“ตอนเช้าถ้ามีน้ำค้างที่ยอดหญ้า แสดงว่าความชื้นสูง แต่ถ้ายอดหญ้าแห้ง ความชื้นต่ำ แมลงปอบินต่ำ ฝนจะตกหนัก หรือลมโยกๆ ต้นไม้โศก เตรียมให้น้ำได้…”  ปรากฏการณ์ของธรรมชาติที่ชาวสวนผลไม้มักใช้ควบคู่กับข้อมูลพยากรณ์อากาศของหน่วยงานภาครัฐเพื่อบริหารจัดการแปลงของตนเอง แต่สิ่งเหล่านี้อาจไม่เพียงพอสำหรับการทำสวนของเกษตรกรรุ่นใหม่

ดวงพร เวชสิทธิ์, ธรรมรัตน์ จันทร์ดี, กิตติภัค ศรีราม และณฐรดา พิศาลธนกุล สมาชิก Young Smart Farmer จังหวัดจันทบุรี กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มองเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำสวนผลไม้ โดยพวกเขาเริ่มใช้เทคโนโลยีสถานีตรวจวัดอากาศ (weather station) เมื่อปี 2561

“รุ่นพ่อแม่สังเกตจากธรรมชาติ ดูใบ ดูลม ใช้ความรู้สึกวัด สังเกตและจด แต่ไม่มีข้อมูลหรือสถิติที่จับต้องได้ ถ้าเรามีข้อมูลแล้วมาจับคู่กับภูมิความรู้ของพ่อแม่ จะได้องค์ความรู้ที่ชัด แล้วเราเอามาบริหารจัดการพื้นที่ของเราได้” ธรรมรัตน์ อดีตพนักงานบริษัทที่กลับมาทำสวนผลไม้ผสมผสานในพื้นที่ 14 ไร่ สะท้อนถึงสิ่งที่จะได้จากการใช้ข้อมูลที่แม่นยำ

ขณะที่ ดวงพร รองประธานกลุ่มมังคุดแปลงใหญ่เขาคิชกูฎ บอกว่า “จันทบุรีเป็นสวนไม้ผล การติดดอกออกผลขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ 50% การตัดสินใจให้น้ำหรือทำให้ออกดอก ต้องการความแม่นยำทางอากาศค่อนข้างสูง ถ้าตัดสินใจทำดอกครั้งแรกผิดพลาด ต้องไปเริ่มต้นใหม่ 2-3 อาทิตย์ถัดไป ซึ่งเสียเวลามาก ความแม่นยำจึงค่อนข้างมีความจำเป็น” สอดคล้องกับ กิตติภัค คนรุ่นใหม่ที่หันมาจับงานด้านเกษตร  “ต้องการทำสวนด้วยความเข้าใจ ไม่อยากคาดเดา มีหลักวิทยาศาสตร์ที่ทำให้แม่นยำขึ้น”

ข้อมูลจากเซนเซอร์วัดค่าอุณหภูมิ เซนเซอร์วัดค่าความชื้นในดิน เซนเซอร์วัดค่าความชื้นสัมพัทธ์ เซนเซอร์วัดค่าความเข้มแสง อุปกรณ์วัดความเร็วลม และอุปกรณ์วัดปริมาณน้ำฝน ที่แสดงผลตามเวลาจริง (real time) และเก็บบันทึกในระบบของสถานีตรวจวัดอากาศ ช่วยให้พวกเขาใช้ตัดสินใจบริหารจัดการสวนได้

“เราได้ข้อมูลจากสถานีตรวจวัดอากาศและตัดสินใจให้น้ำครั้งแรกปลายพฤศจิกายน ให้น้ำ 2 ชั่วโมง เป็นสวนแรกของกลุ่มที่ให้น้ำ เพราะมั่นใจข้อมูลที่มีว่าไม่เปลี่ยนเป็นใบอ่อนแน่นอน แต่ป้าที่อยู่แปลงข้างๆ กันบอกว่า อากาศยังไม่ได้ เขายังไม่ให้น้ำ ผ่านไป 2 อาทิตย์ ป้าให้น้ำ เราก็บอกเขากลับไปว่าอากาศแบบนี้ไม่ได้หรอก ผลปรากฏว่าไม่ได้จริงๆ เขาให้น้ำครั้งแรกในสภาวะที่คิดว่าต้นเครียดแล้ว แต่เรามั่นใจว่าข้อมูลที่เรามีในช่วงที่ป้าให้น้ำ ไม่เหมาะกับการติดดอก ทำให้แปลงของป้าออกผลช้ากว่าเรา สวนเราเก็บผลผลิตแล้ว แต่เขาเพิ่งจะออกดอก” ดวงพร เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นการใช้ข้อมูลจากสถานีตรวจวัดอากาศเมื่อครั้งให้น้ำสวนมังคุดในช่วงปลายปีที่ผ่านมา

ขณะที่สวนผลไม้กว่า 100 ไร่ของ ณฐรดา อยู่บนเขื่อนสะพานหิน ซึ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเล 300 เมตร ต้องเผชิญกับสภาพอากาศฝนแปดแดดสี่ ผลผลิตออกล่าช้ากว่าสวนผลไม้ด้านล่างและมีความเสี่ยงเรื่องคุณภาพ โดยเฉพาะมังคุดที่มักเกิดเนื้อแก้วยางไหลจากภาวะฝนชุก นอกจากปรับพฤติกรรมการติดดอกของมังคุดแล้ว ข้อมูลจากสถานีตรวจวัดอากาศยังเป็นอีกตัวช่วย

