Headlines

ม.มหิดล เปิดตัวนวัตกรรม “กล่องนับเข็มผ่าตัด (MU Needle Box) แม่นยำสูง โดยไม่ต้องพึ่ง AI

          ในโลกปัจจุบันมนุษย์มีความสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่ง AI หรือ “ปัญญาประดิษฐ์” ด้วยการเป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ “นวัตกรรม” ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น และเรียกผู้สร้างสรรค์นี้ว่า “นวัตกร” ซึ่งทุกคนสามารถเป็น “นวัตกร” ได้ไม่ยาก เพียงแค่มีความคิดที่จะพยายามแก้ไขปัญหา อย่าให้ปัญหาที่ประสบหน้างานเป็นความเคยชินจนไม่เห็นปัญหา หรือหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญปัญหา


พยาบาลเชี่ยวชาญ “คุณณิชา ปิยสุนทราวงษ์” แห่งโรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของผลงานนวัตกรรม “กล่องพักและนับเข็มผ่าตัด” ซึ่งได้ดำเนินการยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว โดย สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล

          พยาบาลเชี่ยวชาญ “คุณณิชา ปิยสุนทราวงษ์” แห่งโรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของผลงานนวัตกรรม “กล่องพักและนับเข็มผ่าตัด” ซึ่งได้ดำเนินการยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว โดย สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล

          คือตัวอย่างของผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมขึ้น จากประสบการณ์ของการทำงานเป็นพยาบาลประจำห้องผ่าตัด ซึ่งต้องทำงานแข่งกับเวลา และจะต้องมีสติอยู่เสมอ

          โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงระยะก่อนเย็บปิดแผลผ่าตัด จะต้องมีกระบวนการนับเข็มผ่าตัด ซึ่งเป็นช่วงที่เร่งรีบมาก เนื่องจากพยาบาลส่งผ่าตัดต้องนับเข็มและของมีคมอย่างรวดเร็วในเวลาที่จำกัด ขณะเดียวกันการนับเข็มผ่าตัดก่อนเย็บปิดแผลผ่าตัดเป็นงานที่ผิดพลาดไม่ได้ เพราะจะส่งผลถึงปัญหาที่จะตามมากับผู้ป่วยอีกมากมาย

          หรือถ้าเร่งรีบมากไปเข็มอาจทิ่มตำมือพยาบาลที่ส่งผ่าตัดได้ ซึ่งปัญหาที่น่าหนักใจที่สุด คือ การที่พยาบาลส่งผ่าตัดต้องเผชิญกับเข็มผ่าตัดจำนวนมากที่อยู่ตรงหน้า

          นอกจากนี้ ในกรณีที่เข็มบังเอิญหล่นติดไปกับผ้าที่ใช้ในการผ่าตัด อาจพลาดไปตำมือผู้เก็บผ้า จนอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ จึงเกิดโจทย์ขึ้นว่า จะทำอย่างไรให้สามารถจัดระเบียบเข็มผ่าตัดให้ง่ายต่อการนับ

          ซึ่งหากต้องพึ่งพา AI อาจต้องลงทุนจำนวนมากจากการพัฒนาเทคโนโลยี และต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นเพื่อเรียนรู้และพัฒนาทักษะดิจิทัลเพิ่มเติม

          ดังนั้นการพึ่งพาประสบการณ์ตรง โดยออกแบบรูปทรงและรู้จักเลือกใช้วัสดุมาสร้างสรรค์ จึงเป็นนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสมในทันที

          ดังเช่น “กล่องพักและนับเข็มผ่าตัด” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สามารถแยกเข็มผ่าตัดที่มีไหมขนาดยาวร้อยติดอยู่ แยกได้เป็นหมวดหมู่ และง่ายต่อการนำไปใช้ซ้ำ และเป็นไปตามมาตรฐานหลักปฏิบัติในห้องผ่าตัดทุกแห่งภายใน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พยาบาลจะต้องนับเข็มถึง 3 รอบก่อนเย็บปิดแผลผ่าตัด

          และจากการทดลองใช้นวัตกรรม “กล่องพักและนับเข็มผ่าตัด” เพื่อทดสอบประสิทธิภาพ พบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ สามารถลดเวลานับเข็มผ่าตัดลงได้ถึง 95% อัตราพยาบาลถูกเข็มทิ่มตำมือ = 0% อัตราการมีเข็มผ่าตัดตกไปห้องผ้า = 0%

          ทุกวันนี้ พยาบาลเชี่ยวชาญ “คุณณิชา ปิยสุนทราวงษ์” ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพยาบาลห้องผ่าตัดศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีความภาคภูมิใจ ที่ได้ใช้ความรู้และประสบการณ์จากการทำงาน สร้างสรรค์นวัตกรรม “กล่องพักและนับเข็มผ่าตัด” เพื่อใช้ประโยชน์ และสามารถแก้ปัญหาในงานประจำได้ โดยไม่ต้องพึ่งพา AI

          อีกทั้งได้ตอบแทนคุณ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาการพยาบาล จนสามารถประสบความสำเร็จทางวิชาชีพการพยาบาลได้เช่นทุกวันนี้

          ผลงานนวัตกรรม “กล่องพักและนับเข็มผ่าตัด” ได้รับการยกย่องให้เป็นต้นแบบของการสร้างสรรค์นวัตกรรม จากปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำงานประจำ ซึ่งเป็นผลงานที่พิสูจน์แล้วว่าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง

          ยังมีอีกหลายนวัตกรรมที่รอคอยการค้นพบ มหาวิทยาลัยมหิดลหวังให้ตัวอย่างของการสร้างสรรค์ครั้งนี้ จุดประกายคนไทยให้สามารถก้าวข้ามผ่านอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น และลงมือทำด้วยความมุ่งมั่น เพื่อค้นหาทางออกได้ด้วยตัวเองเสียตั้งแต่วันนี้

          เพื่อร่วมทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ด้วยปัญญาที่สามารถใช้เพิ่มคุณค่าให้กับชีวิต สู่การเป็น “คนคุณภาพ” ที่จะเป็น “ปัจจัยล้ำค่า” ช่วยพัฒนาประเทศชาติได้อย่างยั่งยืนต่อไป

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author