การขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจ BCG สาขาอาหาร

สวทช. จับมือหน่วยงานพันธมิตร มุ่งเป้าขับเคลื่อนประเทศไทยสู่แหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีโภชนการที่ดี เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีของประชาชน รวมทั้งสนับสนุน สร้างโอกาสนการต่อยอดธุรกิจอุตสาหกรรมห่วงโซ่อาหารในการแข่งขันได้ในเวทีโลก และนำพาประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านอาหารแห่งอนาคต ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG

โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
  • กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารเดิม
  • กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารใหม่
  • กลุ่มอาหารท้องถิ่น
ภายใต้การขับเคลื่อน 6 โปรแกรม
1. การพัฒนาแนวทางบริหารจัดการผลผลิต

          โครงการตรวจสอบย้อนกลับการส่งออกทุเรียนที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP จากไทยไปจีน โดยทีมวิจัย สวทช. นำเทคโนโลยี Blockchain มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนากระบวนการ และธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับเศรษฐกิจการค้าสมัยใหม่ ด้วยการสร้างความมั่นใจ/เชื่อใจในมาตรฐาน และคุณภาพสินค้าให้แก่ผู้นำเข้า และผู้บริโภคการตรวจสอบย้อนกลับในธุรกิจ/สินค้าเกษตร (Traceability) เพราะการบันทึกข้อมูลด้วยเทคโนโลยี Blockchain ทำให้ไม่สามารถแก้ไขข้อมูลได้ ซึ่งจะช่วยให้การตรวจสอบสินค้าเกษตร เกิดความโปร่งใส และน่าเชื่อถือตามมาตรฐานที่ผู้ซื้อต้องการซึ่งจะนำไปสู่การค้าที่มากขึ้น และได้ราคาดีขึ้น

เนคเทค สวทช. ร่วมกับ กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ สถาบันรหัสสากล ดำเนินโครงการ Traceability of GAP-certified Durian Exports from Thailand to PRC โดยได้รับอนุมัติทุนสนับสนุนจาก ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) ซึ่งเป็นโครงการที่มีการพัฒนาต่อยอดระบบตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์ด้านเกษตรอาหารของประเทศ มาทดสอบการตรวจสอบย้อนกลับการส่งออกทุเรียนจากประเทศไทยไปยังประเทศจีน หรือ Cross border traceability เพื่อยกระดับการส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของประเทศ โดยมีโครงการคู่ขนานที่ทีมวิจัยจากประเทศเวียดนามดำเนินการพัฒนา 

2. การพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมการผลิตสีเขียว

สวทช. ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ดำเนินโครงการ การยกระดับอุตสาหกรรมสีเขียว GI ในกระบวนการผลิต ซึ่งมีการวินิจฉัยปัญหาเบื้องต้นจากโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการแต่ละราย โดยผู้เชี่ยวชาญจาก สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และนักวิจัยจาก สวทช. และได้จัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้าใจในข้อกำหนด และแนวทางปฏิบัติตามเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียวให้กับผู้ประกอบการ และผู้สนใจ โดยส่งเสริมผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งบริษัทขนาดใหญ่ หรือ SMEs เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นเข้าไปให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการให้ได้รับความรู้ คำปรึกษาด้านการผลิต การจัดการสิ่งแวดล้อม และพลังงานเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในโรงงานเพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียวอย่างเป็นระบบทั้งระยะสั้น และระยะยาวตามนโยบายของประเทศ

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ภายใต้โครงการยกระดับ GI  โดยดำเนินโครงการ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์

3. การยกระดับอุตสาหกรรมเดิม สร้างอุตสาหกรรมใหม่

          อุตสาหกรรมการผลิตส่วนผสมฟังก์ชัน หรือ Functional ingredient  เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพของประเทศไทย จากฐานความเข้มแข็งของทรัพยากรชีวภาพที่หลากหลายของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหลากหลายของจุลินทรีย์ นำไป สู่การวิจัยและพัฒนาด้านการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์อย่างกว้างขวาง โดยใช้องค์ความรู้พหุสาขาวิชามาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาจุลินทรีย์ และผลิตภัณฑ์จากจุลินทรีย์ เพื่อผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ในอุตสาหกรรมต่างๆ  ทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสม่ำเสมอ  รวมถึงการพัฒนากระบวนการผลิตที่ลดความซับซ้อนภายในกระบวนการ การลดระยะเวลาในการผลิต และปรับปรุงกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรม

            ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์

น้ำส้มสายชูหมักจากผลไม้

นอกจากนี้อีกผลิตภัณฑ์ที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ ผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือก เพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ โดยมีการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมกระบวนการผลิตมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีการสกัดโปรตีนจากแหล่งต่างๆ เทคโนโลยีการหมัก (fermentation) เทคโนโลยีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างโปรตีน (Protein Modification) เทคโนโลยีเอ็กซ์ทรูชัน (Extrusion technology)  และ 3D Printing Technology

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือก

Ve-chick ผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อไก่จากโปรตีนพืชปราศจากกลูเตนในรูปผงพรีมิกซ์

ผลิตภัณฑ์ไข่เหลวพาสเจอร์ไรซ์จากโปรตีนพืช

ผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกจากเส้นใยเห็ด

4. การยกระดับคุณภาพ ความปลอดภัย และมาตรฐานของอาหารท้องถิ่น

อาหารท้องถิ่นและอาหารกลุ่ม Street food เป็นผู้ประกอบการอาหารกลุ่มใหญ่ของประเทศ โดยปัญหาหลักของกลุ่มนี้คือเรื่องมาตรฐาน สุขลักษณะ การสร้างความเดือดร้อนรำคาญ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การกีดขวางทางสัญจร  ปัญหาฝุ่นควันและการปล่อยน้ำเสีย และขยะสู่ที่สาธราณะ  ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป แนวทางแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องมีการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ และนวัตกรรม การให้ความรู้ และการกำกับดูแลเพื่อยกระดับผู้ประกอบการให้ได้มาตรฐานสุขลักษณะ ความปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สวทช. ดำเนินการยกระดับสตรีทฟู้ดไทย ให้ได้มาตรฐานทั้งด้านคุณภาพและความปลอดภัย โดยได้พัฒนารถเข็นรักษ์โลกเพื่อสตรีทฟู้ด ที่ติดตั้งชุดอุปกรณ์ Street food mobile พร้อมระบบบริหารจัดการพลังงาน ซึ่งเป็นต้นแบบนวัตกรรมรถเข็นรักษ์โลกเชิงพาณิชย์ จำนวน 4 โมเดล

โมเดลที่ 1 รถเข็นนํ้าหนักเบาพร้อมระบบนํ้าดี ถังดักไขมันและซิงค์นํ้า

โมเดลที่ 2 รถเข็นน้ำหนักเบาพร้อมระบบน้ำดี ถังบำบัด และซิงค์น้ำ ระบบดูดควัน

โมเดลที่ 3 รถเข็นน้ำหนักเบาพร้อมระบบน้ำดี ถังบำบัด และซิงค์น้ำ ระบบดูดควัน และบำบัดควันหัวเตาแก๊ส 2 หัว

โมเดลที่ 4 รถเข็นน้ำหนักเบาพร้อมระบบน้ำดี ถังบำบัดและซิงค์น้ำพร้อมเจาะช่องใส่หม้อต้ม เพื่อให้ครอบคลุมการใช้งานของผู้ค้าที่ต้องใช้หม้อต้มในการประกอบอาหาร

การยกระดับด้านความปลอดภัยในการแปรรูปอาหารประเภทปิ้งย่าง และขยายผลสู่ตลาด street food ในเชิงพาณิชย์ โดยในปัจจุบันการแปรรูปอาหารโดยการปิ้งย่างพบปัญหาทั้งในด้านความปลอดภัย เช่น สารก่อมะเร็งที่มากับเขม่าควันจากการปิ้งย่างที่มีผลต่อทั้งผู้ขายหรือผู้บริโภค และปัญหาเรื่องของการปิ้งย่างที่ไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากการควบคุมความสม่ำเสมอของแหล่งความร้อนทำได้ยาก ส่งผลต่อการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ จึงเป็นข้อจำกัดในการขยายธุรกิจของผู้ประกอบการ สวทช. โดย ศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบ และวิศวกรรม ได้พัฒนาเครื่องปิ้งย่างกึ่งอัตโนมัติ ที่สามารถตอบสนองต่อปัญหาอุตสาหกรรมผลิตและแปรรูปอาหารของ Street Food

5. การส่งเสริมแบรนด์อาหารไทยในระดับโลก
6.การยกระดับรายได้พื้นฐานหน่วยวิเคราะห์ทดสอบด้านอาหารฟังก์ชัน