จุลินทรีย์1

“แต่ก่อนวิถีของชุมชนกำจัดขยะโดยการเผา นำไปทิ้งในแม่น้ำลำคลอง ที่สาธารณะต่างๆ ทำอย่างไรก็ได้ให้ขยะ ใบไม้ กิ่งไม้พ้นบ้านของตนเอง สร้างปัญหาให้กับชุมชน เรื่องขยะเป็นหน้าที่ของทุกคน ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของเทศบาลฯ ฝ่ายเดียว คนในชุมชนต้องมีจิตสาธารณะด้วย”  ร.ต.ต.สุภาพ ยะมะโน หรือ ลุงสุภาพ ประธานคณะกรรมการชุมชนปลอดขยะบ้านท้องฝาย และประธานสภาเทศบาลตำบลริมเหนือ บอกเล่าถึงสภาพการจัดการขยะของชุมชนในอดีต

บ้านท้องฝาย หมู่ 2 ตำบลริมเหนือ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบริมฝั่งแม่น้ำแม่ริม ชุมชนอาศัยอยู่ใต้ฝาย จึงเรียกว่า บ้านท้องฝาย จากการทิ้งขยะของชุมชนที่นับวันจะเป็นปัญหามากขึ้น ลุงสุภาพจึงได้ร่วมกับทางเทศบาลตำบลริมเหนือผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหา โดยนำความรู้หลายๆ ด้านมาถ่ายทอดให้ชุมชน หนึ่งในองค์ความรู้จากสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คือ การใช้จุลินทรีย์เร่งการย่อยสลายเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร

หลังจากได้รับความรู้จาก สท./สวทช. ลุงสภาพ ได้สร้างบ่อเพื่อกำจัดขยะอินทรีย์โดยใช้จุลินทรีย์ช่วยเร่งการย่อยสลายรดในบ่อทุกๆ 6 เดือน ทำให้เศษใบไม้ วัชพืชย่อยสลายได้เร็ว ภายใน 2-3 เดือนย่อยสลาย นอกจากนี้ได้ใช้พื้นที่บ้านของตนเองเป็นจุดทดลองการขยายหัวเชื้อจุลินทรีย์ และจุดสาธิตการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ โดยนำไปฉีดพ่นในแปลงเกษตร พบว่าพืชผัก ผลไม้เติบโต นำไปรดใต้ต้นไม้เพื่อช่วยย่อยสลายใบไม้ และนำไปฉีดรดบนกองดินเพาะปลูก ทำให้ดินมีคุณภาพดีขึ้น

“เกษตรกรน่าจะหันมาใช้จุลินทรีย์ช่วยเร่งการย่อยสลาย ประยุกต์ใช้ร่วมกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยชีวภาพ เพื่อลดการใช้สารเคมี จากที่ทดลองใช้จริงๆ จุลินทรีย์มีประโยชน์มาก”

ลุงสุภาพได้สร้างเครือข่ายต้นแบบในชุมชน 7-8 ครัวเรือน เกิดจุดเรียนรู้ในชุมชนให้ผู้ที่สนใจหรือหน่วยงานภายนอกมาศึกษาดูงาน จำนวน 5 จุด คือการจัดการขยะครบวงจร (ธนาคารขยะ) การจัดการขยะอินทรีย์ (การทำปุ๋ยน้ำชีวภาพ)  การจัดการขยะอินทรีย์ (การทำปุ๋ยหมักเพื่อลดการเผาในชุมชน) การแปรรูปขยะรีไซเคิล (ผลิตภัณฑ์ OTOP) และแปลงสาธิตการผลิตพืชผักด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง

“ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากการลงมือทำ ทดลองใช้ ถึงจะเห็นถึงประโยชน์ การจัดการขยะต้องเริ่มจากภายในบ้านของเราก่อนแล้วนำไปสู่ชุมชนปลอดขยะ”

จากการบริหารจัดการขยะของชุมชนบ้านท้องฝาย ด้วยความร่วมมือร่วมแรงของชุมชน โดยมีความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ จนเป็นต้นแบบ “ชุมชนปลอดขยะ” ทำให้ชุมชนได้รับระดับประเทศมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรางวัลชนะเลิศ ระดับตำบล 2560 “หมู่บ้าน/ชุมชนสะอาด” รางวัลชนะเลิศ ระดับจังหวัด โครงการตามแนวทางประชารัฐ ประจำปี 2561 ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เกียรติบัตรธนาคารขยะต้นแบบในการจัดการขยะชุมชน และรางวัลที่ภาคภูมิใจมากที่สุดของชุมชน คือ รางวัลระดับประเทศ ประจำปี 2560 “ชุมชนปลอดขยะ Zero Waste”

# # #

“บ้านท้องฝาย” ชุมชนปลอดขยะ ดินดีมีคุณภาพ ด้วย “จุลินทรีย์”