เมื่อพูดถึงการปลูกผักบนโต๊ะ เรามักจะนึกถึงการปลูกผักโดยไม่ใช้ดินหรือที่เรียกกันว่า ไฮโดรโพนิกส์ แต่ปัจจุบันการปลูกผักบนโต๊ะโดยใช้ดินเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น และหากจะปลูกผักบนโต๊ะต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง จะปลูกอะไร ต้องทำอย่างไร …ไปหาความรู้กัน!

รศ.ดร.บุญส่ง เอกพงษ์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้คร่ำหวอดการปลูกพืชไฮโดรโพนิกส์และการปลูกพืชในระบบโรงเรือน บอกว่า ปัจจุบันผู้คนให้ความสนใจการทำเกษตรมากขึ้น แต่หลายคนมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่และการจัดการดูแลแปลง “โต๊ะปลูกผัก” จึงเป็นทางเลือกหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากความนิยมปลูกพืชไฮโดรโพนิกส์ ซึ่งไม่ต้องใช้ดินและสามารถดัดแปลงโต๊ะปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่ แต่การปลูกพืชระบบนี้จะมีต้นทุนที่สูงกว่าปลูกบนดิน ต้องอาศัยความรู้และการดูแลเอาใจใส่อย่างดี

ด้วยความตั้งใจที่อยากให้ผู้สนใจการทำเกษตรแต่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ สามารถเข้าถึงการปลูกพืชโดยมีต้นทุนไม่สูง อาจารย์บุญส่งจึงได้ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชบนโต๊ะจากระบบไฮโดรโพนิกส์เป็นการปลูกพืชโดยใช้ดินแทน ซึ่งพบว่าการปลูกพืชผักบนโต๊ะนั้นดูแลจัดการแปลงง่าย ห่างไกลแมลงศัตรูพืช มีวัชพืชและโรคระบาดน้อย และที่สำคัญสามารถเก็บผลผลิตได้เร็วขึ้น 5-7 วันเมื่อเทียบกับการปลูกผักบนดิน

“การปลูกผักบนดินโดยเฉพาะในระบบผักอินทรีย์ แมลงและโรคบนดินจะเยอะ โดยเฉพาะหมัดกระโดด จากการทดลองปลูกผักบนโต๊ะที่มีความสูง 1 เมตรจากพื้นดิน ไม่พบแมลงชนิดนี้ เกษตรกรสามารถดูแลจัดการแปลงบนโต๊ะได้ง่าย ทั้งการเตรียมดิน รดน้ำ กำจัดวัชพืช และเก็บเกี่ยวโดยไม่ต้องนั่งหรือก้มตัว ซึ่งผักที่เหมาะสำหรับปลูกบนโต๊ะ คือ ผักใบเขตร้อน เช่น ผักสลัด ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง เป็นต้น”

ปัจจุบันมีโต๊ะปลูกผักหลากหลายรูปแบบทั้งขนาดและวัสดุโครงสร้างที่แตกต่างกัน ซึ่งโครงสร้างโต๊ะปลูกผักที่อาจารย์บุญส่งใช้นั้นคำนึงถึงการใช้งานและต้นทุนที่ต่ำ โดยมีขนาดกว้าง 1.20 เมตร เป็นระยะที่เกษตรกรเอื้อมมือจัดการแปลงปลูกได้สะดวก ยาว 6 เมตร เป็นความยาวของเหล็กกัลวาไนซ์ 1 เส้น โดยไม่ต้องตัด และสูง 1 เมตรจากพื้นดิน หรือระดับเอวของเกษตรกร

สำหรับวัสดุหลักของโต๊ะปลูกผักที่อาจารย์บุญส่งใช้ ประกอบด้วย เหล็กกัลวาไนซ์ชนิดคาดสีน้ำเงิน มีความหนาปานกลาง มุ้งไนล่อนชนิดสีฟ้าขนาด 16 ช่อง/ตารางนิ้ว สำหรับใส่ดิน ซึ่งมีราคาไม่สูง พลาสติกคลุมโรงเรือนเคลือบยูวี 7% ความหนา 150 ไมครอน และสแลนกันแสงแดด