“เราพยายามหาทางทำให้ผลผลิตออกพร้อมด้านล่าง เพราะจำนวนต้นเราเยอะ พื้นที่เยอะ มูลค่าที่หายไปก็เยอะ เราใช้ข้อมูลจากสถานีตรวจวัดอากาศเปรียบเทียบความแตกต่างของอากาศบนเขื่อนกับด้านล่าง แล้วจัดการแปลงของเรา เช็คความชื้นว่าพอมั้ย ต้องให้น้ำหรือไม่ให้น้ำ เตรียมแรงงาน เตรียมน้ำมัน แก๊สที่ใช้กับเครื่องสูบน้ำ ซึ่งเป็นต้นทุนทั้งหมด”

ทุกวันนี้ทั้งสี่คนติดตามข้อมูลจากสถานีตรวจวัดอากาศเป็นประจำผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะดวงพรและณฐรดา ซึ่งไม่ได้อยู่ในพื้นที่สวน เธอจึงพึ่งพิงข้อมูลที่แสดงบนหน้าจอ ดังเช่นช่วงที่ดวงพรต้องตัดสินใจให้น้ำต้นมังคุด เธออาศัยดูข้อมูลกราฟเป็นหลัก “ถ้ากราฟได้ ได้ เพราะเราไม่ได้อยู่ที่สวน ไม่รู้หรอกว่าอากาศที่สวนเป็นอย่างไร ถามคนงาน คนงานก็พูดตามความรู้สึก เอาข้อมูลมาใช้ไม่ได้”

แม้สถานีตรวจวัดอากาศจะติดตั้งอยู่ในพื้นที่ของแต่ละคน แต่พวกเขาสามารถเข้าถึงข้อมูลซึ่งกันและกัน ช่วยกันติดตามข้อมูลและการทำงานของสถานีฯ รวมทั้งแบ่งปันข้อมูลให้สมาชิกในกลุ่มมังคุดแปลงใหญ่เขาคิชกูฎเป็นแนวทางวางแผนการผลิตในพื้นที่ตัวเอง

“ก่อนมีสถานีตรวจวัดอากาศ เราเก็บข้อมูลเองมาตลอด พอได้ข้อมูลจากสถานีฯ ด้วย คิดว่าข้อมูลใช้ได้แล้วล่ะ เราต้องเชื่อมั่นในข้อมูลก่อนแล้วตัดสินใจ ขณะที่คนอื่นไม่กล้าทำ แต่เราลอง พอทำไปแล้ว มันรู้สึกว่าใช่ ข้อมูลนี้ใช้ประกอบการตัดสินใจได้” ดวงพร บอกถึงความมั่นใจที่มีต่อข้อมูลจากสถานีตรวจวัดอากาศ ขณะที่ ธรรมรัตน์ มองว่า ข้อมูลจากสถานีตรวจวัดอากาศดีกว่าการเก็บข้อมูลจากการสังเกตแบบเดิมแน่นอน เป็นข้อมูลจับต้องได้ เชื่อมั่นได้ แล้วเอามาใช้คู่กับที่เคยจดบันทึก วิเคราะห์สภาพอากาศ โรคแมลง ปัจจัยส่งเสริมการออกดอก ก็จะมีวิธีจัดการสวนต่อได้ แต่ช่วยเพิ่มผลผลิตด้วยหรือไม่ ยังเปรียบเทียบไม่ได้ แต่ช่วยควบคุมผลผลิตให้ออกในช่วงที่เราต้องการให้ออกในปริมาณที่เราคุมได้ โดยใช้ข้อมูลเหล่านี้เป็นองค์ประกอบ

เช่นเดียวกับ กิตติภัค ที่สะท้อนว่า ข้อมูลที่เป็น real time ช่วยตัดสินใจ ณ ช่วงเวลานั้น ส่วนข้อมูลย้อนหลังและข้อมูลที่จดบันทึกไว้จะช่วยคาดการณ์เพื่อจัดการบริหารแปลงได้ อย่างเช่นสภาพอากาศแบบไหนที่ทำให้เกิดโรคพืชหรือแมลงศัตรูระบาด แต่อย่างไรก็ตามเขามองว่าในการใช้เทคโนโลยี เกษตรกรต้องรู้ว่าจะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรและรู้ว่าจะเอาไปประยุกต์ใช้อย่างไรด้วย

เกือบสองปีที่เทคโนโลยี “สถานีตรวจวัดสภาพอากาศ” เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตร ตีค่าความรู้ความเข้าใจจากความรู้สึกและประสบการณ์เป็นข้อมูลเชิงตัวเลขที่ช่วยบริหารจัดการแปลงปลูกและช่วยให้การสื่อสารถูกต้องตรงกัน แม้ช่วงที่ผ่านมาเกษตรกรและนักวิจัยต่างเรียนรู้และปรับแต่งเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่และพัฒนาการใช้งานเพื่อให้ “สถานีตรวจวัดสภาพอากาศ” เป็นเครื่องมือที่สร้างความแม่นยำและความเชื่อมั่นในการทำเกษตรยิ่งขึ้น

# # #

หนังสือ วิทย์พลิกชีวิต: เติมด้วยใจ ความรู้ เทคโนโลยี

ทำเกษตรให้แม่นยำ … “สถานีตรวจวัดสภาพอากาศ” ช่วยได้