“ทำให้รู้สภาพอากาศสวนของเราเป็นอย่างไร แล้วก็ประหยัดและปลอดภัย คำบอกเล่าจาก นัทธี สุวรรณจินดา เกษตรกรรุ่นใหม่ เมื่อพูดถึง ระบบตรวจวัดด้วยเซนเซอร์แบบเครือข่ายไร้สายเพื่อการจัดการและควบคุมอัตโนมัติ หรือ ไวมาก (WiMaRC)

“สมัยพ่อแม่ทำสวนอาศัยประสบการณ์จัดการแปลง อย่างช่วงพฤศจิกายนลมหนาวเริ่มมา จะอดน้ำทุเรียนเพื่อให้ทุเรียนออกดอก แต่บางปีก็ไม่เป็นตามนั้น ถ้าอากาศไม่ได้ ก็ต้องอดน้ำทุเรียนจนใบเหลือง ถ้าไม่หนาวก็ต้องรดน้ำ” นัทธี เล่าถึง “การคาดเดาสภาพอากาศไม่ได้” ซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งที่คนทำสวนทุเรียนประสบ

นัทธี เบนเข็มจากอาชีพครูมาช่วยพ่อแม่ทำสวนทุเรียน “สุวรรณจินดา” ได้ราว 10 ปี ด้วยเป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่าย เขาจึงหาข้อมูลสภาพอากาศจากแหล่งอื่นๆ นอกเหนือจากข้อมูลสภาพอากาศจากหน่วยงานรัฐที่ชาวสวนคุ้นเคย เพื่อมาช่วยตัดสินใจจัดการสวนทุเรียนพื้นที่ 30 ไร่ของครอบครัว

“ข้อมูลจากเว็บไซต์อากาศหรือจากเฟซบุ๊กมีมากขึ้น ดูง่ายและดูผ่านมือถือได้ ทำให้เรารู้ว่าต้องเตรียมสวนอย่างไร อย่างรู้ว่าอาทิตย์หน้าอากาศจะเริ่มหนาว เราจะต้องตัดแต่งกิ่งในทรงพุ่ม ใส่ปุ๋ย รดน้ำให้ต้นทุเรียนกินอาหารเต็มที่ พออากาศหนาวมาก็อดน้ำทุเรียนให้อยู่ในสภาวะเครียดเพื่อออกดอก”

แม้จะมีข้อมูลสภาพอากาศจากหลายแหล่งแล้วก็ตาม แต่ นัทธี กลับสนใจเทคโนโลยีไวมากที่เจ้าหน้าที่ สวทช. ลงพื้นที่แนะนำให้ “กลุ่มปรับปรุงคุณภาพทุเรียนวังจันทร์” ที่เขาเป็นสมาชิก และเขาได้ขออาสาเป็นจุดติดตั้งเทคโนโลยีไวมากของกลุ่มฯ

“ตอนแรกยังไม่เข้าใจเทคโนโลยีมากนัก แต่สนใจเพราะเห็นว่ามีเซนเซอร์วัดอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ และความชื้นดิน ที่จะทำให้รู้ข้อมูลสภาวะอากาศในสวนเราเอง ไม่ต้องใช้ข้อมูลอ้างอิงจากที่อื่น”

นอกจากเทคโนโลยีไวมาก ทำให้ นัทธี ได้รู้ข้อมูลสภาวะอากาศในพื้นที่สวนของตัวเองแล้ว การรู้ค่าความชื้นดินที่ไม่เพียงทำให้รู้ว่ารดน้ำแค่ไหนถึงเพียงพอ หากยังช่วยแก้ปัญหาการดูดซึมน้ำของต้นทุเรียนในสวน

“ปกติจะรดน้ำต้นทุเรียนครึ่งชั่วโมง ก็สังเกตและสงสัยว่าทำไมหน้าดินแห้งเร็ว ต้นไม่งาม พอได้เซนเซอร์มาวัดความชื้นดิน ทำให้รู้ว่าหัวสปริงเกอร์ที่ใช้อยู่ ให้เม็ดน้ำใหญ่ น้ำที่ลงดินเหมือนน้ำหลากหน้าดิน ไหลผ่านเฉยๆ น้ำไม่ซึมลงดิน พอรู้แบบนี้ก็เลยเปลี่ยนหัวสปริงเกอร์ที่ให้เม็ดน้ำเล็กลง ผลที่ได้ตัวเลขความชื้นในดินเพิ่มขึ้น”

การใช้งานเทคโนโลยีไวมากในปีแรก นัทธี ใช้ข้อมูลจากเซนเซอร์วัดอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์อากาศควบคู่กับเซนเซอร์ความชื้นดิน เพื่อเตรียมความพร้อมให้ต้นทุเรียนพร้อมออกดอก

“ข้อมูลอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ความชื้นดินสัมพันธ์กัน ถ้าเราคุมความชื้นดิน ความชื้นสัมพัทธ์ได้ตามที่คิดไว้ เมื่ออากาศหนาวมา ทุเรียนจะติดดอกได้ง่ายและสม่ำเสมอ จากเดิมที่ทยอยออกดอก ซึ่งปีแรกที่ใช้ข้อมูลจากไวมากมาจัดการ เห็นความแตกต่างได้ชัด ร้อยละ 70 ของต้นทุเรียนในสวนออกดอกพร้อมกัน”

