28 วัน แล้วนำไปทดสอบ ความหนาแน่น ความพรุนตัว กำลังรับแรงอัด ความคงทนต่อการขัดสี และอัตราการซึมผ่านน้ำ ตามข้อกำหนด  ACI 522-13

คุณสมบัติ

ต้นแบบคอนกรีตน้ำซึมผ่านเร็วขนาด 30 x 30 x 5 cm. โดยต้นแบบที่ได้มีความหนาแน่นที่ 2,062 kg/m3 ความพรุน 23.11 % อัตราการซึมผ่านของน้ำ 1.16 cm/s กำลังรับแรงดัดที่ 2.26 MPa

สถานภาพงานวิจัย

ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทแล้ว

แผนงานในอนาคต

ขยายสเกลการผลิต และทดลองใช้งานในสภาพพื้นที่จริง

ลักษณะอิฐคอนกรีตน้ำซึมผ่านเร็ว
เศษกระเบื้องบด
ชิ้นทดสอบอิฐน้ำซึมผ่านเร็ว
การวัดอัตราการซึมผ่านของน้ำ น้ำซึมผ่านเร็ว
ต้นแบบอิฐคอนกรีต
ติดต่อสอบถาม

นายวิทยา ทรงกิตติกุล
ผู้ช่วยวิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