“คิดอย่างเดียว ถ้าไปเป็นลูกจ้างเขา เหนื่อยก็เหนื่อยให้เขา ไม่ได้กลับบ้านซะที แต่ถ้าเราลองทำดู โครงการ 3 ปี ถ้าไม่ได้จริงๆ ค่อยว่ากัน” สุวิตรี แดนขนาน บอกไว้ในช่วงจบปีแรกที่เข้าร่วม “โครงการพัฒนาทักษะผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่ รุ่นที่ 1” ถึงวันนี้จบโครงการฯ แล้ว แต่ สุวิตรี ยังคงเดินบนเส้นทาง “ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์”

“กลับมาปีแรก ไฟแรง อยากหาลูกไล่ล่ะ” สุวิตรี ย้อนความถึงวันที่กลับมา “สร้างอาชีพ” ที่บ้านเกิด หลังจบการศึกษาจากสาขาพืชผัก คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และเพิ่มพูนทักษะการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่บริษัท สุพรีมโกลด์ จำกัด อีก 6 เดือนก่อนกลับมาผลิตเมล็ดพันธุ์มะระและถั่วฝักยาวส่งให้บริษัทฯ โดยมี วรนารี แดนขนาน พี่สาวที่เรียนจบด้านเกษตรและลาออกจากงานประจำมาร่วมด้วยช่วยกัน ด้วยมองว่า “ทำของตัวเอง เหนื่อยก็เป็นของเรา” 

“ตอนฝึกงานกับบริษัท เรียนรู้สบายๆ แต่กลับมาเจอของจริงที่บ้าน ต้องรับสภาพทุกอย่าง เป็นแรงงานด้วย เป็นคนดูด้วย ปีแรกยังไม่ท้อ ผลผลิตได้อยู่ พอเข้าปีสองผลผลิตตก มีท้อบ้าง คิดจะเลิกเหมือนกัน แต่ไม่อยากไปไหน อยากอยู่กับแม่”

ช่วงปีแรก สุวิตรี และพี่สาวทำเมล็ดพันธุ์มะระอินเดียและถั่วฝักยาวบนที่เช่า 2 ไร่ ผลผลิตรอบแรกเกือบ 2,000 ต้น รายได้กว่า 70,000 บาท สร้างรอยยิ้มให้ครอบครัวได้ไม่น้อย แต่หลังจากย้ายมาทำในพื้นที่ของตัวเอง 8 ไร่  ด้วยกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์และสภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้ สุวิตรี ต้องหาทางก้าวผ่านบททดสอบนี้

“เราต้องเลือกผลผลิตที่เหมาะกับเรา เพราะเรามีแรงงานไม่พอที่จะปลูกมะระ แม้ว่าราคาจะดีกว่าถั่วฝักยาว แต่ทำยาก ดูแลมาก ช่วงติดผลต้องระวังเรื่องแมลง ต้องห่อผล หาวิธีไม่ให้แมลงเจาะ ทั้งใช้ถุงใช้ขวดมาห่อ ใช้ฟีโรโมนหรือใช้กาวดักแมลงมาล่อ ส่วนถั่วฝักยาว ถ้าจ้างก็จ้างเฉพาะช่วงเก็บ อย่างอื่นเราดูแลได้หมด ได้ราคาน้อยกว่า แต่คิดแล้วสำหรับเรามันเหมาะ แม้ว่าจะเจอการพ่นยาจากแปลงอ้อยรอบๆ  ก็อาศัยวางแผนปลูกให้ไม่ชนกับช่วงที่เขาพ่นยา”

แม้การผลิตเมล็ดพันธุ์จะมีรายได้ที่มากกว่าการผลิตผลสด แต่กว่าจะได้เงินนั้นก็กินเวลานานกว่า ซึ่งเมล็ดพันธุ์บางประเภทจำเป็นต้องปลูกทดสอบคุณภาพก่อน สุวิตรี จึงต้องวางแผนการผลิตและบริหารจัดการแปลงเพื่อลดต้นทุนและหารายได้ให้ครอบครัว โดยแบ่งพื้นที่ปลูกผลสดและพืชผักสวนครัวปลอดสาร เช่น บวบ แตงกวา ส่วนการทำเมล็ดพันธุ์นั้น เนื่องจากมีค่าเฉลี่ยผลผลิตแต่ละต้นอยู่แล้ว ทำให้สามารถคำนวณได้ว่าจะต้องปลูกเท่าไหร่ เพื่อให้ได้รายได้ที่ต้องการ นอกจากนี้ สุวิตรี ยังมีโรงเรือนพลาสติกสำหรับปลูกพืชที่ช่วยเพิ่มรายได้จากการปลูกพืชที่มีราคาสูงในช่วงฤดูฝน เช่น หอมแบ่ง ผักชี และยังใช้โรงเรือนเป็นที่ตากเมล็ดพันธุ์ในช่วงฤดูฝนด้วย

