ปลาไข่ใส่หอย

เรื่องโดย ชวลิต วิทยานนท์


ปลาไข่ใส่หอย Rhodeus ocellatus (Kner, 1866) ค้นพบโดยคุณกิตติพงศ์ ยอดคำ ในปี พ.ศ. 2559 ที่คลองชลประทานสาขาของแม่น้ำสาย ห่างจากตลาดแม่สาย จังหวัดเชียงราย ราว 2-3 กิโลเมตร และได้เอื้อเฟื้อตัวอย่างตัวเป็น ๆ 5 ตัว ส่งมาให้ผู้เขียนและทีมงานไว้สำหรับศึกษาในชั่วข้ามคืน

การพบครั้งนี้ถือเป็นปลาชนิดที่ 2,856 หรือปลาน้ำจืดชนิดที่ 839 ของไทยอย่างเป็นทางการ

ปลานี้มีขนาดประมาณ 5 เซนติเมตร อยู่ในวงศ์ Acheilognathidae (ปลาไข่หอย) ชื่อสามัญคือ bitterling พบทั้งหมด 6 สกุล มากกว่า 70 ชนิด พบมากชนิดในจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม และรัสเซียตะวันออกไกล (Russian Far East) พบน้อยในยุโรป

ตัวเมียมีอวัยวะวางไข่ (ovipositor) ไว้หยอดไข่ใส่หอยกาบน้ำจืดวงศ์ Unionidae ลูกปลาวัยอ่อนจะทำตัวคล้ายปรสิตในเหงือกหอย อาศัยอยู่จนเติบโตเป็นลูกปลา

ปลาไข่ใส่หอยชนิด Acheilognathus deignani (Smith, 1945) ที่มีรายงานครั้งแรกในเขตสยาม ตั้งชื่อบรรยายโดย ดร.ฮิวจ์ แมกคอร์มิก สมิท (Hugh McCormick Smith หรือ H. M. Smith) ในปี พ.ศ. 2488 (Freshwater Fishes of Siam or Thailand) ให้เป็นเกียรติแก่ เฮอร์เบิร์ต จี. เดกแนน (Herbert G. Deignan) นักปักษีวิทยาและภราดาแห่งโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ พบตัวแรกในแม่น้ำปุย สาขาแม่น้ำโขง มาจากบ้านน้ำปุย เมืองเพียง แขวงไชยบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ขณะนั้นยังเป็นเขตของสยามอยู่) ต่อมาอีกหลายปีก็พบตัวอย่างเพียงจากน่านน้ำของลาวตอนบน (Lower Lanchang Mekong Freshwater Ecoregion) และสันนิษฐานว่าน่าจะพบในไทย แต่ยังไม่มีตัวอย่างอ้างอิง

About Author