“การปูมุ้งไนล่อนเพื่อใส่ดินปลูก ต้องดึงให้เสมอโดยให้ด้านข้างตั้งฉาก อาจใช้ไม้ช่วยดันให้ตั้งฉาก เมื่อใส่ดินแล้วจะมีตกท้องช้างบ้าง สามารถใช้ตาข่ายพลาสติกปูบนมุ้งก่อนใส่ดินได้ จะช่วยไม่ให้ตกท้องช้าง”

การปลูกพืชผักนั้น ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิตคือ ดิน ซึ่งจากการศึกษาของอาจารย์บุญส่งทำให้ได้สูตรการเตรียมดินที่มีคุณภาพ มีอินทรีย์วัตถุไม่ต่ำกว่า 30% และเกษตรกรสามารถทำได้เอง โดยประกอบด้วย ใบไม้ 50% มูลสัตว์ 30% รำ 10% แกลบเผา (แกลบดำ) 10% พด.1 จำนวน 1 ซอง และพด.3 จำนวน 1 ซอง

“ใบไม้แห้งหาได้ง่าย ใช้สะดวก ส่วนมูลสัตว์ควรใช้ขี้วัวหรือขี้หมู เนื่องจากไม่เค็มเหมือนขี้ไก่ พด.1 เป็นตัวย่อยสลาย ส่วนพด.3 ไตรโคเดอร์มาช่วยป้องกันโรคโคนเน่า นำส่วนผสมทั้งหมดคลุกเคล้าให้เข้ากัน หมักใส่ในกระสอบปุ๋ย มัดปากกระสอบ ทิ้งไว้ 1 เดือน โดยตั้งกระสอบปุ๋ยไว้ในที่ร่ม ไม่ควรวางซ้อน เพราะจะทำให้การย่อยสลายช้า ควรใช้กระสอบปุ๋ยแบบไม่เคลือบ และหมั่นตรวจสอบให้มีความชื้นในกระสอบ 60%”

นอกจากนี้อาจารย์บุญส่งยังได้ให้คำแนะนำสำหรับการเพาะกล้าและดูแลว่า วัสดุเพาะกล้าใช้มูลไส้เดือนดิน 2 ส่วน และขุยมะพร้าว/แกลบดำ 1 ส่วน ใช้ถาดเพาะกล้าขนาด 200 หลุม จะทำให้รากเต็มเร็ว และต้องรดน้ำสม่ำเสมอโดยเฉพาะช่วง 3 วันแรก เมื่อกล้าอายุ 2 สัปดาห์ หรือมีใบ 2-3 ใบ ให้ย้ายปลูกได้ โดยใส่ดินปลูกบนโต๊ะให้มีความสูง 15 ซม. ปลูกเป็นแถวตรง ระยะปลูก 20×20 ซม. ซึ่งง่ายสำหรับการดูแล รดน้ำวันละ 1-2 ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ให้ดินมีความชื้นตลอดเวลา สังเกตโดยกำดินและมีน้ำเล็ดออกมาเล็กน้อย ซึ่งจากสูตรดินดังกล่าวทำให้ไม่ต้องใส่ปุ๋ยเพิ่ม และเมื่อเก็บเกี่ยวแล้ว ก่อนย้ายกล้าใหม่ลงปลูก ควรเพิ่มดินปลูกใหม่อีก 20% โดยคลุกผสมกับดินเก่า หรือจะพักแปลงโดยเพิ่มดิน 20% และน้ำหมักชีวภาพ ตากดินทิ้งไว้ 2 สัปดาห์ แล้วจึงลงกล้ารอบใหม่ก็ได้เช่นกัน

การปลูกผักบนโต๊ะ (โดยใช้ดิน) จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่เอื้อความสะดวกในการปลูกผักให้ทั้งมือใหม่ที่อยากปลูกผัก แต่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ และมือเก๋าอย่างเกษตรกรที่ปลูกผักอยู่แล้วสามารถบริหารจัดการแปลงปลูกได้สะดวกขึ้น …มือใหม่หรือมือเก๋าอยากลองปลูกผักบนโต๊ะ ลงมือกันเลย!

# # #

ข้อมูลจาก รศ.ดร.บุญส่ง เอกพงษ์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
เรียบเรียงโดย ฝ่ายจัดการความรู้และสร้างความตระหนัก สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.)

ดาวน์โหลด แผ่นพับโรงเรือนปลูกพืชต้นทุนต่ำ 

ยกดินขึ้นโต๊ะ…แล้วมาปลูกผักกัน