Headlines

เนคเทค สวทช. x ยูเนสโก เดินหน้าความร่วมมือพัฒนาคลังข้อมูลออนไลน์ จัดเก็บงานอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไทย ด้วย “นวนุรักษ์”

          8 มิถุนายน 2565 : ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย คุณวัชชิรา บูรณสิงห์ ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยเทคโนโลยีภาษาธรรมชาติและความหมาย (LST) กลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ (AINRG) ได้จัดอบรมออนไลน์ในหัวข้อ “การจัดเก็บข้อมูลวัฒนธรรมเพื่อการอนุรักษ์และท่องเที่ยวในรูปแบบดิจิทัล” ให้แก่อาจารย์ และกลุ่มคนทำงานอนุรักษ์สถาปัตยกรรม ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างเนคเทค สวทช. และองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) นำ “นวนุรักษ์แพลตฟอร์ม (NAVANURAK)” มาประยุกต์ใช้สำหรับการจัดเก็บ เชื่อมโยง และสร้างคลังความรู้เพื่องานอนุรักษ์สถาปัตยกรรม โดยได้แนะนำการทำงาน วิธิการกรอกข้อมูล แนะนำอุปกรณ์และสาธิตการถ่ายภาพ 360 องศา การใช้งานระบบบริหารจัดการข้อมูลวัฒนธรรม สาธิตการทำอุปกรณ์ Hologram และการต่อยอดใช้งานนวนุรักษ์แพลตฟอร์ม เช่น ระบบบริหารจัดการสร้างเส้นทางการท่องเที่ยว ระบบนำชม การสร้างกิจกรรมสำหรับชุมชน เป็นต้น

          หลังจากเนคเทค สวทช. และยูเนสโก ได้ประกาศความร่วมมือในการอนุรักษ์สืบสานสถาปัตยกรรมไทยในวัน “อนุรักษ์มรดกไทย” เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ด้วยการใช้ “นวนุรักษ์แพลตฟอร์ม” เป็นเครื่องมือให้นักอนุรักษ์สามารถใช้บริหารจัดการคลังข้อมูลวัฒนธรรม เพื่อการเก็บรักษาข้อมูลความรู้ ภูมิปัญญาทางด้านงานช่างฝีมือที่จำเป็นต่อการทำงานบูรณปฏิสังขรณ์แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมในประเทศไทย รวมถึงสร้างความก้าวหน้าในวิชาชีพช่วยยกระดับงานช่างอนุรักษ์ให้มีคุณภาพ และสร้างการรับรู้งานช่างอนุรักษ์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

          โดยได้เริ่มต้นการดำเนินงานด้วยการจัดกิจกรรมสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion Series) จำนวน 7 ครั้ง ตลอดทั้งเดือนพฤษภาคม 2565 เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลและความคิดเห็น ร่วมกับกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องในการทำงานอนุรักษ์สถาปัตยกรรม อาทิ ศิลปินแห่งชาติ, กรรมการสถาบันศิลปสถาปัตยกรรมไทยเฉลิมพระเกียรติ, อาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากร, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, ภูมิสถาปนิก ซึ่งจะเป็นการเก็บข้อมูลที่สำคัญนำมาใช้ในการศึกษาวิเคราะห์รูปแบบชุดข้อมูล การกำหนดคำอธิบายข้อมูล (Metadata) คำสำคัญในการสืบค้น (Keyword) กำหนดบัญชีข้อมูล (Data Catalog) การเปิดเผยข้อมูล
 
          ทั้งนี้ ทีมงานที่เกี่ยวข้องในโครงการฯ จะเริ่มขยายผลโดยการเปิดระบบให้อาจารย์ นักศึกษา และกลุ่มคนทำงานอนุรักษ์สถาปัตยกรรม ได้ทดสอบการใช้งานนวนุรักษ์แพลตฟอร์ม ทดลองกรอกข้อมูล รวมถึงการออกแบบ พัฒนาระบบเพื่อสร้างคลังข้อมูลสำหรับคนทำงานอนุรักษ์สถาปัตยกรรม ที่ตอบสนองต่อความต้องการของคนทำงานอนุรักษ์ให้มากที่สุด เกิดเป็นฐานข้อมูลความรู้ด้านงานสถาปัตยกรรม และการสืบสานงานอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมให้แก่คนรุ่นใหม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป
 

About Author