HybridSure
ไฮบริดชัวร์ การตรวจความบริสุทธิ์เมล็ดพันธุ์อย่างแม่นยำและรวดเร็ว
HybridSure เป็นงานบริการตรวจเอกลักษณ์และความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ลูกผสม เช่น แตงกวา แตงโม แตงเทศ มะเขือเทศ มะระ และพริก โดยจะทำการตรวจความบริสุทธิ์ด้วยเครื่องหมายโมเลกุลสนิปที่จำเพาะเจาะจงกับลูกผสมแต่ละคู่ วิธีการตรวจสอบนี้รวดเร็วและแม่นยำกว่าวิธีที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมาก HybridSure สามารถตรวจสอบเมล็ดพันธุ์ลูกผสมที่ผลิตกันอย่างแพร่หลายในแถบ Southeast Asia ได้เกือบทุกสายพันธุ์ แม้กระทั่งสายพันธุ์ที่มีฐานพันธุกรรมใกล้เคียงกัน
จุดเด่นของเทคโนโลยี (Innovation Statement)
  • HybridSure สามารถบ่งบอกเอกลักษณ์และความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตขึ้นในประเทศไทยได้อย่างดี ในขณะที่ชุดตรวจอื่นๆ ที่มีอยู่ได้รับการพัฒนามาจากข้อมูลจีโนมของสายพันธุ์ต่างประเทศ ซึ่งอาจจะไม่สามารถแยกแยะสายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นในไทยได้
  • ชุดตรวจสนิปสามารถตรวจความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ปริมาณมากได้รวดเร็วกว่า และประหยัดแรงงานกว่าการตรวจด้วยวิธีทางกายภาพ
  • ชุดตรวจสนิปมีความถูกต้องแม่นยำสูงกว่าวิธีการตรวจทางกายภาพที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
คุณสมบัติของต้นแบบผลิตภัณฑ์
การค้นหาสนิปใช้เทคโนโลยีจีโนไทป์ปิ้งบายซีเคว้นซิ่ง (genotyping-by-sequencing หรือ GBS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถค้นหาสนิปในหลายสายพันธุ์ได้ ในระยะเวลารวดเร็ว และมีค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก
การประยุกต์ใช้งาน
สามารถนำเครื่องหมายโมเลกุลสนิปที่ค้นพบจากกระบวนการ genotyping-by-sequencing มาทำการคัดเลือกตำแหน่งที่เหมาะสม เพื่อทำการออกแบบดีเอ็นเอไพรเมอร์ และโพรบสำหรับใช้ในการตรวจสอบเอกลักษณ์ และความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์
กลุ่มลูกค้า/ผู้ใช้งานเทคโนโลยีเป้าหมาย
บริษัทผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ลูกผสม
กลุ่มนักลงทุนเป้าหมาย
พันธมิตรทางธุรกิจเพื่อช่วยขยายตลาดให้กับ HybridSure
สถานภาพทรัพย์สินทางปัญญา
  • สิทธิบัตรการประดิษฐ์ เรื่อง ชุดไพรเมอร์และชุดดีเอ็นเอโพรบที่จำเพาะต่อเครื่องหมายโมเลกุลสนิป ที่ใช้ในการตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุ์พริก และกระบวนการใช้ชุดไพรเมอร์และชุดดีเอ็นเอโพรบดังกล่าว คำขอเลขที่ 1701001737 วันที่ยื่นคำขอ 29 มีนาคม 2560
  • สิทธิบัตรการประดิษฐ์ เรื่อง ชุดไพรเมอร์และชุดดีเอ็นเอโพรบที่จำเพาะต่อเครื่องหมายโมเลกุลสนิป ที่ใช้ในการตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุ์แตงโม และกระบวนการใช้ชุดไพรเมอร์และชุดดีเอ็นเอโพรบดังกล่าว คำขอเลขที่ 1701001738 วันที่ยื่นคำขอ 29 มีนาคม 2560
