“ผมเห็นกองถั่วเขียวก็นึกย้อนไปสมัยเด็ก เราเคยรับจ้างเก็บถั่ว แล้วแถวนี้ก็ไม่เคยมีคนค้าถั่ว น่าจะเป็นไปได้ที่จะลองทำ แล้วยังได้ช่วยชุมชนให้มีรายได้เสริม แทนที่จะทิ้งนาไว้เฉยๆ หรือรอความช่วยเหลือจากรัฐบาล”  มนตรี สมงาม ลูกหลานเกษตรกรบ้านหนองผักนาก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี คนรุ่นใหม่ที่เชื่อมต่อถั่วเขียวจากแปลงนาสู่บริษัทแปรรูป เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนบ้านเกิด

หลังหาข้อมูลและติดต่อจนได้บริษัทรับซื้อถั่วเขียวเพื่อแปรรูป เขากลับมาชักชวน นิมิตร สว่างศรี ผู้เป็นลุงและเป็นแกนนำเกษตรกรบ้านหนองผักนาก ซึ่งปลูกถั่วเขียวไว้บำรุงดินและบริโภคอยู่แล้ว

“ตอนนั้นผมเพิ่งลองส่งถั่วเขียวให้ตลาดที่อำเภอชัยบาดาล จ.ลพบุรี เขาให้ราคา 32 บาท/กก. ซึ่งสูงมาก พอมนตรีมาชวนให้ส่งกับบริษัทที่เขาติดต่อได้ ให้ราคาพอกันและยังมีรถมารับถึงที่ ผมก็ตอบตกลงและไปชวนชาวบ้านให้ปลูกถั่วเขียว”

ช่วงปี 2558 นิมิตร และชาวบ้านอีกสองรายเริ่มผลิตถั่วเขียวส่งให้ มนตรี โดยปลูกสายพันธุ์ชัยนาท 84-1 พื้นที่ผลิตประมาณ 100 ไร่ ได้ผลผลิตรอบแรกราว 6 ตัน ราคารับซื้อในตอนนั้นอยู่ที่กิโลกรัมละ 30 บาท เป็นราคาที่ย้ำให้ นิมิตร เชื่อว่า “เมื่อมีโอกาส เราต้องทำถั่วเขียว”

การมีตลาดรับซื้อที่ชัดเจนสร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกรในพื้นที่รวมกลุ่มปลูกถั่วเขียวภายใต้ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตพันธุ์ข้าว” มีสมาชิกปลูกถั่วเขียวเป็นอาชีพหลังนา 55 ราย พื้นที่ปลูกถั่วเขียวของตำบลหนองผักนากมีกว่า 5,000 ไร่ (ปี 61/62) ซึ่งเป็นจำนวนพื้นที่ปลูกมากสุดของจังหวัดสุพรรณบุรี แม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาราคารับซื้อถั่วเขียวจะลดต่ำลงก็ตาม

ขณะที่ มนตรี ในบทบาทนักการตลาด นอกจากตรวจสอบคุณภาพผลผลิตก่อนส่งให้บริษัทแล้ว เขายังมองหาถั่วเขียวสายพันธุ์ใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ “ให้ผลผลิตมาก” ด้วยมองว่าถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 81-4 ให้ผลผลิตน้อย เขาค้นหาข้อมูลจนพบว่า ถั่วเขียวสายพันธุ์ใหม่ KUML ให้ผลผลิต 200-300 กก./ไร่ เขาได้พบและพูดคุยกับ ผศ.ดร.ประกิจ สมท่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน นักวิจัยผู้พัฒนาสายพันธุ์ KUML จนเกิดการเชื่อมโยงกับสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ให้ได้รู้จักกลุ่มผู้ปลูกเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว KUML “บ้านดอนหวาย” อ.สว่างอารมณ์ จ.อุทัยธานี และส่งต่อเมล็ดถั่วเขียวพันธุ์ KUML4 ให้นิมิตรและสมาชิกที่มีฝึมืออีก 7 รายได้ปลูกขยาย

ในบทบาทมือปลูก นิมิตร คุ้นเคยกับสายพันธุ์กำแพงแสนมาก่อนแล้ว และรู้ว่าให้ผลผลิตดี ติดเพียงต้นเตี้ยและเก็บเกี่ยวยาก แต่เมื่อ KUML ถูกพัฒนาให้ต้นสูงขึ้น อายุปลูกสั้น เมล็ดสวย ดก ผลผลิตมากขึ้น เขาจึงเทใจให้กับสายพันธุ์ใหม่นี้ ซึ่งผลผลิตที่ได้ก็ไม่ทำให้เขาผิดหวัง รอบการผลิตปี 61/62 เขาได้ผลผลิตเฉลี่ย 150 กก./ไร่ และได้สูงสุดถึง 250 กก./ไร่ นิมิตร บอกว่า พื้นที่ที่นี่แล้งไว KUML สู้แล้งได้ดีและดูแลง่ายกว่าสายพันธุ์ที่ปลูกอยู่

มนตรี ส่งต่อผลผลิตถั่วเขียว KUML4 จำนวน 20 ตัน ให้บริษัทแปรรูปเป็นถั่วซีกจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยในปี 2562 บริษัทรับซื้อที่ราคา 25 บาท/กก. เขาบอกว่า KUML4 เมล็ดสวย ขนาดเสมอกัน ไม่มีเมล็ดหิน เวลาแปรรูปเป็นถั่วซีกไม่มีเมล็ดกร้าน (เมล็ดแข็ง) ส่วนเมล็ดคุณภาพดีมาก เขาเก็บเป็นเมล็ดพันธุ์จำหน่ายให้เกษตรกร ราคากิโลกรัมละ 45 บาท

“ถ้าเลือกได้เราไม่อยากนำเข้าถั่วเขียวจากต่างประเทศ เราอยากช่วยเกษตรกรไทยให้มีรายได้จากการขายถั่วเขียวส่งให้เราแปรรูป” เจษฎา สิริวรวงศ์ ผู้จัดการบริษัท กิตติทัต จำกัด บอกถึงความตั้งใจของบริษัทฯ ซึ่งรับซื้อถั่วเขียวเพื่อแปรรูปมากว่า 30 ปี บริษัทฯ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ถั่วทองปรุงรส ซึ่งใช้ถั่วเมล็ดใหญ่ คุณภาพดี กะเทาะเปลือกผ่าซีกทำเป็นถั่วทอดกรอบแล้วปรุงรสภายใต้แบรนด์ “MARUTI Golden Bean” ขนมทานเล่นที่มีถึง 6 รสชาติพิเศษ ตอบโจทย์ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ

ไม่เพียงรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร เจษฎา ยังลงพื้นที่ทำความรู้จักกับกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกถั่วเขียวส่งให้เขา นอกจากผู้รับซื้อจะได้ตรวจสอบแหล่งที่มาของวัตถุดิบแล้ว ฟากผู้ผลิตยังมั่นใจด้วยว่าบริษัทมีตัวตน ซึ่ง เจษฎา บอกว่า เรารับซื้อแน่นอน หากผลผลิตมีคุณภาพ

ขณะที่ มนตรี มองว่า ตลาดถั่วเขียวไม่ถึง 1% ของตลาดข้าว ภาครัฐส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อบำรุงดินและเป็นรายได้เสริม แต่ต้องหาช่องทางตลาดให้เกษตรกรด้วย ซึ่งตลาดมีความต้องการถั่วเขียวตลอด เพียงแต่เกษตรกรพร้อมทำแบบคุณภาพหรือไม่ คุณภาพคือ เมล็ดเสียน้อย สิ่งเจอปนน้อย และทำได้ปริมาณเยอะ เมื่อเกษตรกรผลิตได้มาก ก็ดีต่อตัวเกษตรกรเอง ไม่ได้ดีต่อคนรับซื้อ

เมื่อผลผลิตที่มีคุณภาพส่งผลดีต่อเกษตรกรโดยตรง สท. จึงได้สนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรในตำบลหนองผักนาก อำเภอสามชุก และอำเภอใกล้เคียง ได้เพิ่มพูนความรู้การผลิตถั่วเขียวให้ถูกต้องตามหลักวิชาการจากทีมวิจัย ตั้งแต่การตรวจวิเคราะห์ดิน เตรียมดิน ดูแลให้น้ำ-ปุ๋ย ไปจนถึงป้องกันและกำจัดโรค-แมลงศัตรูพืช และการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์

“ผมกล้าการันตีว่าเป็นคนแรกที่ทำให้การผลิตถั่วเขียวครบวงจรของพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีสำเร็จ โดยไม่เกิดปัญหาค้างสต็อกหรือไม่มีที่ขาย เหลือแต่ว่าจะเพิ่มศักยภาพเกษตรกรอย่างไรให้ผลิตถั่วเขียวแบบมีคุณภาพ สามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้ สิ่งที่อยากทำคือ ให้เกษตรกรเพาะปลูกแบบเน้นคุณภาพ มีเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีเก็บไว้ใช้เองในปีต่อไป และส่งเสริมให้ทำไปพร้อมกัน จะได้สร้างกลุ่มเกษตรที่ยั่งยืน มีธนาคารเมล็ดพันธุ์คุณภาพไว้หยิบยืม และสมาชิกสามารถนำความรู้ไปเผยแพร่ต่อได้” นิมิตร แกนนำกลุ่มฯ บอกถึงความคาดหวังของเขา

ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มฯ ที่ผลิตถั่วเขียว KUML เพิ่มขึ้นโดยใช้ความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมปรับประยุกต์กับภูมิปัญญาดั้งเดิม แม้ฤดูกาลผลิตปี 62/63 จะประสบปัญหาภัยแล้ง ส่งผลต่อจำนวนพื้นที่ปลูกและผลผลิตที่ลดลง แต่พวกเขายังคงเชื่อมั่นกับพืชหลังนาสายพันธุ์นี้ เช่นเดียวกับ มนตรี ที่เดินหน้าส่งเสริมเกษตรกรพื้นที่อื่นผลิตถั่วเขียวสายพันธุ์ใหม่นี้ป้อนเข้าสู่ตลาด เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและยังทำให้ถั่วเขียว KUML เป็นที่รู้จักมากขึ้นอีกด้วย

# # #

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตพันธุ์ข้าวบ้านหนองผักนาก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี
MARUTI Golden Bean https://th-th.facebook.com/MARUTI.YOU/

ถั่วเขียว KUML …จากพืชหลังนา สู่สินค้าส่งออก