“เกษตรกรควรเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เรียนรู้และมีความอยากเรียนรู้” สมบูรณ์ งามเสงี่ยม เจ้าของสวนทุเรียนบัวแก้ว และรองประธานกลุ่มปรับปรุงคุณภาพทุเรียนบ้านวังจันทร์ ต.วังจันทร์ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ให้มุมมองการทำเกษตรในยุคสมัยนี้

“คนทำสวนที่ทำตามพ่อแม่มา ถามว่าปีนี้คิดว่าจะได้ทุเรียนเท่าไหร่ ไม่รู้ จะออกดอกเมื่อไหร่ ไม่รู้ แต่ตัวผมทำสวนเป็นธุรกิจ ต้องคาดการณ์ว่าจะต้องได้เท่าไหร่”

ด้วยบุคลิกที่เป็นนักทดลองและมองหาวิธีที่จะทำให้การทำสวนทุเรียนได้ทั้งคุณภาพและราคา สมบูรณ์และภรรยาตัดสินใจทำสวนทุเรียนนอกฤดูเมื่อเกือบสิบปีก่อน เพื่อหนีปัญหาผลผลิตทุเรียนในฤดูที่ล้นตลาดและราคาตก ท่ามกลางเสียงคัดค้านและคำสบประมาท เขาและภรรยาไม่ตอบโต้ แต่ลงมือทำให้เห็นจากพื้นที่ 24 ไร่ และเพิ่มเป็น 70 ไร่ในปัจจุบัน สร้างรายได้ถึงสิบล้านบาทต่อปี

แม้ประสบความสำเร็จจากการทำสวนทุเรียนนอกฤดู แต่ สมบูรณ์ ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ ยังคงเปิดโอกาสให้ตัวเองรับความรู้ใหม่ๆ มาทดลองและปรับใช้กับสวนทุเรียนของเขา ดังที่เขายินดีให้ใช้ต้นทุเรียน 30 ต้น บนพื้นที่ 2 ไร่ เป็นแปลงทดลองปรับแต่งเทคโนโลยี “ระบบควบคุมการให้น้ำอัตโนมัติสำหรับพืชไร่และพืชสวน” ซึ่ง สมบูรณ์ บอกว่า ทำสวนหยุดทดลองไม่ได้ เมื่อเอามาให้ลองก็เป็นโอกาสของเรา

คนทำสวนทุเรียนรู้ดีว่า “น้ำและสภาพอากาศ” เป็นปัจจัยสำคัญของการปลูกทุเรียน แหล่งน้ำต้องดี ปริมาณน้ำต้องมากพอ เพราะทุเรียนขาดน้ำไม่ได้ในทุกระยะ โดยเฉพาะช่วงติดดอกติดผล พวกเขาใช้ประสบการณ์และความรู้สึกเป็นเครื่องตัดสินใจว่าอากาศแบบนี้ สภาพใบแบบนี้ ต้องให้น้ำ อากาศอุ่นไม่เย็นจัด ไม่หนาวจัด ดอกจะออก แต่สิ่งที่ชาวสวนไม่รู้คือ ค่าตัวเลขที่แทนลักษณะเหล่านี้หรือค่าตัวเลขที่บอกได้ว่าให้น้ำแค่ไหนถึงพอ ซึ่ง สมบูรณ์ ก็ต้องการรู้เช่นกัน

สมบูรณ์ ได้ทดลองใช้เทคโนโลยีระบบควบคุมการให้น้ำอัตโนมัติฯ ซึ่งใช้เซนเซอร์ตรวจวัดค่าความชื้นในดิน ความชื้นอากาศ ความเข้มแสง และอุณหภูมิ แสดงค่าตัวเลขเพื่อการบริหารจัดการแปลงทุเรียน โดยเฉพาะการให้น้ำตามความต้องการของต้นทุเรียนในช่วงเจริญเติบโต ช่วงติดดอก และช่วงติดผล ช่วยให้ชาวสวนลดปัญหาการให้น้ำที่มากเกินไป ลดต้นทุนแรงงาน และควบคุมผลผลิตไม้ผลให้มีคุณภาพ

ในช่วงปีแรกเป็นช่วงที่ต้องเก็บค่าตัวเลขความชื้นดินที่เหมาะสำหรับการให้น้ำในแต่ละช่วงการเติบโตของทุเรียน ซึ่งต้องการน้ำไม่เท่ากัน ด้วยความเป็นนักทดลอง สมบูรณ์ เรียนรู้การใช้งานระบบ ทดลองการทำงานของเซนเซอร์ในตำแหน่งต่างๆ รวมทั้งทดลองตั้งค่าความชื้นดินโดยแปลงจากความรู้สึกเป็นตัวเลข

“อยากรู้ค่าความชื้นในดินว่าตรงกับความรู้สึกเรามั้ย แต่ในความคิดบอกเลยว่าไม่สำเร็จหรอก เพราะเซนเซอร์เสียบ่อย” สมบูรณ์ เล่าด้วยรอยยิ้มหลังจากที่เขาได้ทดลองใช้งานเซนเซอร์ในช่วงแรก

“ช่วงเจริญเติบโต ค่าเปอร์เซนต์ความชื้นดินต่ำสุดที่ 28 สูงสุดไม่จำกัด ช่วงติดดอก เป็นช่วงที่ไม่ต้องการความชื้นมาก ค่าเปอร์เซนต์ความชื้นดินต่ำสุดที่ 28 สูงสุดที่ 34 และช่วงติดผลค่าเปอร์เซนต์ความชื้นดินต่ำสุดที่ 32 สูงสุดไม่เกิน 40” เป็นค่าความชื้นดินที่สมบูรณ์ได้จากการใช้งานเซนเซอร์วัดความชื้นดินที่พัฒนาขึ้นรุ่นแรก แม้การใช้งานเซนเซอร์จะยังติดขัดแต่เขายังให้ความสนใจเรียนรู้และปรับตัวกับการใช้งาน ขณะเดียวกันยังให้ข้อมูลการใช้งานกับทีมวิจัย เพื่อช่วยพัฒนาและปรับแต่งเทคโนโลยีให้เหมาะสมและแม่นยำยิ่งขึ้น

“ก็สนุกดีนะ ปกติรดน้ำอยู่แล้ว รดแล้วก็จะดูว่าค่าตัวเลขจะขึ้นมั้ย ได้ทดลอง ได้เช็คเซนเซอร์ไปด้วยว่าเสียมั้ย แล้วยังเอาความรู้สึกมาแปลงค่าเป็นตัวเลข ความชื้นที่เหมาะตามความรู้สึกคือตัวเลขเท่าไหร่ แล้วมาดูความชื้นในอากาศ สัมพันธ์กันมั้ย ข้อมูลที่เก็บไว้สามารถเอาไปใช้ทำสวนปีต่อไปได้ ถ้าอุปกรณ์เสถียร จะช่วยเรื่องการให้น้ำได้ 90-100%” สมบูรณ์ เล่าถึงการใช้งานระบบและเซนเซอร์มาปีกว่า จากคนที่เชื่อและยอมรับอะไรได้ยาก จนยอมรับและเชื่อมั่นตัวเลขจากค่าเซนเซอร์ซึ่งสอดคล้องกับความรู้สึกของเขา และวางแผนขยับขยายการติดตั้งเทคโนโลยีระบบให้น้ำอัตโนมัตินี้ทั่วทั้ง 50 ไร่ ในอีก 1-2 ปีนี้

“ตอนนี้เหมือนโรคจิต ดูข้อมูลทุกวัน เดี๋ยวก็เปิดมือถือ ดูวันละ 3-4 เวลา ดูค่าความชื้นว่าเปลี่ยนแปลงมั้ย” สมบูรณ์ หัวเราะและเล่าต่อว่า เวลาที่ไม่อยู่สวน ค่าตัวเลขช่วยตัดสินใจการให้น้ำได้ แต่ก่อนเวลาไปต่างประเทศจะสั่งคนงานไว้ล่วงหน้าให้รดน้ำเมื่อไหร่บ้าง โดยที่ไม่รู้ว่าดินจะแฉะหรือแห้ง แต่เดี๋ยวนี้ถ้าโทรศัพท์มาถามคนงาน แล้วบอกฝนตก แต่ค่าความชื้นที่แสดงในระบบไม่พอ ก็จะสั่งให้คนงานรดน้ำ หรือบางครั้งรดน้ำแล้วแต่ค่าความชื้นยังไม่ได้ ก็ต้องรดอีก

“การใช้เทคโนโลยีนี้ไม่ยาก ถ้าใครใช้สมาร์ทโฟนเป็น ไม่ยากเลย เซนเซอร์และระบบช่วยเรื่องความแม่นยำ และช่วยลดต้นทุนค่าน้ำมัน ลดการใช้น้ำ เป็นการทำเกษตรที่แม่นยำขึ้น บางสวนไม่จำเป็นต้องใช้เต็มระบบแบบสั่งให้น้ำอัตโนมัติ เอาแค่วัดความชื้นก็พอ ระบบให้คนทำงาน ทำสวนก็ไว้ใจเทคโนโลยีทั้งหมดไม่ได้ เพราะอากาศเปลี่ยนแปลง ถ้ามีช่วงวิกฤต ใบอ่อน ลูกร่วง แล้วไม่เข้าไปดู ผลผลิตเสียหายได้”

หลังผ่านการลองผิดลองถูกการใช้งานระบบและเซนเซอร์จนได้ค่าตัวเลขเบื้องต้นสำหรับบริหารจัดการแปลงของตัวเอง และอยู่ระหว่างเก็บข้อมูลอีกครั้งจากเซนเซอร์ชุดใหม่ แต่ถึงอย่างไรทุกๆ เช้า สมบูรณ์ ยังส่งข้อมูลหน้าจอระบบที่แสดงค่าอุณหภูมิ ความชื้นอากาศ และความเข้มแสง ไปที่กรุ๊ปไลน์ของกลุ่มปรับปรุงคุณภาพทุเรียนบ้านวังจันทร์ ซึ่งมีสมาชิกกว่า 30 คน เป็นข้อมูลให้สมาชิกใช้อ้างอิงเพื่อจัดการสวนของตนเอง ขณะเดียวกัน “สวนบัวแก้ว” ของ สมบูรณ์ ยังเป็นสถานที่ศึกษาดูงานการบริหารจัดการสวนทุเรียนนอกฤดูและการใช้เทคโนโลยีระบบควบคุมการให้น้ำสวนทุเรียนอีกด้วย

# # #

สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการใช้สมาร์ทเทคโนโลยีในภาคการเกษตร โดยได้ดำเนินการทดสอบและสังเคราะห์เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้ในแต่ละพื้นที่

สวนบัวแก้ว
ต.วังจันทร์ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง
โทรศัพท์ 064 2396289

แปลง “ความรู้สึก” เป็น “ค่าตัวเลข” เพิ่มคุณภาพให้สวนทุเรียน