“ทุเรียนโมเดล” ชงการวิจัยใช้น้ำเพื่อการเกษตรอย่างเหมาะสมในพื้นที่ EEC

          การทำวิจัยเพื่อสร้างความสมดุลในการใช้น้ำในภาคการเกษตร นับเป็นความก้าวหน้าทางวิชาการที่น่าจับตา เพราะเป็นคำตอบใหญ่ของโจทย์การบริหารจัดการน้ำในอนาคต เพราะภาคการเกษตรเป็นภาคที่มีการใช้น้ำมากที่สุดแต่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจได้ไม่เท่าภาคอื่นๆ

            หากเจาะลงมาในพื้นที่เล็กลงบริเวณพื้นที่โครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หรือบริเวณ 3 จังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มีการประเมินว่าเมื่อพัฒนาโครงการอย่างเต็มรูปแบบในอีกเกือบ 20 ปีข้างหน้า หรือปี 2580 คาดการณ์ว่าจะมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี นั่นหมายความว่าอาจทำให้เกิดวิกฤติการณ์ขาดแคลนน้ำ และเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคการเกษตรได้ ดังนั้นหนึ่งในการวิจัยเพื่อการพัฒนาบริหารการจัดการน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนการบริหารจัดการน้ำ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จึงเป็นการศึกษาเรื่อง “ปริมาณความต้องการน้ำเพื่อการเกษตรภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเพื่อการรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับพฤติกรมการใช้น้ำ ให้มีการใช้น้ำลดลงลงอย่างน้อยร้อยละ 15 ในพื้นที่ EEC โดยเริ่มต้นจากการลดปริมาณการใช้น้ำในการปลูกทุเรียน ซึ่งเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจของจังหวัดใน EEC

            ทรงศักดิ์ ภัทราวุฒิชัย จากภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การทดลองนี้ถือเป็นครั้งแรกของการพิสูจน์ว่าทุเรียนไม่ได้ต้องการน้ำปริมาณมาก การที่ให้น้ำในปริมาณที่พอดี ต้นทุเรียนจะยังคงให้ผลผลิตมีคุณภาพดังเดิม เพราะปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนส่วนใหญ่เชื่อว่าทุกเรียนต้องการน้ำมาก ยิ่งน้ำมากผลผลิตจะยิ่งมีคุณภาพ

            “จากการทำวิจัยที่สวนปฐพี ตำบลท่าพริก อำเมือง จังหวัดตราด โดยการใช้เครื่องมือ Sap flow ติดตั้งที่ลำต้นของทุเรียนเพื่อวัดการใช้น้ำผ่านท่อลำเลียงน้ำ (Xylem) โดยวัดค่าความต่างศักย์ไฟฟ้า เพื่อคำนวณอัตราการไหลของน้ำในลำต้นช่วงเวลาต่างๆ โดยจัดเก็บข้อมูลทุกสัปดาห์ ทำให้ได้ปริมาณความต้องการน้ำที่แท้จริงของต้นทุเรียน และข้อมูลช่วงเวลาที่ต้นทุเรียนต้องการน้ำ ทำให้สามารถลดปริมาณการใช้น้ำลงได้มากถึงร้อยละ 35-40 มากกว่าเป้าหมายที่โครงการตั้งไว้ จากข้อมูลดังกล่าวคณะวิจัยจึงเตรียมเผยแพร่ข้อค้นพบนี้เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรสวนทุเรียนในพื้นที่จังหวัดระยองต่อไป”

            บัญชา ขวัญยืน หัวหน้ากลุ่มแผนงานเพื่อการพัฒนาบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เสริมในเรื่องการสร้างความสมดุลในการใช้น้ำว่า จะต้องลดความต้องการใช้น้ำลงผ่านการปรับพฤติกรรมในการใช้น้ำ  โดยสิ่งหนึ่งที่จะสามารถเข้ามาช่วยพิสูจน์เรื่องนี้ในเชิงประจักษ์ได้ คือ การใช้เทคโนโลยีในการทำวิจัย โดยเริ่มจากพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ดีแต่ใช้น้ำในการปลูกมาก เมื่อสามารถพิสูจน์ได้ว่าการลดปริมาณน้ำลง จะยังคงได้คุณภาพของผลผลิตดังเดิม เพื่อให้เกษตรเชื่อถือและยินดีที่จะปรับเปลี่ยนปริมาณการใช้น้ำ โดยหลังจากการทำวิจัยต้นทุเรียนแล้ว ได้มีการตั้งเป้าหมายที่จะทำวิจัยต้นมังคุดเป็นลำดับต่อไป”​

            ที่ผ่านมา น้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่ถูกจัดสรรไว้สำหรับภาคการเกษตร แต่ต่อจากนี้น้ำจะต้องถูกจัดสรรไปใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค ภาคอุตสาหกรรม และภาคการบริการ ดังนั้นจะต้องบริหารการใช้น้ำให้สมดุลกับการดูแลรักษาระบบนิเวศด้วย 

 

รายละเอียดเพิ่มเติม >>  https://bit.ly/2BLaEaW

About Author