มหาวิทยาลัยมหิดลส่งเสริมพฤกษศาสตร์ ด้วยพฤกษศิลป์

          ธรรมชาติก่อกำเนิดปัจจัย 4 แก่มนุษย์ ทั้งในด้านอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค รวมทั้งมีความสำคัญต่อจิตใจ การได้ชื่นชมความสวยงามของพืชพรรณและสิ่งมีชีวิต จะทำให้เกิดความรักและความหวงแหนต่อธรรมชาติ
 
          สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงริเริ่มโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  (อพ.สธ.) ขึ้น เพื่อสร้างเข้าใจ และให้ตระหนักถึงความสำคัญของพันธุกรรมพืช รวมทั้งให้ร่วมกันคิด ร่วมปฏิบัติ จนเกิดผลประโยชน์ถึงมหาชนชาวไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิวิมล แสวงผล ภาควิชาพฤกษาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 
          เพื่อสนองพระราชดำริในการอนุรักษ์ธรรมชาติผ่านงานพฤกษศิลป์ เครือข่ายวิทย์สานศิลป์ (Sci-Art Network) นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิวิมล แสวงผล แห่งภาควิชาพฤกษาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ร่วมกับ อพ.สธ. จัดนิทรรศการภาพวาดพฤกษศาสตร์ “สานพฤกษพรรณผ่านงานพฤกษศิลป์” ขึ้นเพื่อแสดงผลงานของศิลปินไทยที่ถ่ายทอดความงามทางธรรมชาติโดยหวังปลูกจิตสำนึกด้านอนุรักษ์พันธุ์พืชให้อยู่ในหัวใจของคนไทยทุกคน
 
          เมื่อปี พ.ศ. 2561 ปีแรกของการจัดงาน ได้มีการเปิดตัวนิทรรศการในระดับนานาชาติเป็นครั้งแรกร่วมกับ 25 ประเทศ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จฯ มาเป็นประธานเปิดงาน ซึ่งในครั้งนั้นทรงสนพระทัยอย่างยิ่งในทุกภาพที่จัดแสดง โดยทรงมีพระราชปฏิสันถารกับศิลปินทุกคนที่เป็นเจ้าของภาพที่จัดแสดงในงานด้วย

          ในปีต่อมา มีการจัดนิทรรศการขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีแห่งการก่อตั้งเครือข่ายวิทย์สานศิลป์ และในปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 22 กันยายน – 4 ตุลาคม 2563 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร  
สำหรับภาพวาดของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิวิมล แสวงผล ในปีนี้เป็นภาพ “กลอย” ซึ่งวาดจากฝักแห้ง ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิวิมล แสวงผล ได้เห็นแล้วเกิดประทับใจ จึงถ่ายทอดออกมาเป็นภาพวาดทางพฤกษศาสตร์ที่สวยงาม
 
          “การวาดภาพพฤกษศาสตร์ แตกต่างจากการวาดภาพศิลปะ เนื่องจากไม่ใช่เป็นเพียงการสร้างสรรค์ภาพเขียนตามจินตนาการของผู้วาด แต่เป็นการวาดโดยการแสดงรายละเอียดอย่างสมบูรณ์ตามความเป็นจริงทางธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้ผู้ชมภาพวาดได้รู้จักพันธุ์พืชชนิดนั้นๆ อย่างละเอียด โดยสามารถนำไปอ้างอิงเพื่อใช้ทางการศึกษาต่อไปได้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิวิมล แสวงผล กล่าวอธิบาย
 
          ที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิวิมล แสวงผล ได้มีบทบาทสำคัญในการจัดอบรมวาดภาพทางพฤกษศาสตร์ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยหวังให้ผู้เรียนสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งในเชิงวิชาการและเป็นงานอดิเรก

          ติดตามชมงานนิทรรศการภาพวาดพฤกษศาสตร์ “สานพฤกษพรรณผ่านงานพฤกษศิลป์ ครั้งทึ่ 3” ได้ระหว่างวันที่ 22 กันยายน – 4 ตุลาคม 2563 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และติดตามข่าวคราวการจัดอบรมวาดภาพทางพฤกษศาสตร์ ของภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่ https://plantscience.sc.mahidol.ac.th และเฟซบุ๊ค Plant Science @Mahidol University หรือ Sci Art Network


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author