  • สิทธิบัตรการประดิษฐ์ เรื่อง ชุดไพรเมอร์และชุดดีเอ็นเอโพรบที่จำเพาะต่อเครื่องหมายโมเลกุลสนิป ที่ใช้ในการตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุ์แตงกวา และกระบวนการใช้ชุดไพรเมอร์และชุดดีเอ็นเอโพรบดังกล่าว คำขอเลขที่ 1701001739 วันที่ยื่นคำขอ 29 มีนาคม 2560
  • สิทธิบัตรการประดิษฐ์ เรื่อง ชุดไพรเมอร์และดีเอ็นเอโพรบสำหรับตรวจสอบเอกลักษณ์ของพันธุ์พริกและกระบวนการตรวจสอบนั้น คำขอเลขที่ 1701005994 วันที่ยื่นคำขอ 6 ตุลาคม 2560
  • สิทธิบัตรการประดิษฐ์ เรื่อง ชุดไพรเมอร์และชุดดีเอ็นเอโพรบที่จำเพาะต่อเครื่องหมายโมเลกุลสนิปในไมโทคอนเดรีย ที่ใช้ในการตรวจสอบเอกลักษณ์ของเมล็ดพันธุ์แตงกวาและกระบวนการตรวจสอบดังกล่าว คำขอเลขที่ 1801001076 วันที่ยื่นคำขอ 23 กุมภาพันธ์ 2561
  • สิทธิบัตรการประดิษฐ์ เรื่อง ชุดไพรเมอร์และชุดดีเอ็นเอโพรบที่จำเพาะสำหรับตรวจสอบเอกลักษณ์ของพันธุ์แตงเทศและกระบวนการตรวจสอบนั้น คำขอเลขที่ 1801001292 วันที่ยื่นคำขอ 2 มีนาคม 2561
เทคโนโลยีที่ได้รับรางวัล
  • ดร. วิรัลดา ภูตะคาม: ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี2560 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ จากเทคโนโลยีหลัก ที่ใช้พัฒนาชุดตรวจเอกลักษณ์และความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ (เทคโนโลยีจีโนไทปปิ้งบายซีเควนซิ่ง หรือ genotyping-by-sequencing)
  • ชุดตรวจสนิปเพื่อการทดสอบเอกลักษณ์และความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์แตงกวา แตงโม แตงเทศ และพริก: ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์ คิดค้น ระดับดี สาขาเกษตรศาสตร์ ประจำปี 2562 จากสภาวิจัยแห่งชาติ
  • ดร. วิรัลดา ภูตะคาม: ได้รับคัดเลือกให้นำผลงาน HybridSure เข้าร่วมโครงการ Leaders in Innovation Fellowship ประจำปี 2562 และได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวด pitching ที่ London, UK
  • ดร. วิรัลดา ภูตะคาม: ได้รับรางวัล The Most Fundable Innovation Award จากการประกวด pitching ผลงานเรื่อง HybridSure ในงาน Leaders in Innovation Fellowship Asia Innovates 2019 ที่ Kuala Lumpur, Malaysia
สถานะการพัฒนาผลิตภัณฑ์
บริการ HybridSure พร้อมรองรับลูกค้าที่ประสงค์จะส่งเมล็ดพันธุ์ลูกผสมเพื่อตรวจความบริสุทธิ์
ภาพรวมตลาด
ปัจจุบัน “การตรวจวิเคราะห์โดย DNA” เข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะสินค้าส่งออกของไทยที่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร การวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยี DNA นั้น สามารถป้องกันการลักขโมยพันธุ์พืช หรือตรวจสอบการปลอมปน รวมถึงการรับรองคุณภาพพันธุ์ที่ดีได้
อุตสาหกรรมประเภทการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์ด้วยการวิเคราะห์สารทางพันธุกรรม แบ่งออกตามการดำเนินงานภายใต้หน่วยงานต้นสังกัด ซึ่งมีอยู่ 3 ประเภทหลักๆ คือ ต้นสังกัดในหน่วยงานของรัฐ มหาวิทยาลัย และบริษัท ห้องปฏิบัติการตรวจพิสูจน์ DNA ส่วนใหญ่ในประเทศไทย อยู่ในหน่วยงานของรัฐ ซึ่งจะดำเนินงานภายใต้คำสั่ง และงบประมาณของรัฐบาล เช่นเดียวกันกับการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยที่อยู่ภายใต้คำสั่ง