นัทธี ศึกษาข้อมูลตัวเลขความชื้นดินและความชื้นสัมพัทธ์จากสวนอื่นๆ และมาปรับใช้กับสวนตัวเอง เขาพบว่า ช่วงที่จะทำให้ติดดอก ค่าความชื้นสัมพัทธ์ 50-60% ค่าความชื้นดินอยู่ที่ 70-75% โดยใช้เวลารดน้ำครึ่งชั่วโมง วันเว้นวัน ถ้าให้น้ำมากกว่านี้จะทำให้รากเน่าโคนเน่าได้ ถ้าให้น้อยกว่านี้ ทำได้ แต่จะมีผลต่อค่าความชื้นสัมพัทธ์ในโคนต้นต่ำ ซึ่งจะทำให้ทุเรียนเครียดน้อยและไม่ออกดอก

ประสบการณ์ที่ได้จากการใช้งานในปีแรก นัทธี ยังนำมาใช้สำหรับผลิตทุเรียนในปีถัดมา แม้ว่าเทคโนโลยีไวมากที่เขาได้รับติดตั้งจะยังไม่มีระบบสั่งการรดน้ำอัตโนมัติ ซึ่งสามารถเพิ่มฟังก์ชั่นนี้ได้ แต่เขาเห็นว่า ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละสวนและอยู่ที่การเอาข้อมูลจากเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ให้หลากหลายแค่ไหน สำหรับการใช้เทคโนโลยีไวมาก นัทธี มองว่า ไวมากสั่งให้เราไปทำ ทำให้ประหยัดและปลอดภัย

“ข้อมูลจากเทคโนโลยีไวมาก ทำให้เราคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แล้วเราจะจัดการหรือป้องกันอย่างไร เช่น ช่วงที่อากาศร้อนต่อเนื่อง มีลมพัด เป็นจังหวะที่อาจจะมีไรแดงลงใบทุเรียน ข้อมูลจากไวมากเป็นสัญญาณเตือนเราว่าแนวโน้มอากาศร้อน มีลม เราจำเป็นต้องตรวจแปลงว่ามีไรแดงหรือยัง ถ้าเราพบไรแดงน้อย เราก็ฉีดยาปริมาณไม่มาก จัดการตั้งแต่ต้นทาง ทำให้เราประหยัดและปลอดภัย จากที่ต้องใช้สารเคมี 6 ขวด ก็เหลือ 2-3 ขวด หรือการรู้ค่าความชื้นในดินก็มีส่วนช่วยลดค่าใช้จ่ายยากำจัดเชื้อราจากโรครากเน่าโคนเน่าได้”

นัทธี นำข้อมูลที่ได้จากเทคโนโลยีไวมากไปแลกเปลี่ยนให้สมาชิกกลุ่มปรับปรุงคุณภาพทุเรียนวังจันทร์ในวงประชุมเสมอ ขณะเดียวกันข้อมูลสภาวะแวดล้อมอากาศนี้ยังกลายเป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงให้หน่วยงานในพื้นที่เพื่อใช้บริหารงบประมาณด้านภัยพิบัติให้กับชาวสวนอีกด้วย

สำหรับการใช้งานชุดข้อมูลสภาวะแวดล้อมต่างๆ จากเทคโนโลยีไวมากที่บันทึกและดูย้อนหลังได้ นัทธี วางแผนที่จะเก็บข้อมูลของสวน 3 ปี เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลสภาวะแวดล้อมของสวนทุเรียนตัวเอง พร้อมๆ กับข้อมูลการจัดการสวน ซึ่งเขามองว่า ถ้าเราได้ข้อมูลและค่าที่ถูกต้องแล้ว ต่อไปถ้ามีระบบสั่งการอัตโนมัติ ก็จะทำได้แม่นยำขึ้น

“เก็บข้อมูล 3 ปี ก็น่าจะเห็นข้อมูลของสวนได้ โดยใช้ข้อมูลจากไวมากให้เต็มที่และเปรียบเทียบกับแหล่งอื่น ถ้าข้อมูลใกล้เคียงกัน การจัดการใกล้เคียงกัน ต่อไปข้อมูลจากสวนเราก็จะเป็นที่อ้างอิงให้สวนอื่นได้”

# # #

สวนสุวรรณจินดา ต.วังจันทร์ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ผลิตทุเรียนพันธุ์หมอนทองและชะนี ผลผลิตทุเรียนเฉลี่ย 50 ตัน/ปี โดยร้อยละ 80 ของผลผลิตส่งจำหน่ายต่างประเทศ
โทรศัพท์ 063 2398990 facebook: สวนสุวรรณจินดา
(ข้อมูลสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564)

รู้ใช้ ‘ข้อมูลสภาวะแวดล้อม’ ทำสวนทุเรียนได้ ‘ประหยัด ปลอดภัย’