“สมัยก่อนหว่านถั่วเขียวที่หัวไร่ปลายนา เอาไว้ทำไส้ขนม หว่านถั่วลิสงไว้ทำกระยาสารท รุ่นพ่อแม่เก็บเมล็ดไว้นิดหน่อยเพื่อใช้หว่านรอบต่อไป” ประดิษฐ์ เขม้นเขตร์กิจ ผู้ใหญ่บ้านดอยหวาย หมู่ 7 ต.บ่อยาง อ.สว่างอารมณ์ จ.อุทัยธานี บอกเล่าวิถีการปลูกพืชหลังของคนรุ่นพ่อแม่เมื่อกว่า 40 ปีจากพืชที่ปลูกไว้เพื่อใช้ในครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูกไม่มากมาย วิถีการปลูกถั่วเขียวของชุมชนเริ่มปรับเปลี่ยนได้ราว 15 ปี หลังมีข้อกำหนดห้ามทำนาปรัง เกิดการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกถั่วเขียวเป็น “อาชีพเสริม” มีทั้งส่งจำหน่ายให้ศูนย์เมล็ดพืชไร่ชัยนาทและจำหน่ายให้พ่อค้าคนกลางป้อนสู่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สำหรับชาวนาจะเริ่มปลูกถั่วเขียวหลังเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว โดยปลูกในช่วงพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ส่วนชาวไร่จะปลูกถั่วเขียวในช่วงเดือนพฤษภาคมก่อนลงปลูกข้าวโพด สายพันธุ์ถั่วเขียวที่ชาวบ้านนิยมปลูก เช่น ชัยนาท 84-1 กำแพงแสน 1 กำแพงแสน 2

ช่วงปี 2559 เมล็ดพันธุ์กำแพงแสนมีไม่พอ ลูกบ้านอยากได้พันธุ์อื่นมาปลูกเพิ่ม ก็ไปสอบถามจากเกษตรอำเภอ ถึงได้รู้ว่ามีพันธุ์ KUML เข้ามาใหม่” ประดิษฐ์ ย้อนความเมื่อวันที่ได้รู้จักถั่วเขียวสายพันธุ์ใหม่ KUML 1-5 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ สวทช. ต้องการส่งเสริมการผลิตถั่วเขียวสายพันธุ์ใหม่นี้ สวทช. ได้ประสานมายังกรมส่งเสริมการเกษตรและสำนักงานเกษตรจังหวัด และได้ชักชวนสมาชิกชุมชนไปทำความรู้จัก KUML1-5 ให้มากยิ่งขึ้นที่แปลงของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.ลำปาง

ไปกัน 10 คน ไปดูลักษณะถั่วเขียวแต่ละเบอร์ แล้วแต่ละคนก็เลือกพันธุ์ที่ตัวเองอยากจะปลูก ผมเลือกเบอร์ 4 เพราะฝักสวย เมล็ดใหญ่” วสันต์ พิลึก หนึ่งในสมาชิกชุมชนบอกเล่าถึงวันที่ได้รู้จักถั่วเขียวสายพันธุ์ KUML ซึ่งในครั้งนั้นสมาชิกจากบ้านดอนหวายให้ความสนใจ KUML 3 น้ำหนักเบา เบอร์ 4 เมล็ดใหญ่ และเบอร์ 5 เมล็ดสวย ฝักแก่สีฟางข้าว ถ้ามีพันธุ์ปน สังเกตง่าย 

การรวมกลุ่มของเกษตรกรบ้านดอนหวายเพื่อปลูกถั่วเขียวสายพันธุ์ KUML เกิดขึ้นโดยมีสมาชิกแรกเริ่ม 10 คนที่ยอมรับเงื่อนไขตามที่ สวทช. กำหนดให้ปลูกด้วยวิธีการหยอด เก็บเมล็ดด้วยมือเพื่อคัดพันธุ์ปนได้ง่าย และคัดแยกขนาดเมล็ดก่อนส่ง แม้ต้นทุนค่าหยอดและเก็บด้วยมือจะสูงก็ตาม แต่ด้วยราคารับซื้อที่สูงถึงกิโลกรัมละ 60 บาท บวกกับสายพันธุ์อื่นที่หาซื้อได้ยากขึ้น สมาชิกทั้งหมดจึงตกลงใจที่จะผลิต KUML 3, 4 และ 5 โดยในปีแรกได้เมล็ดพันธุ์สำหรับปลูกคนละ 2.8 กิโลกรัม/ไร่ กำหนดพื้นที่ปลูกคนละ 7 ไร่

แม้จะมีประสบการณ์ปลูกถั่วเขียวมานาน แต่เมื่อเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่คุ้น การเตรียมดินเตรียมแปลงให้เหมาะกับการเจริญเติบโตจึงยังไม่ลงตัว ทำให้ผลผลิตในปีแรกได้ไม่เต็มที่ แต่สมาชิกทั้งหมดไม่ย่อท้อ ถือเป็นการเรียนรู้และทำความรู้จักกับสายพันธุ์ที่ตัวเองเลือก