และนโยบายของมหาลัยเช่นกัน ในประเทศไทยมีหน่วยงานสังกัดมหาวิทยาลัยที่ให้บริการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์ สิ่งส่งตรวจทางการเกษตรด้วยการวิเคราะห์สารทางพันธุ์กรรม จำนวน 2 แห่ง คือ Omics (โดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) และ DNA Technology (โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน) ในส่วนของบริษัทเอกชนนั้น ส่วนใหญ่เป็นบริษัทผู้แทนที่รับตัวอย่าง และทำการส่งวิเคราะห์ในต่างประเทศ เทคโนโลยีจะสนับสนุนให้การตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมมีการใช้งานอย่างกว้างขวาง และมีค่าใช้จ่ายที่ลดลง และได้ผลที่รวดเร็วน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น อีกประการหนึ่งความเจริญก้าวหน้า และการสื่อสารของเทคโนโลยีในปัจจุบันที่มีผลต่อธุรกิจการวิเคราะห์ DNA ด้วยช่องทางการประชาสัมพันธ์โดยโซเชียลเน็ตเวิร์กนั้น มีอิทธิพลต่อการกระจายข้อมูลในสังคมไทยในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ดังนั้น ธุรกิจการตรวจวิเคราะห์ด้วย DNA จึงมีแนวโน้มที่จะเติบโตและขยายตลาดภายในเวลา 10 ปีนี้
ผลประโยชน์ (Impact)
เชิงวิชาการ/วิทยาศาสตร์:
การใช้ชุดตรวจในการตรวจเอกลักษณ์พ่อ-แม่พันธุ์ ก่อนการนำไปใช้ในโครงการปรับปรุงพันธุ์มีประโยชน์ต่อนักปรับปรุงพันธุ์พืช สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในทางพาณิชย์ (นักปรับปรุงพันธุ์บริษัทเอกชน) และทางวิชาการ เช่น การสร้างประชากรลูกผสม เพื่อหาเครื่องหมายโมเลกุลไปใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ (marker-assisted selection)
เชิงเศรษฐกิจ/พาณิชย์:
ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการตรวจความบริสุทธิ์เมล็ดพันธุ์ ช่วยให้การจัดจำหน่าย และส่งออกเมล็ดพันธุ์ทำได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เชิงสังคม/สิ่งแวดล้อม:
ช่วยให้เกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ (contract farmer) ได้รับค่าตอบแทนจากการผลิตเมล็ดพันธุ์เร็ว ขึ้นกว่าเดิมมาก ส่งผลให้เกษตรกรสามารถลงทุนในรอบการปลูกถัดไปได้เร็วขึ้น เป็นการเพิ่มรายได้ต่อปีให้เกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ประมาณ 80,000 ครัวเรือนในประเทศไทย
"ไฮบริดชัวร์ การตรวจความบริสุทธิ์เมล็ดพันธุ์อย่างแม่นยำและรวดเร็ว"

ติดต่อขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ดร.วิรัลดา ภูตะคาม
ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สวทช.
โทรศัพท์ 085-341-2632
E-mail:
นางสาวจิราวรรณ ยี่สิบแสน
ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช.
โทรศัพท์ 0-2564-6700 ต่อ 3305
E-mail:
นางสาวรัชวรรณ ฐานัตถวงศ์เจริญ
สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี สวทช.
โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1357
E-mail:
ศูนย์ลงทุน
ฝ่ายบริการทางการเงินเพื่อนวัตกรรม สวทช.
โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1327
E-mail: