เอกสารการบริหารราชการของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับนักวิชาการ บุคลากร และผู้สนใจ ในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพัฒนาการของสำนักงาน เอกสารซึ่งแต่ละหน่วยงานภายใน สวทช. ผลิตขึ้นย่อมแสดงให้เห็นถึงภารกิจในการดำเนินงานของหน่วยงานดังกล่าว เอกสารเหล่านี้ถือเป็นเอกสารจดหมายเหตุที่มีความสำคัญ และมีคุณค่าแก่การรวบรวม จัดเก็บ และอนุรักษ์ไว้ เพื่อมิให้สูญหายและถูกทำลายไปในที่สุด

ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในฐานะที่หน่วยงานที่จัดเก็บ รวบรวม ทรัพยากรสารสนเทศ รวมทั้งทำหน้าที่จัดเก็บสิ่งพิมพ์ที่ผลิดโดย สวทช. เพื่อให้บริการสารสนเทศ แก่บุคลากรภายใน สวทช. และบุคคลทั่วไป ตระหนักถึงความสำคัญของเอกสารจดหมายเหตุดังกล่าว และตระหนักถึงหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ใน สวทช. ในการคัดเลือกหรือประเมินคุณค่าเอกสารเพื่อจัดเก็บเป็นเอกสารจดหมายเหตุ และส่งมอบเอกสารสำคัญให้แก่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ศวท. จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติมาบรรยายให้ความรู้เรื่อง จดหมายเหตุ การประเมินคุณค่าการจัดเก็บ และการอนุรักษ์เอกสาร รวมทั้งได้รวบรวมเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (Thailand Science Park) การจัดตั้ง สวทช. รวมทั้งศูนย์แห่งชาติ พร้อมสแกนเป็นแฟ้มเอกสารดิจิทัล และจัดทำบัญชีข้อมูลประวัติการก่อตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยรวม 77 รายการ โดยมีเนื้อหาสำคัญดังนี้

  1. ข้อมูลเสนอคณะรัฐมนตรี จัดตั้งอุทยานวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมเอกสารจัดตั้งอุทยานวิจัยฯ
  2. มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 4 กรกฎาคม 2532 อนุมัติจัดตั้งอุทยานวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย)
  3. สำนักงบประมาณพิจารณางบจัดตั้งอุทยานวิจัยฯ
  4. การขอใช้ที่ดินเพื่อก่อสร้างนิคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  5. สรุปแนวทางการพัฒนาอุทยานวิจัยฯ
  6. การว่าจ้างศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของการจัดตั้งอุทยานวิจัยฯ
  7. มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 19 พฤศจิกายน 2545 เห็นชอบการเปลี่ยนชื่อโครงการ อุทยานวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็น อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
     

นอกจากนี้ยังได้พัฒนาระบบจัดการคลังจดหมายเหตุดิจิทัล สวทช. พร้อมให้คำแนะนำด้านเทคนิคโดยเฉพาะการจัดการเอกสารดิจิทัล การบริหารจัดการเมทาดาทา (Metadata) ของเอกสารต่อหน่วยงานที่ดำเนินการจัดทำคลังจดหมายเหตุดิจิทัล เช่น ระบบจดหมายเหตุดิจิทัลของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ

เว็บไซต์จดหมายเหตุดิจิทัลเนคเทค

 จดหมายเหตุโอกาสครบรอบ 50 ปี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ 

จดหมายเหตุสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ

 

หรือจดหมายเหตุ สวทช. สู้ภัย covid-19  https://www.nstda.or.th/archives/

 

 

รวมทั้งได้ยังศึกษามาตรฐานการลงรายการทรัพยากรจดหมายเหตุดิจิทัล ISAD(g) รวมทั้งซอฟต์แวร์บริหารจัดการจดหมายเหตุดิจิทัลในกลุ่ม Open Source Software อันได้แก่ ICA-AtoM ร่วมกันกับบุคลากรศูนย์มานุษยวิทยาสิริธรฯ และสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้งานและร่วมถ่ายทอดความรู้ต่อไป