วสันต์ บอกว่า สมาชิกในกลุ่มใครทำเบอร์ไหนขึ้นมือ ก็จะใช้เบอร์นั้น สายพันธุ์ KUML อายุปลูกสั้น โตเร็ว สุกแก่พร้อมกัน ผลผลิตดก เก็บง่าย และทนโรคกว่าสายพันธุ์ที่เคยปลูกมา

เมื่อเข้าฤดูการปลูกปีที่สอง สวทช. ให้เมล็ดพันธุ์ยืมปลูก เพิ่มพื้นที่ปลูกคนละ 10 ไร่ และรับซื้อที่กิโลกรัมละ 50 บาท ผลผลิตที่ได้ของแต่ละแปลงสมบูรณ์ขึ้น สมาชิกเก็บผลผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 200 กก./ไร่ ซึ่งเกิดขึ้นจากความตั้งใจและใส่ใจของสมาชิกที่ดูแลแปลงอย่างสม่ำเสมอ และยังมี วสันต์ ที่เป็นจิตอาสาแวะเวียนตรวจแปลงเพื่อนสมาชิก แนะนำวิธีแก้ปัญหาเรื่องเพลี้ยหรือหนอน และบ่อยครั้งที่ไปตรวจแปลงโดยไม่บอกเพื่อนสมาชิกล่วงหน้า

แม้ว่า สวทช. จะรับซื้อเมล็ดพันธุ์จากสมาชิกกลุ่มเพียง 2 ปี แต่สมาชิกยังคงปลูกถั่วเขียว KUML ต่อในรอบปลูกถัดมา แต่ใช้วิธีการหว่านและใช้รถเกี่ยว เพื่อลดต้นทุนค่าแรง ผลผลิตที่ได้ส่งขายให้พ่อค้าคนกลาง ซึ่ง ประดิษฐ์ เล่าว่า ตอนที่เริ่มปลูก KUML คนลือกันว่าที่นี่ได้ถั่วเขียวจาก สวทช. ลูกสาวพ่อค้าจบด้านเกษตร ไปหาข้อมูลว่าเป็นลักษณะไหน พอพ่อค้ารู้ว่าเป็นถั่วเขียวจากบ้านดอนหวาย เขาจะแยกเก็บไว้ขายเป็นเมล็ดพันธุ์

การตอบรับที่ดีทั้งจากตลาดและสมาชิกผู้ปลูก ทำให้จำนวนสมาชิกกลุ่มฯ เพิ่มขึ้นเป็น 15 คน ซึ่งสมาชิกใหม่ล้วนผ่านการคัดเลือกแล้วว่า ต้องไว้ใจได้ เชื่อใจได้ว่าไม่เอาพันธุ์อื่นมาปน เพื่อไม่ให้เสียชื่อกลุ่ม แต่ละคนมีพื้นที่ปลูกถั่วเขียวไม่ต่ำกว่า 10 ไร่ บางคนใช้พื้นที่นาตัวเอง บางคนใช้พื้นที่นาคนอื่นโดยไม่เสียค่าเช่า โดยเจ้าของที่บางรายออกค่าน้ำมันรถไถหรือเมล็ดพันธุ์ให้ แลกกับปุ๋ยที่ได้หลังไถกลบถั่วเขียว

แม้ในรอบการผลิตปี 2561/2562 เหลือเพียง วสันต์ ที่สามารถเก็บผลผลิตถั่วเขียว KUML 4 บนพื้นที่ปลูกของตนเองและที่เช่ารวม 27 ไร่ เนื่องจากลงปลูกก่อนแปลงสมาชิกคนอื่น ถั่วต้นใหญ่กว่าจึงรอดพ้นจากน้ำท่วม ขณะที่แปลงเพื่อนสมาชิกเสียหายหมด วสันต์ ตั้งใจว่าปีนี้จะเก็บพันธุ์ไว้ใช้ในกลุ่มเพื่อไม่ให้ KUML สูญพันธุ์ 

ถั่วเขียว KUML เมล็ดโต สีเข้ม และตลาดต้องการ ถึงแม้ว่า สวทช. ไม่ได้รับซื้อแล้ว กลุ่มก็ยังทำอยู่และวางแผนจะตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตเมล็ดพันธุ์นี้” ผู้ใหญ่บ้านดอนหวาย กล่าวทิ้งท้าย

 

ปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 4 แล้วที่กลุ่มปลูกถั่วเขียว KUML ของบ้านดอนหวายยังคงปลูกถั่วเขียวสายพันธุ์นี้อยู่ สวทช. ได้สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว KUML 2, 3 และ 4 ให้สมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม รวมถึงจัดหาสายพันธุ์ KUML 1 และ 5 ตลอดจนการให้ความรู้เรื่องการจัดการเมล็ดพันธุ์หลังเก็บเกี่ยว (postharvest) เพื่อส่งเสริมให้เป็นกลุ่มที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวสายพันธุ์ใหม่นี้อย่างครบวงจร และเชื่อมกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์กับกลุ่มปลูกถั่วเขียวเข้าโรงงานต่อไป

“ถั่วเขียว KUML” ปลูกด้วยใจ ได้คุณภาพ