ในภาวะวิกฤติราคาน้ำยางตกต่ำ อนันต์ จันทร์รัตน์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา จำกัด หนึ่งในเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราที่ต้องการแก้ปัญหาราคาน้ำยางเช่นกัน ด้วยวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลและความมุ่งมั่น จึงเกิดเป็นธุรกิจแปรรูปน้ำยางพาราในระดับชุมชนแห่งแรกที่สามารถผลิตหมอนยางได้เองทุกกระบวนการ ตั้งแต่การรับน้ำยางสดจากสมาชิกไปจนถึงการผลิตเพื่อจำหน่าย พึ่งพาตัวเองและแก้ไขปัญหาราคาน้ำยางได้อย่างยั่งยืน

ย้อนหลังไปเมื่อปี 2557 อนันต์ เป็นผู้ช่วยผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรพนมวังก์ จำกัด เขามีแนวคิดผลิตหมอนยางพาราเพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำยางสด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคุณชาย คงแก้ว ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ดำเนินการของบประมาณตามยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ปี 2558 (โครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางพารา) จัดตั้งโรงงานผลิตหมอนและที่นอนยางพาราเพื่อสุขภาพ

“โครงการที่ไม่มีวันเป็นไปได้ ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เกษตรกรไม่มีทางทำได้” คือคำสบประมาทที่ได้ยินจนชินหู แต่กลับเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ อนันต์ เดินหน้าแก้ไขปัญหาราคาน้ำยางตามแนวคิดที่ตนเองมองแล้วว่า “เป็นไปได้”

หนทางความฝันของเขาเริ่มชัดเจนขึ้น แต่กลับไม่ได้รับการตอบรับจากชุมชนให้จัดตั้งโรงงานผลิตหมอนยางพาราตามโครงการ อนันต์ นำความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมาพร้อมโครงการกลับสู่บ้านเกิดที่ตำบลแพรกหา อ.ควนขนุน จ.พัทลุง หารือผู้นำท้องถิ่นและชุมชนถึงโครงการที่ได้มา จนได้รับการยอมรับ และนำมาสู่การจัดตั้ง สหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา จำกัด เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2558 มีสมาชิกจัดตั้งจำนวน 50 คน เริ่มผลิตหมอนยางพาราเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2560 และในกลางปีเดียวกันนี้ สหกรณ์ฯ สามารถผลิตน้ำยางข้นได้เอง รวมทั้งรับซื้อน้ำยางจากสมาชิกได้เป็นครั้งแรก

แม้การจัดตั้งโรงงานผลิตหมอนยางพาราจะดำเนินไปด้วยดี แต่การผลิตหมอนยางพาราระดับชุมชนมักประสบข้อจำกัดเรื่อง 1) วัตถุดิบ เช่น สารเคมี น้ำยางข้น มีราคาแพง ไม่สามารถต่อรองกับผู้ขายได้ 2) ความชำนาญของผู้ผลิตในกระบวนการต่างๆ 3) เครื่องจักรอุปกรณ์ เช่น แม่พิมพ์หมอน ตู้นึ่ง เตาอบ 4) การหาลูกค้า 5) เงินลงทุน และ 6) องค์ความรู้ ซึ่ง อนันต์ และสมาชิกสหกรณ์ก็ประสบปัญหาเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

“ได้เครื่องจักรแล้วก็ทำไม่เป็น เพราะไม่มีความรู้เลย จะหาหน่วยงานไหนก็ไม่มีใครมาสอน” อนันต์ เล่าถึงปัญหาที่เขาประสบในช่วงแรกของการตั้งโรงงาน แต่พวกเขาไม่ย่อท้อ ต่างเรียนรู้และหาทางก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ความรู้การใช้เครื่องจักร การบริหารจัดการต้นทุนการผลิตทั้งค่าไฟและค่าแรง การหาตลาด รวมถึงยกระดับมาตรฐานการผลิต

กระบวนการผลิตหมอนยางพาราเริ่มจากกรีดน้ำยางสดมาปั่นให้ได้น้ำยางข้น หลังจากนั้นจึงตีน้ำยางข้นให้เกิดฟอง นำมาฉีดลงแม่พิมพ์หมอน และนำไปนึ่งเพื่อให้หมอนยางคงรูป จากนั้นเข้าสู่กระบวนการล้างและอบไล่ความชื้น ได้เป็น “หมอนยางพารา” ที่พร้อมจำหน่าย แต่ขั้นตอน “การผลิตน้ำยางข้น” ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