“ปีแรกไฟแรง ปีสองใจแป่ว ปีที่สามต้องฮึดกลับมา เราเคยทำได้แล้ว ก็ต้องกลับมาทำได้อีก” เป็นความรู้สึกในช่วงที่ผ่านมาของ สุวิตรี แต่บนเส้นทางเดินที่ไม่เดียวดายนี้ เธอมีครอบครัวเป็นแรงพลังสำคัญ

“ให้เขาไปทำงานประจำ เขาก็ไม่ไป ผมก็ว่าจะลาออกมาช่วยเขาทำล่ะ”  บรรทิตย์ แดนขนาน พ่อของสุวิตรี เล่าด้วยรอยยิ้ม ซึ่งเขามองว่า เมื่อบวกลบคูณหารทุกอย่าง ทำเมล็ดพันธุ์ดีกว่าทำอ้อย อ้อยราคาไม่แน่นอน ทำอ้อย 10 ไร่ ได้ 3-4 หมื่นบาท ทำถั่วฝักยาวไร่สองไร่ยังพอเหลือ ใช้ระยะเวลาไม่นาน ปีหนึ่งทำได้ 3 รอบ ช่วยกันทำก็ได้อยู่

ขณะที่ ปฏิมา แดนขนาน ผู้เป็นแม่ เล่าว่า ชาวบ้านแถวนี้มาถามว่าลูกทำอะไร ก็บอกทำเมล็ดพันธุ์ส่งบริษัท บริษัทเอาไปส่งต่อต่างประเทศ ชาวบ้านก็ตื่นเต้น บางคนอยากทำ บ้างก็บอกว่ายาก บางคนเห็นถั่วฟักยาวยาวเป็นเมตร ก็อยากได้ไปขาย แต่เราก็บอกไม่ได้ มีข้อตกลงกับบริษัทไว้

เมื่อตัดสินใจก้าวเข้ามาในวงการผลิตเมล็ดพันธุ์แล้ว สุวิตรี วางแผนว่าจะผลิตเมล็ดพันธุ์ไปเรื่อยๆ หาลูกไร่ และผันตัวเองเป็นโบรกเกอร์ที่รับออเดอร์จากบริษัทเมล็ดพันธุ์มาส่งต่อให้ลูกไร่ ซึ่งช่วงที่ผ่านมา สุวิตรี มีโอกาสได้ลูกไร่ผลิตถั่วฝักยาว 4 รายจากเครือญาติ “อยากลองว่าเป็นอย่างไร คุ้มมั้ย ปรากฏว่าคนที่อยู่ใกล้เราที่สุด ได้ผลผลิตดีที่สุด เพราะเราไปดูแลได้ดีกว่า แต่ก็อยู่ที่ความสนใจและสภาพแวดล้อมของแต่ละคนด้วย” 

บทสรุปจากการทดลองครั้งนั้น ทำให้ สุวิตรี มองว่า ตัวเองยังต้องใช้เวลาและเพิ่มพูนประสบการณ์อีกมาก กว่าจะก้าวเป็นโบรกเกอร์ที่ให้คำปรึกษาได้ทุกเรื่อง หรือแม้จะมีบริษัทเมล็ดพันธุ์เป็นของตนเอง

“เจ้าของบริษัทหลายๆ คน ต้องใช้เวลาเกือบครึ่งชีวิตกว่าจะมีบริษัท ขอแค่ตอนนี้เรามีอาชีพและมีรายได้ที่จะเลี้ยงครอบครัว มีความมั่นคงได้ก่อนก็พอแล้ว รายได้ตอนนี้ได้มาก็เอาไปลงทุนต่อ เป็นการลงทุนระยะยาวกับอุปกรณ์และระบบต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยทำงานและลดต้นทุน เช่น ปั๊มน้ำ เสาปูนสำหรับทำค้างแทนไม้ไผ่ หรือวางระบบน้ำที่จะช่วยประหยัดเวลาและแรงงาน”

ทุกวันนี้ สุวิตรี ยังคงผลิตเมล็ดพันธุ์ส่งให้บริษัท โดยยึดมั่น “ความซื่อสัตย์และเอาใจใส่การผลิต” เป็นหัวใจสำคัญของอาชีพนี้ และเธอยังให้ความรู้เรื่องเมล็ดพันธุ์กับชุมชน โดยเฉพาะกับเด็กนักเรียนเพื่อให้เห็นความสำคัญของเมล็ดพันธุ์และการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง

หากเป้าหมายของ “โครงการพัฒนาทักษะผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่” ต้องการสร้างอาชีพและการกลับคืนถิ่นของคนรุ่นใหม่แล้ว สุวิตรี เป็นผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์ของโครงการฯ ดังที่เธอบอกว่า ได้อาชีพ ได้รายได้ ได้กลับบ้าน และได้เครือข่ายความรู้

# # #

หนังสือ วิทย์พลิกชีวิต: เติมด้วยใจ ความรู้ เทคโนโลยี

“ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่” กลับบ้าน สร้างอาชีพ มีรายได้