สท.-มทร.อีสาน-เทศบาลเมืองบัว ร้อยเอ็ด ทดสอบ 2 เส้นทางท่องเที่ยวทุ่งกุลาฯ ก่อนชูจุดเช็คอินที่ต้องมา

สท.-มทร.อีสาน-เทศบาลเมืองบัว ร้อยเอ็ด ทดสอบ 2 เส้นทางท่องเที่ยวทุ่งกุลาฯ ก่อนชูจุดเช็คอินที่ต้องมา

เมื่อวันที่ 26-27 มกราคม 2567 สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ร่วมกับมหาวิทยาเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ และเทศบาลเมืองบัว ตำบลเมืองบัว อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด จัดกิจกรรมจำลองเส้นทางท่องเที่ยวประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เชื่อมโยงกับฐานทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เสน่ห์ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิถีชีวิตอันดีงามของชุมชน โดยมุ่งหวังให้เกิดการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่มีส่วนร่วมบริหารจัดการ วางแผน จัดโปรแกรมการท่องเที่ยวและนำเสนอเรื่องราว (Storytelling) แหล่งท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยว กิจกรรมครั้งนี้มีหน่วยงานจากส่วนราชการในจังหวัดร้อยเอ็ด สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดร้อยเอ็ด สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดร้อยเอ็ด สภาวัฒนธรรมตำบลเมืองบัว อำเภอเกษตรวิสัย และมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด เข้าร่วมประเมินและให้ข้อคิดเห็น เพื่อพัฒนาการจัดการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป  กิจกรรมครั้งนี้นำร่องโปรแกรมการท่องเที่ยว 2 วัน 1 คืน กับสองเส้นทางท่องเที่ยวในตำบลกู่กาสิงห์และตำบลเมืองบัว

สถานีปูนาเมืองบัว: เรียนรู้เพื่อรักษาและต่อยอด

สถานีปูนาเมืองบัว: เรียนรู้เพื่อรักษาและต่อยอด

“เลี้ยงปูนาปีแรกเหมือนคนบ้า อยู่คอกปูทั้งวัน ส่องไฟฉายดูพฤติกรรมปูตลอด จะไปไหนก็ห่วงก็คิดถึง” ประชา เสนาะศัพท์ และปรีชา ยินดี คู่หูผู้เลี้ยงปูนา เล่าถึงความผูกพันที่เกิดขึ้นกับสัตว์ตัวน้อยนี้ ในวันที่พวกเขาเริ่มต้น “เลี้ยงปูนา” เพื่อหวังอนุรักษ์ ประชา หนุ่มสุรินทร์มาเป็นเขยเมืองบัว อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด มาเกือบ 20 ปี เขาเล่าว่า แต่ก่อนที่นี่ปูนาเยอะมาก แต่ช่วง 10 ปีหลัง ปูหายหมดเพราะยาฆ่าปู เพื่อไม่ให้ปูกัดต้นข้าว ถึงแม้ว่าจะไม่มีปูแล้ว แต่ชาวบ้านยังหว่านยา เพื่อความมั่นใจ เมื่อสัตว์ที่เป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศการทำนาข้าว ถูกจัดให้เป็น “ศัตรูพืช” ของนาข้าว และวิถีการทำนาที่ใช้สารเคมี จำนวนปูนาจึงลดน้อยลงเรื่อยๆ ไม่เพียงวงจรในระบบนิเวศจะแหว่งวิ่น หากยังสะเทือนถึงวิถีการดำเนินชีวิตผู้คนไม่น้อยที่มี “ปูนา” เป็นวัตถุดิบในมื้ออาหาร