แม้ว่าสหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหาจะมีเครื่องจักรที่สามารถผลิตน้ำยางข้นเองได้ ซึ่งต่างจากชุมชนอื่นๆ ที่ต้องซื้อน้ำยางข้นจากบริษัทเอกชน แต่การผลิตน้ำยางข้นให้ได้คุณภาพดีต้องใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และความเชี่ยวชาญสูง ที่ผ่านมาสหกรณ์ฯ เคยส่งเจ้าหน้าที่เข้าอบรมหลักสูตรการผลิตน้ำยางข้นจากสถาบันต่างๆ แต่ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเครื่องจักรที่โรงงานมีอยู่ได้ จนเมื่อได้รับการประสานจาก สวทช. นำนักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ลงพื้นที่สอนการผลิตน้ำยางข้นให้เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ฯ อย่างใกล้ชิด ปรับกระบวนการให้เหมาะสมกับเครื่องจักรและวัตถุดิบที่สหกรณ์ฯ มีอยู่

“จุดเปลี่ยนสำคัญของสหกรณ์ฯ คือมีโอกาสได้พบกับ สวทช. และสอนให้สหกรณ์สามารถผลิตน้ำยางข้นเองได้จริง ทำให้เราควบคุมคุณภาพน้ำยางข้นที่นำมาผลิตหมอนยางได้ ลดการพึ่งพาน้ำยางข้นจากบริษัทเอกชน แก้ปัญหาราคาน้ำยางสดให้สมาชิกสหกรณ์ฯ”  อนันต์ บอกถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากได้รับการถ่ายทอดความรู้จากทีมวิจัย สวทช. และยังขยายผลต่อไปถึงการร่วมกันพัฒนาสูตรน้ำยางข้นที่มีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะ มีความนุ่ม หอม และลดระยะเวลาการผลิตลงได้มาก

ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของสมาชิกสหกรณ์และวิสัยทัศน์ของผู้นำอย่าง อนันต์ ผสานกับองค์ความรู้การผลิตน้ำยางข้นที่ สวทช. ได้ถ่ายทอดให้กับสหกรณ์ฯ ปัจจุบันสหกรณ์ฯ มีสินค้าจำหน่ายที่ไม่จำกัดเพียงแค่หมอนยางพาราเท่านั้น หากยังได้พัฒนาสินค้าอื่นๆ อีก เช่น หมอนข้าง หมอนเด็ก ที่นอนจากเศษยางพาราอัด เบาะรองนั่งจากวัสดุสูญเสียในการผลิต สร้างผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ไม่ว่าจะเป็นลดต้นทุนการผลิตจากการซื้อน้ำยางข้นได้ประมาณเดือนละ 4–5 แสนบาท กำหนดราคารับซื้อน้ำยางสดได้เอง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของสมาชิกเป็นสำคัญ ควบคุมคุณภาพการผลิตได้เองจากน้ำยางข้นที่มีคุณภาพ ตลอดจนใช้น้ำยางสดที่ปลูกขึ้นโดยสมาชิกสหกรณ์ฯ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกร

ความสุขบนความเหนื่อยยากของ อนันต์ คือ ได้เห็นน้ำยางสดจากสมาชิกผลิตเป็นหมอนยางพาราและยังสร้างรายได้ให้กับชุมชนบ้านเกิดได้จริง

ปัจจุบันสินค้าทุกชิ้นภายใต้ตราสินค้า Talung Latex ของสหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา ล้วนมาจากน้ำยางสดของสมาชิกสหกรณ์ มียอดจำหน่ายกว่า 1 ล้านบาทต่อเดือน นอกจากรายได้จากการจำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งหน้าร้านที่ปั๊มน้ำมัน ขายผ่านออนไลน์ และงานแสดงสินค้าแล้ว สหกรณ์ฯ ยังรับผลิตหมอนยางพาราให้ลูกค้าที่ต้องการส่งออกต่างประเทศด้วย

# # #

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมสนับสนุนองค์ความรู้การผลิตน้ำยางข้นให้สหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา จำกัด เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMAEs สามารถยกระดับผลิตภัณฑ์ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และพึ่งพาตัวเองอย่างยั่งยืน

หนังสือ วิทย์พลิกชีวิต: เติมด้วยใจ ความรู้ เทคโนโลยี

หมอนยางพาราบ้านแพรกหา ต้นแบบการแก้ปัญหาราคาน้ำยาง ด้วยการพึ่งพาตัวเอง