ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว สวทช. โดย สท. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พัฒนาสถานีเรียนรู้ (Training Hub) เพื่อรองรับการเรียนรู้ระดับภาคสนามให้กับเกษตรกรและผู้สนใจ โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของทั้งสองหน่วยงานผ่านหลักสูตรการอบรม ฐานเรียนรู้และกิจกรรมต่างๆ โดยเริ่มต้นจากฐานเรียนรู้การผลิตผักอินทรีย์ในพื้นที่ของศูนย์การเรียนรู้การผลิตเมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (ฟาร์ม 907 ไร่) ประกอบด้วยฐานเรียนรู้ 10 ฐานย่อย ได้แก่ การผลิตผักอินทรีย์ในระบบโรงเรือน พันธุ์และเมล็ดพันธุ์ การเพาะกล้าและวัสดุเพาะกล้า การผลิตต้นอ่อนผักอินทรีย์ ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ การเพาะเลี้ยงแหนแดง การเลี้ยงและแยกขยายรังชันโรง ชีวภัณฑ์และการควบคุมโดยชีววิธี สมุนไพรเพื่อการอารักขาพืช และปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกอง นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรการอบรมที่เปิดให้เกษตรกรในเครือข่ายการทำงานของ สวทช. และผู้สนใจได้เข้าร่วมเรียนรู้อีกด้วย
สำหรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมของ สวทช. ที่นำเสนอในฐานเรียนรู้การผลิตผักอินทรีย์ ได้แก่ โรงเรือนปลูกพืช กล่องควบคุมวาล์วให้น้ำ Water Fit Simple บรรจุภัณฑ์ยืดอายุผักและผลไม้ (ActivePak) ถุงปลูก Magik Growth และสารชีวภัณฑ์